ไม่พบผลการค้นหา
กสทช.มั่นใจคลื่น 2600 MHz กับ 700 MHz ทำ 5G ขายได้หมด เชื่อเงื่อนไข-ราคาจูงใจ ส่วนคลื่น 3400 MHz รอกรรมการขับเคลื่อน 5G ชี้ขาด

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงการเตรียมจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี 5G ว่า คาดว่าจะขายได้หมดในส่วนของคลื่น 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ และ 26 กิกะเฮิร์ตซ์ ส่วนคลื่นย่าน 700 เมกะเฮิร์ตซ์ และ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ ยังไม่ทราบว่าโอเปอเรเตอร์อยากจะได้เพิ่มมากแค่ไหน โดยหากสามารถมีผู้ประมูลได้ครบน่าจะทำรายได้เข้ารัฐได้ไม่น้อยกว่า 43,478 ล้านบาท ส่วนที่ห่วงกันว่าจะมีการปั่นราคา ตนคิดว่าอย่าเพิ่งไปมองว่าจะเป็นอย่างนั้นเพราะจะเป็นการกีดกันไม่ให้รายอื่นเข้าประมูล

"การกำหนดราคาที่เกิดขึ้นนำมาจากการให้สถาบันการศึกษาไปทำการศึกษามาโดยราคาที่กำหนดให้น้ำหนักกับผลการศึกษาของทุกฝ่าย ดังนั้นการกำหนดราคาคลื่นความถี่และเงื่อนไขการไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียม 3 ปี ถือเป็นเงื่อนไขที่เหมาะสม กสทช.เชื่อว่าด้วยเงื่อนไขนี้น่าจะมีผู้ให้บริการที่จะเข้าประมูล" นายฐากร กล่าว

สำหรับแนวคิดที่จะนำคลื่นความถี่ย่าน 3400-3700 เมกะเฮิร์ตซ์เข้ามาประมูลเพื่อทำ 5G จากการหารือกับนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมกรรมการขับเคลื่อน 5G ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยหากนำมาประมูลได้ทันก็เป็นเรื่องดี

อย่างไรก็ดี จะต้องมีการเยียวยาให้บริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) ที่จะย้ายไปใช้คลื่น 4200 – 4400 เมกะเฮิร์ตซ์ (ใช้เงินจากการประมูลคลื่น 3400-3700 เมกะเฮิร์ตซ์ มาจ่ายชดเชยประมาณ 1,000 ล้านบาท ) และต้องมีการเยียวยาประชาชนผู้ใช้บริการดาวเทียมด้วย โดยหากนำคลื่นมาประมูลจะประมูลเพิ่มเติมภายหลังการประมูลคลื่น 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ และ 26 กิกะเฮิร์ตซ์ แล้ว

ส่วนความคืบหน้าในการตั้งกรรมการขับเคลื่อน 5G กสทช.เตรียมเสนอรายชื่อกับคณะกรรมการ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เบื้องต้นมีการเสนอตัวแทนภาครัฐและเอกชนประมาณ 20 กว่าคน โดยเป็นตัวแทนหน่วยงานของรัฐและเอกชนซึ่งน่าจะมีตัวแทนจากผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม คือ เอไอเอส ,ทรูมูฟ ,ดีแทค ,ทีโอที, กสท. โทรคมนาคม ,สภาพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศษฐกิจและสังคม, สภาอุตสาหกรรม ฯลฯ

สำหรับการเยียวกยาการเรียกคืนคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ ให้บริษัทอสมท. จำกัด (มหาชน) สำนักงาน กสทช.ได้ส่งเรื่องให้อนุกรรมการเยียวยาพิจารณา 

พร้อมกันนี้ ยังระบุถึงกำหนดการทำงาน 5G โดยกรอบการทำงาน จะเริ่มวันที่ 6 พ.ย. 2562 เป็นวันเสนอร่างประกาศต่อคณะกรรมการกลั่นกรองงาน วันที่ 12 พ.ย. 2562 นำเข้าที่ประชุม กสทช. เพื่อนำร่างไปเปิดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 13 พ.ย.-12 ธ.ค. 2562 ส่วนวันที่ 27 ธ.ค. 2562 จะประกาศลงราชกิจจานุเบกษา จากนั้นวันที่ 2 ม.ค. 2563 จะประกาศเชิญชวนเอกชนรับซอง และวันที่ 16 ก.พ. 2563 จะจัดประมูลคลื่นความถี่ และออกใบอนุญาตปลายเดือน ก.พ. 2563 และคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในเดือน ก.ค. 2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :