ไม่พบผลการค้นหา
ประเทศแถบตะวันออกกลางไม่ได้มีดีแค่น้ำมันเท่านั้น แต่ก้อนเชื้อรามูลค่าสูงอย่าง 'เห็ดทรัฟเฟิล' ก็ดูเหมือนจะกำลังเป็นที่นิยม และช่วยให้เศรษฐกิจริมอ่าวเปอร์เซียกลับมาคึกคักอีกครั้ง

แม้เห็ดทรัฟเฟิลทะเลทราย (Desert Truffles) ในแถบตะวันออกกลางจะออกสีขาว แล้วไล่ระดับจนถึงสีเบจโทนน้ำตาล ซึ่งได้รับความนิยมน้อย และราคาแรงสู้เห็ดทรัฟเฟิลป่าจากทางยุโรปไม่ค่อยได้ แต่มันก็นับเป็นวัตถุดิบสำคัญของชาวเบดูอิน (Beduin) หรือผู้คนที่อาศัยอยู่ในทะเลทราย ซึ่งพวกเขามักนำไปผสมเข้ากับข้าว เนื้อสัตว์ ซอสปรุงรส หรือต้มกับหัวหอม


000_11O5KU.jpg

ต้องยอมรับว่า เห็ดทรัฟเฟิลเป็นเรื่องบ้าคลั่งของนักชิมมานานนม และในย่านชานเมืองคูเวตซิตี้ บรรดานักล่าเห็ดทรัฟเฟิลจะเปิดฉากออกตระเวนลิ้มลองรสชาติกันตั้งแต่ 9 โมงเช้า ด้วยการสำรวจน้ำหนัก สีสัน และสูดดมกลิ่นหอมฟุ้งเตะจมูก เพื่อแสวงหาก้อนเชื้อราคุณภาพดีเยี่ยม บางคนมุ่งมั่นกับการแลกเปลี่ยนสินค้า ขณะเดียวกันบางคนก็เดินดิ่งตรงไปหาเพชรเม็ดงามหลากหลายสายพันธุ์ ก่อนนำกลับไปปรุงอาหารสูตรดั้งเดิม

ปัจจุบันเห็ดทรัฟเฟิลกลายเป็นสินค้าล้ำค่าในอ่าวเปอร์เซีย เนื่องจากปริมาณความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น เพราะเศษซากจากประวัติศาสตร์สงครามอิรัก–คูเวต บวกกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศส่งผลให้ปริมาณการผลิตเห็ดทรัฟเฟิลลดลงเรื่อยๆ จนทำให้ในช่วงฤดูหนาวของทุกๆ ปี ร้านค้าหลายร้อยแห่งแข่งขันกันออกล่าหาเห็ดทรัฟเฟิลทะเลทราย ซึ่งเป็นเหมือนขุมทรัพย์ที่มูลค่าแพงกว่าทองคำ 


000_11O5KT.jpg

ล่าสุด คูเวตตัดสินใจลุกขึ้นต่อสู้แบบเอาจริงเองจังด้วยการเปิดตลาดค้าเห็ดทรัฟเฟิลขึ้นมา โดยทางเทศบาลอัลรัย (Al Rai) ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมทางตะวันตกเฉียงเหนือของคูเวตซิตี้ให้การสนับสนุน อีกทั้งยังคอยดูแลเรื่องการควบคุมคุณภาพ และรับประกันการตรวจสอบเชื้อราย้อนหลัง

“เราตัดสินใจสร้างตลาดในปี 2016 เพื่อจัดระเบียบการขายเห็ดทรัฟเฟิล ที่หลายคนสามารถพบมันได้ตามทุกหัวมุมถนนในคูเวต” ฟายซอล อัล-โจมา (Faisal al-Jomaa) รองผู้ว่าการคูเวตซิตี้ กล่าว

นอกจากนั้น โจมายังให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อว่า ปีนี้พ่อค้าแม่ค้าจำนวน 520 ราย ยืนใบจองแผงขายสินค้าขนาด 97 ตารางฟุต แต่ทางตลาดมีพื้นที่ที่สามารถเปิดให้บริการได้เพียง 123 รายเท่านั้น ซึ่งหนึ่งในเป็นพ่อค้าชาวอิหร่านที่ประกอบธุรกิจซื้อขายเห็ดทรัฟเฟิลมาตั้งแต่ปี 1960

“พวกมันมาจากอิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย โมร็อกโก ตูนิเซีย ลิเบีย และอื่นๆ” พ่อค้าชาวอิหร่านอธิบายสายพันธุ์เห็ดทรัฟเฟิล

สนนราคาเห็ดทรัฟเฟิลในคูเวตเริ่มต้นตั้งแต่ 7- 20 ดีนาร์คูเวต หรือประมาณ 23-67 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งการกำหนดราคาขึ้นอยู่กับคุณภาพของเห็ดทรัฟเฟิลด้วย อย่างไรก็ตาม ในปี 2018 รายงานระบุว่า เห็ดทรัฟเฟิลที่ท่วมท้นอยู่ในตลาดส่วนใหญ่จากประเทศลิเบีย เนื่องจากการเพาะปลูกเห็ดทรัฟเฟิลเชิงพาณิชย์ในคูเวตกลายเป็นศูนย์หลังจากอิรักรุกรานคูเวตในปี 1990


000_11O5L3.jpg

“ปีนี้ไม่มีเห็ดทรัฟเฟิลจากแอลจีเรีย หรือโมร็อกโก เนื่องจากมันเป็นฤดูกาลของเห็ดทรัฟเฟิลจากลิเบียที่ปกติจะออกสู่ตลาดทุก 6-7 ปี” โมฮามเม็ด อัล-ซามมาริ (Mohammed al-Shammari) พ่อค้าเห็ดทรัฟเฟิลกล่าว ขณะที่หลายคนคงกำลังอยากทราบว่า “แล้วเห็ดทรัฟเฟิลเป็นที่นิยมในกุล่มคนคูเวตได้อย่างไร?” ซึ่งทางซามมาริชี้ให้เห็นว่า

“คูเวตนำเข้าเห็ดทรัฟเฟิล 3-4 ตันทุกวัน และขายกันแบบสดๆ”

ที่สำคัญคือ เห็ดทรัฟเฟิลทะเลทรายของคูเวต กำลังเผชิญหน้าอยู่กับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากมันไม่เหมือนกับเห็ดทรัฟเฟิลในแถบยุโรป ซึ่งเจริญเติบโตอยู่ใต้ดิน หรือตามรากต้นไม้บางชนิด แต่เห็ดทรัฟเฟิลทะเลทรายมักปรากฎตัวขึ้นหลังจากฝนตก นั่นหมายความว่า ปริมาณน้ำฝน และสภาพอากาศ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดคุณภาพของเห็ดทรัฟเฟิลทะเลทราย

“ฝนที่ตกไม่ต่อเนื่อง การพัฒนาเมืองที่รวดเร็ว และการบุกรุกทะเลทราย ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เห็ดทรัฟเฟิลท้องถิ่นลดลงรวดเร็ว” รองผู้ว่าการคูเวตซิตี้ กล่าว

นั่นหมายความว่า ผลผลิตเห็ดทรัฟเฟิลทะเลทรายที่เหลืออยู่ในคูเวต เพียงพอเฉพาะการบริโภคในครอบครัวเท่านั้น แต่ความต้องการเห็ดทรัฟเฟิลที่เพิ่มขึ้นมาจากความพยายามสร้างสรรค์อาหารอันโอชะ เช่น การทำคับซา (Kabsa) อาหารยอดนิยมในคูเวต ลักษณะคล้ายๆ ข้าวผัดของบ้านเรา แต่พิเศษด้วยการนำข้าวไปหุงกับเครื่องเทศ โดยส่วนผสมหลักคือ ข้าวเมล็ดยาว เนื้อแดง และเห็ดทรัฟเฟิลที่ต้มลงหม้อน้ำซุปก่อนนำไปปรุงอาหาร


000_11O5L0.jpg

ชายหนุ่มนามว่า ยูสเซฟ โมฮาหมัด อัล-คาลิด (Youssef Mohammed al-Khaled) แฟนพันธุ์แท้เห็ดทรัฟเฟิลที่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์ต่างๆ กล่าวว่า

“คนคูเวตเริ่มติดใจในเห็ดทรัฟเฟิล เพราะมันหายาก และให้รสชาติที่แตกต่าง”

ทุกปี คาลิดจ่ายเงินประมาณ 3,000 ดอลล่าร์คูเวต หรือเกือบๆ 10,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ให้กับทรัฟเฟิลขาว เพื่อเอาไปผสมกับอาหารสัปดาห์ละ 2 ครั้ง รวมทั้งมื้ออาหารกลางวันของครอบครัวในวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการทำงาน

ทั้งนี้ เห็ดทรัฟเฟิลสดของคูเวตออกเฉพาะในเดือนพฤศจิกายน-เดือนเมษายน แต่ปัจจุบันผู้ขายบางรายเลยหันมาขายรูปแบบแห้ง เพื่อให้ผ้บริโภคได้รังสรรค์อาหารอันโอชะในช่วงฤดูร้อนแสนอบอ้าว และสามารถเสนอราคาให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าตลอดทั้งปี