กุหลาบวาเลนไทน์มักราคาแพงขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นกับบ้านเราเท่านั้น และกุหลาบมักถูกปลูกและดูแลโดยแรงงานในพื้นที่ที่ค่าแรงต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับปลายทางที่กุหลาบเหล่านี้ถูกขายออกไป เช่น ในเมืองไทย ดอกกุหลาบอาจจะถูกปลูก รดน้ำ และตัดกิ่งจากชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อมาขายที่ปากคลองตลาด
โคลอมเบีย เป็นประเทศที่ปลูกกุหลาบและดอกไม้เพื่อส่งออกใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก โดยปลายทางหลักของความงามที่บอบบางนั้นคือสหรัฐอเมริกา
ในปี 2016 โคลอมเบียส่งออกดอกไม้สำหรับวันวาเลนไทน์ไปยังทวีปอเมริกาเหนือถึง 500 ล้านดอก และคิดเป็นมูลค่าสูงเกินกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตลาดใหญ่สุดก็คิอสหรัฐอเมริกา คิดเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ของตัวเลขส่งออกทั้งหมด
ดอกไม้ที่โคลอมเบียส่งออกนั้นมีกว่า 50 ชนิด แต่ที่เป็นนางเอกแห่งการส่งออกก็หนีไม่พ้นดอกกุหลาบ ตามมาด้วยคาร์เนชั่น และดอกเบญจมาศ
ปีนี้ ดอกไม้ปริมาณมากจะต้องถูกตัด คัดคุณภาพ บรรจุหีบห่อ และส่งออกให้ทันวันวาเลนไทน์ ซึ่งความต้องการของตลาดพุ่งขึ้นสูงเป็น 74 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกทั้งหมด แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจึงเป็นสิ่งที่โคลอมเบียต้องการในช่วงเวลานี้ ซึ่งแรงงานหลักก็มาจากประเทศเวเนซุเอลานั่นเอง
ถ้าโคลอมเบียเป็นประเทศที่ส่งออกดอกไม้ตัดแต่งเป็นอันดับสองของโลก แล้วประเทศไหนคือประเทศอันดับหนึ่ง? คำตอบก็คือ เนเธอร์แลนด์ ประเทศที่ดำรงสถานะเป็นศูนย์กลางส่งออกดอกไม้ของยุโรปมาอย่างยาวนาน มูลค่าส่งออกดอกไม้สูงถึง 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2016
ข้อมูลจาก Rabobank ระบุว่า ในปี 2016 ดอกไม้ส่งออกจากเนเธอแลนด์คิดเป็น 52 เปอร์เซ็นต์ของตลาดโลก ตามมาด้วยโคลอมเบีย ในสัดส่วน 15 เปอร์เซ็นต์ เอกวาดอร์ 9 เปอร์เซ็นต์ เคนยา 7 เปอร์เซ็นต์ และเบลเยียม 3 เปอร์เซ็นต์
เพื่อนบ้านเรา ติดท็อปเทน 1 ประเทศ คือ มาเลเซีย มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ โดยดอกไม้ที่ส่งออกก็คือดอกไม้พื้นถิ่น และกล้วยไม้
สำหรับประเทศไทย ตัวเลขจากสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจดอกไม้ส่งออกหลักคือกล้วยไม้นั้นยังคงเติบโตต่อเนื่องอย่างเนิบๆ จากปี 2559 มูลค่าส่งออกรวมประมาณ 1,900 ล้านบาท ในปี 2560 มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 2,228 ล้านบาท โดยตลาดใหญ่ที่สุดของกล้วยไม้ไทย คือ กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ตามมาด้วยญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปตามลำดับ
ภาพบน: เคนยา ซึ่งเป็นประเทศส่งออกดอกไม้มากเป็นอันดับ 4 ของโลก ส่งออกดอกไม้ไปยังประเทศยุโรปเริ่มมีการขยับเรื่องของคุณภาพชีวิตแรงงานในสวนดอกไม้แล้ว ในปี 2015 มีการรณรงค์เรื่องดอกกุหลาบวาเลนไทน์ที่เป็นธรรม ซึ่งหมายถึง กุหลาบที่ปลูกและดูแลภายใต้เงื่อนไขคุณภาพชีวิตแรงงานที่ดี
ส่วนภาพสุดท้ายนี้เป็นของแถม เป็นภาพคนขายดอกไม้ในอินเดีย ซึ่งตลาดดอกไม้เริ่มคึกคักมาตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. ล่วงหน้าวาเลนไทน์ 1 สัปดาห์