ไม่พบผลการค้นหา
ธนพันธ์ วงศ์ชินศรี กรำศึกโควิด-19 ในฐานะเจ้าของ Penguin Eat Shabu แม้จะวางแผนและปรับตัวล่วงหน้า แต่ก็ไม่ทันที่จะต้องปลดพนักงานและอนุมัติลาโดยไม่รับเงินเดือน ชี้มาตรการรัฐไม่ชัด ทำเลือดไหลไม่หยุด

Penguin Eat Shabu–เพนกวินกินชาบู เป็นร้านอาหารที่สร้างชื่อและประสบความสำเร็จไม่น้อยภายในระยะเวลาแค่ 6 ปี โดยขยายสาขาไปถึง 9 สาขา รวมถึงเคยสร้างปรากฏการณ์ในวันหยุดต้องโทรจองล่วงหน้าถึง 7 วัน

อย่างไรก็ตามเส้นทางที่กำลังราบรื่น ยอดขายหลักแสน หลักล้านมีอันต้องสะดุด เพราะการเข้ามาของ ‘โควิด-19’ โรคระบาดที่ไม่ปราณีใครในโลก ตั้งแต่ผู้บริโภค ลูกจ้าง กระทั่งเจ้าของกิจการ

“ปกติใครมาสัมภาษณ์ ผมจะเลี้ยงชาบู แต่วันนี้ไม่มีปัญญาครับ” ต้น-ธนพันธ์ วงศ์ชินศรี ผู้ก่อตั้ง Penguin Eat Shabu ส่ายหัวและยิ้มเบาๆ สะท้อนสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ภายในร้าน ‘สาขาสะพานควาย’ อันเงียบสงบ


ปรับตัวแล้วแต่ไม่ทัน-ไม่พอ

แม้จะเริ่มปรับตัวและวางแผนจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซามาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 หรือปลายปี 2562 รวมถึงข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน เมื่อปลายเดือน ม.ค.แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ 

ธนพันธ์ เล่าว่า มีการพูดคุยคาดการณ์กันในทีมบริหารแล้วว่า ในที่สุดโควิด-19 จะแพร่ระบาดในไทย ขอให้ปรับระบบการทำงาน บริหารค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม คำนวณต้นทุนเป็นรายวันเพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น 

กระทั่งในช่วงเดือน ก.พ. ทีมงานเห็นว่าโควิด-19 กระจายไปหลายประเทศทั่วโลก เริ่มมีผลกระทบต่อไทย ยอดขายทางร้านเริ่มตก จึงตัดสินใจจำกัดต้นทุน ลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด

เมื่อไม่สามารถรักษากำไรได้เท่าเดิมอีกแล้ว ผู้บริหารเลยตัดสินใจบอกกับพนักงานทุกคนว่า “จะไม่รับเงินเดือน 3 เดือน” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ทีมงานรับรู้ว่า ทุกคนต้องรีบปรับตัว บริหารบัญชีเพื่อลดค่าใช้จ่าย เพราะวิกฤตกำลังจะมา 

กลางเดือน ก.พ. เพนกวิน อีท ชาบู สาขาสีลม ซึ่งทำกำไรน้อยที่สุดปิดตัวลง เพื่อรักษาสภาพคล่องให้ธุรกิจ ขณะที่ทีมผู้บริหารเริ่มกักตุนข้าวสารอาหารสำเร็จรูปจำนวนมากเพื่อรับมือกับความอยู่รอดของพนักงานราว 200 คน  

“เราต้องทำให้พนักงานกว่า 200 คนพร้อมรับกับวิกฤต คุณรายได้ลด คุณไม่มีรายได้ คุณกลับบ้านไม่ได้ เราต้องการันตีให้ได้ว่า 3 เดือนคุณจะมีข้าวกิน มีที่พัก มีของใช้”

ต้นเดือน มี.ค. เพนกวิน อีท ชาบู วูบหายไปอีก 1 สาขาที่สยาม จนกระทั่งมีประกาศจากรัฐบาลให้ปิดสถานบริการ–ร้านอาหาร ซึ่ง ‘ธนพันธ์’ คาดไว้แล้วแต่ไม่คิดว่าจะเร็วถึงเพียงนี้ 

“จริงๆ เราวางแผนไว้ 4 เฟส เฟสสุดท้ายคือการโดนปิดทั้งหมด รวมทั้งชัตดาวน์ แต่มันมาเร็วกว่าที่คาดไว้ เราแอ็กชันไม่ทัน ขนาดพยายามเตรียมตัวไว้แล้ว”

ผู้ประกอบการร้านอาหารลักษณะชาบูนั้นต้องสั่งวัถตุดิบมาสต็อก มีต้นทุนที่แบกรับจำนวนมาก การปิดร้านกะทันหันไม่ได้นับเป็นตัดจบภาวะขาดทุน แต่ยังมีช่วงอาฟเตอร์ช็อกตามมาให้ท้าทาย อย่างการดูแลพนักงาน ที่ไม่ใช่แค่ข้าวปลาอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ ยังหมายถึงที่พักอาศัย เนื่องจากลูกจ้างหลายรายเป็นคนต่างจังหวัดและชาวต่างชาติ 

“รายได้เราหายไปทันที แต่ต้นทุนเราไม่ได้หยุด ทุกอย่างมันยังรันเหมือนเดิม” 

Penguin Eat Shabu - เพนกวินกินชาบู
  • ภาพกลุ่มพนักงาน Penguin Eat Shabu - เพนกวินกินชาบู
คนรับเงินเดือนเหลือแค่ 7 คน

ก่อนกลางเดือน มี.ค.ในภาวะยากลำบาก ธนพันธ์ ตัดสินใจให้พนักงานบางส่วนออก ขณะที่กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ‘ลาโดยไม่รับเงินเดือน’ หรือ leave without pay เป็นเวลา 2 เดือน 

“ศุกร์ 20 มี.ค.คือวันสุดท้ายของพนักงานหลายคน หลายคนเตรียมตัวกลับบ้าน ส่วนคนที่ไม่กลับและยังอยู่ต่อ บริษัทสัญญาว่า ทุกคนจะมีห้องนอน มีข้าวปลาอาหาร มีของใช้ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน แชมพู ของใช้ส่วนตัว ผ้าอนามัย เพื่อให้อยู่รอดตลอด 3 เดือนนี้ให้ได้ เราจะยังดูแลคุณทั้งหมด”

ผู้บริหารหนุ่มวัย 36 ปีเล่าว่า วันสุดท้ายที่ปิดร้าน พนักงานหลายคนเข้าใจถึงสถานการณ์ แทบทุกคนพร้อมสู้ไปด้วยกัน ยินดีไม่รับเงินเดือน และเชื่อว่าถ้าเรายังสู้ “เพนกวินจะรอดตาย” และกลับมาได้ในสถานการณ์ปกติ โดยปัจจุบันมีคนรับเงินเดือนอย่างแท้จริงเหลือเพียงแค่ 7 คน 

ล่าสุดเขาตัดสินใจปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้กับพนักงานบางรายที่มีรถมอเตอร์ไซค์ส่วนตัว โดยขอแทรกตลาดส่งสินค้าเดลิเวอรี หาเงินเลี้ยงชีพเล็กๆ น้อยๆ 

“แทนที่จะพึ่งพาแต่กลุ่มธุรกิจเดิมๆ ผมเห็นว่ามีพนักงานตกงาน ไม่มีรายได้ แต่มีมอเตอร์ไซค์ เราเปลี่ยนให้เขามาเป็นไรเดอร์ ดีกว่าอยู่เฉยๆ ขับรถได้วันละ 200-300 บาท ให้เขาพอมีกินมีใช้ ต่อเวลาตายให้ผมได้มากที่สุด” 

ชาบูเพนกวิน

รัฐไม่ชัด ทำเลือดไหลไม่หยุด 

ในฐานะผู้ประกอบการ ‘ธนพันธ์’ เห็นว่าถึงวันนี้มาตรการของรัฐยังไม่ชัดเจน มีการสื่อสารที่ขาดประสิทธิภาพและขัดแย้งกันเองระหว่างหน่วยงาน “ทำงานเหมือนไม่ได้คุยกัน” เขาบอก ขณะนี้ผู้ประกอบการจำนวนมากยังมึนงงและสับสน  

“เขายอมเจ็บแต่จบ ผมว่าผู้ประกอบการคิดอย่างนั้นจริงๆ ถ้ามันเจ็บสั้นๆ แล้วจบ ผมว่าทุกคนยอมเสียสละ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ รัฐออกมาตรการแต่ไม่มีอะไรรองรับ มันไม่ใช่เจ็บแล้วจบ มันจะเจ็บแบบยาวๆ จนสุดท้ายมันจบ แต่เป็นผู้ประกอบการจบชีวิต พนักงานจบชีวิต"

“เหมือนเลือดไหลแล้วคุณขอให้เราตัดแขน ตัดขา เราบอกเรายอม ตัวจะได้รอด แต่คุณไม่มีมาตรการรองรับว่า คุณจะห้ามเลือดผมยังไงต่อ กลายเป็นว่าใครเลือดไหลช้าสุด คนนั้นคือคนที่รอด ใครเลือดไหลเร็วต้องยอมตายไประหว่างทาง”


บทเรียนจากความเจ็บปวด

โควิด-19 ปรากฏการณ์นี้เป็นบทเรียนให้กับทุกคน หากผ่านไปได้เสมือนติดอาวุธและภูมิต้านทานให้ชีวิต 

ธนพันธ์ บอกว่า สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้คือ “การบริหารจัดการความเสี่ยง ตั้งแต่ยังไม่เสี่ยง” มีสติเพื่อตัดสินใจแก้ปัญหา ซึ่งอาจไม่ดีที่สุด แต่ต้องเร็วที่สุดต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า

“เราจะบริหารเงินในมือยังไง สภาพคล่องยังไง ความเป็นอยู่ของพนักงานจะเป็นยังไงต่อ” เขาบอกและว่า ช่วงเวลายากลำบากแบบนี้ได้เห็นน้ำใจของคน เช่น พนักงานที่บอกว่าขอสู้ไปด้วยกัน คู่ค้าที่เข้าใจและยอมยืดการชำระเงินเงิน เพราะรู้ว่าสถานการณ์นี้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว

วิกฤตและความล้มเหลวยังเรียกสติให้ผู้บริหารกลับมา “FOCUS” มุ่งมั่นกับสิ่งที่ทำอีกครั้ง จากเมื่อก่อนที่ยอมรับว่ามีแต่ข้ออ้างและละเลยบางเรื่องสำคัญไป 

“เมื่อก่อนเราอ้างว่า กูขายดี กูคนเยอะ กูงานยุ่ง กูไม่มีเวลาทำ แต่วันหนึ่งพอกูว่างงานเนี่ย กูต้องทำทุกอย่างที่กูเคยคิด แล้วมันกลายเป็นว่าเรากลับมาโฟกัส ไม่ได้โฟกัสเพราะเราอยากรวย แต่กลับมาโฟกัสเพราะเรารู้สึกว่าเราต้องรอด คราวนี้เราไม่ต้องรอดเพื่อตัวเองแล้ว แต่ต้องรอดเพื่อคนรอบข้าง ทำไงก็ได้ให้พนักงาน 200 คน มีกินตลอด 3 เดือน เราต้องรอดเพื่อดูแลเขาให้นานที่สุด”

ชาบูเพนกวิน

ช่วงเวลาแห่งการแชร์ ออกแบบความคิดสร้างสรรค์ และรวมตัวกันเพื่อรอดมาถึงแล้ว 

เจ้าของร้านชาบู ชื่อเตะหู โลโก้เตะตา บอกว่า เป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการจะแชร์ข้อดีของกันและกัน เพื่อเอาตัวรอด เรียนรู้จากวิกฤต ตกต่ำก่อนเติบโต

“เลิกบ่น เลิกด่าโชคชะตา ตอนนี้มันเป็นสิ่งที่เราห้ามไม่ได้แล้ว ผมว่าถ้าทุกคนมารวมกัน จับมือกันจริงๆ ไม่มีทางหรอกที่เราจะตาย” ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ บอกและมั่นใจว่าเมื่อสถานการณ์เลวร้ายคลี่คลาย ความสำเร็จและรอยยิ้มจะกลับมา

ชาบูเพนกวิน


วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog