ไม่พบผลการค้นหา
เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่อายุน้อยที่สุดในโลก เดินทางกลับประเทศบ้านเกิดท่ามกลางการอารักขาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพราะกลุ่มติดอาวุธตอลิบานยังมีอิทธิพลอยู่หลายพื้นที่ในปากีสถาน

มาลาลา ยูซาฟไซ นักต่อสู้เพื่อสิทธิด้านการศึกษาของเด็กและผู้หญิงชาวปากีสถาน วัย 20 ปี เดินทางจากอังกฤษไปถึงสนามบินนานาชาติกรุงอิสลามาบัด เมืองหลวงของปากีสถาน วันนี้ (29 มี.ค.) โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยระดับประเทศเป็นผู้ต้อนรับมาลาลาและครอบครัว

สำนักข่าวหลายแห่งรายงานว่า มาลาลาจะอยู่ที่ปากีสถาน 4 วัน และจะพบกับนายชาฮิด คากัน อับบาซี นายกรัฐมนตรีปากีสถาน แต่ไม่มีการเปิดเผยกำหนดการที่ชัดเจน ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย ทั้งยังไม่อาจระบุได้ว่ามาลาลาจะไปเยือนบ้านเกิดของเธอที่หุบเขาสวัตในจังหวัดไคเบอร์ปักตุนควาหรือไม่

การเยือนปากีสถานของมาลาลาและครอบครัวเป็นการกลับประเทศครั้งแรกในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่มาลาลาถูกมือปืนของกลุ่มตอลิบานยิงศีรษะเมื่อเดือน ต.ค.2555 และถูกนำตัวส่งไปรักษาพยาบาลที่อังกฤษ

เหตุยิงมาลาลากลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก เนื่องจากขณะนั้นเธอมีอายุเพียง 14 ปี ทำให้สหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งพร้อมใจออกแถลงการณ์ประณามกลุ่มตอลิบานในปากีสถาน ซึ่งก่อเหตุโดยอ้างว่า มาลาลามีความผิดในฐานะผู้เผยแพร่แนวความคิดตะวันตกซึ่งเป็นภัยต่อหลักศาสนา 

หลังจากรักษาตัวจนหายดี มาลาลาและครอบครัวได้รับสิทธิพำนักที่อังกฤษ จนกระทั่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2557 ซึ่งขณะนั้นเธอมีอายุได้ 17 ปี และกลายเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลอายุน้อยที่สุดในโลก 

มาลาลาได้รับการสนับสนุนจากเซียอุดดิน ยูซาฟไซ ผู้เป็นบิดา ให้เขียนบทความบอกเล่าความยากลำบากของเด็กผู้หญิงปากีสถานที่ถูกกีดกันด้านการศึกษา เพื่อนำไปเผยแพร่ผ่านสำนักข่าวบีบีซี ภาคภาษาอูรดู ตั้งแต่มีอายุประมาณ 12 ปี ทำให้มาลาลาเคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อโอกาสเข้าถึงการศึกษาของเด็กผู้หญิงมาโดยตลอด 

ปัจจุบัน มาลาลาและครอบครัวได้รับสัญชาติแคนาดาอย่างเป็นทางการแล้ว แต่เธอยังพำนักอยู่ที่อังกฤษเพื่อศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ซึ่งเธอได้รับทุนการศึกษาต่อเนื่อง

ขณะที่การเดินทางเยือนปากีสถานครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้างจากกลุ่มตอลิบานที่ยังคงมีอิทธิพลในหลายพื้นที่ และกลุ่มชาวปากีสถานเคร่งศาสนา เนื่องจากภาพขณะที่มาลาลาสวมใส่กางเกงและรองเท้าส้นสูงไปเรียนที่อ็อกซ์ฟอร์ดถูกเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์อยู่ช่วงหนึ่ง ทำให้เธอถูกโจมตีว่าแต่งกายไม่เหมาะสม แต่ก็มีผู้ใช้สื่อออนไลน์จำนวนมากชี้ว่า เครื่องแต่งกายของมาลาลาเป็นชุดปกติในสังคมตะวันตก

มาลาลาไม่เพียงแต่แสดงความคิดเห็นด้านการศึกษาของเด็กและสตรีเท่านั้น ที่ผ่านมาเธอยังเคยวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำรัฐบาลเผด็จการทั่วโลกที่กดขี่ประชาชนของตัวเอง รวมถึงเรียกร้องให้นางอองซานซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐเมียนมา และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอีกคนหนึ่ง ตระหนักและหาทางแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญาด้วย

ที่มา: BBC/ The Guardian/The News (Pakistan)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: