นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า หลังจาก ธปท. ออกหลักเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV (Loan to Value) มีผลบังคับใช้ครั้งแรกเมื่อ 1 เม.ย.2562 และได้ปรับปรุงเกณฑ์เพื่อให้เกิดความเหมาะสมเมื่อเดือน ส.ค. 2562 เพื่อปลดล็อกกรณีผู้กู้ร่วม ล่าสุดในการประชุมร่วมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ได้พิจารณาให้ปรับปรุงเกณฑ์ของมาตรการดังกล่าวอีกครั้ง
ด้วยเป้าหมายต้องการให้ประชาชนที่ต้องการมีบ้านจริงๆ ได้มีบ้านในราคาที่เหมาะสม ส่วนผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุนสามารถประเมินความเสี่ยงได้ ประกอบกับสัญญาณการเก็งกำไรลดลงมาบ้าง หลังจากออกมาตรการ LTV เมื่อปีที่ผ่านมา จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์อีกครั้งโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. 2562 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
กรณีขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยสัญญาแรก (บ้านหลังแรก) ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ยังคงเพดาน LTV 100 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ต้องวางเงินดาวน์ แต่ผู้กู้สามารถกู้เพิ่มได้อีกร้อยละ 10 ของมูลค่าหลักประกัน สำหรับเป็นการกู้เพื่อตกแต่งซ่อมแซมบ้าน หรือซื้อเฟอร์นิเจอร์ โดยเมื่อเงินกู้ส่วนนี้เป็นหนี้ที่มีบ้านเป็นหลักประกัน จะมีผลให้ดอกเบี้ยต่ำกว่ากู้สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งหมายถึง ผู้กู้สามารถกู้สินเชื่อบ้านได้เต็มจำนวนมูลค่าหลักทรัพย์และมีเงินเพิ่มอีกร้อยละ 10 ของมูลค่าหลักประกัน
กรณีบ้านหลังแรก ราคาสูงกว่า 10 ล้านบาท ปรับเกณฑ์ LTV จากร้อยละ 80 เป็นร้อยละ 90 หรือจากต้องวางเงินดาวน์ร้อยละ 20 เหลือเพียงร้อยละ 10 ของมูลค่าหลักประกัน
กรณีบ้านหลังที่ 2 หรือ สัญญาที่ 2 ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท และผ่อนชำระบ้านหลังแรกมาแล้วอย่างน้อย 2 ปี มี LTV ร้อยละ 90 หรือ วางดาวน์ร้อยละ 10 เท่านั้น จากเดิมต้องผ่อนชำระบ้านหลังแรกหรือสัญญาที่ 1 มานานกว่า 3 ปีแล้ว ขณะที่บ้านสัญญาที่ 2 ที่ราคาสูงกว่า 10 ล้านบาท ยังต้องวางเงินดาวน์ร้อยละ 20 เช่นเดิม
กรณีบ้านหลังที่ 3 ขึ้นไป หรือ สัญญาที่ 3 ขึ้นไป ไม่ว่าจะราคาระดับใด จะมี LTV ร้อยละ 70 หรือ วางเงินดาวน์ร้อยละ 30
อีกทั้งครั้งนี้ ยังได้ปรับเกณฑ์ควบคุมความเสี่ยงด้วยการให้สถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อปรับเงินกองทุนที่ต้องดำรงสำหรับการกู้ซื้อบ้านหลังแรกที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท และการกู้สร้างบ้านบนที่ดินปลอดภาระ เพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้กู้ซื้อบ้านหลังแรกราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาทได้มีกำลังปล่อยกู้ได้มากขึ้น หรือ มีต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ส่งผ่านไปยังดอกเบี้ยเงินกู้บ้านที่ลดลงได้ด้วย
"ที่ผ่านมา เห็นว่า หลังออกมาตรการ คนต้องการมีบ้านก็สามารถมีบ้านในราคาเหมาะสมได้ และจะไม่เป็นภาระของคนอยากมีบ้านในระยะยาว และคิดว่า การผ่อนเกณฑ์ที่ออกมาครั้งนี้ ไม่ได้ทำช้าไป" นายรณดล กล่าว
ด้านนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องออกมาตรการ LTV เพราะเห็นสัญญาณคงค้างของอสังหาฯ ตั้งแต่ปลายปี 2561 โดยความต้องการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของครัวเรือน และยังเห็นตัวเลขการผิดนัดชำระหนี้จากกลุ่มผู้กู้บ้านหลายสัญญาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนที่อยู่อาศัยเหลือขายมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากผู้ประกอบการเปิดขายโครงการใหม่มากเกินกว่าความต้องการซื้อที่แท้จริง ประกอบกับการกระตุ้นการขายเพิ่มลงทุน ส่วนสถาบันการเงินแข่งขันปล่อยสินเชื่อบ้าน โดยยอมรับความเสี่ยงมากขึ้นและมีลักษณะหย่อนยานมาตรฐาน จนนำไปสู่ 'สินเชื่อเงินทอน' ที่สูงถึง 1 ใน 4 ของสินเชื่อปล่อยใหม่
อย่างไรก็ตาม หลังมีมาตรการ LTV ธปท. พบว่า ใน 11 เดือนแรกของปี 2562 สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ ยังขยายตัวร้อยละ 10.8 ขณะที่สินเชื่อบ้าน (ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ไม่รวม ธอส.) ในช่วงเวลาเดียวกัน มีการขยายตัวของสินเชื่อบ้านหลังแรกร้อยละ 5.6 ขณะที่สินเชื่อบ้านหลังที่สองขึ้นไปลดลงร้อยละ 20.4
"มาตรการ LTV ที่ประกาศออกมา ยืนยันได้ว่า คนซื้อบ้านสัญญาแรก แทบไม่ได้รับผลกระทบ และเมื่อดูดัชนีราคาที่อยู่อาศัยจากที่เคยเร่งตัวขึ้นค่อนข้างเร็วในช่วงก่อนหน้า พอมาตรการออกมาก็ยังปรับเพิ่มขึ้น แต่ในอัตราที่ช้าลง" นายสักกะภพ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :