ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ตรวจการแผ่นดินเร่งตรวจสอบโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” เงิน 5,000 บาท พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลกระจายเงินเยียวยาไปยังทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง เสนอทบทวนสิทธิและขั้นตอนช่วยเหลือเกษตรกร แนะให้เงินเป็นรายคนเท่าเทียมกับงบเยียวยา 5,000 บาท

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะประชุมหารือกับกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นแก้ไขปัญหาเงินเยียวยา 5,000 บาท ในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน”

พล.อ.วิทวัส ระบุว่า ที่ประชุมได้ร่วมหารือกับนายพรชัย ธีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นางแก้วกาญจน์ วสุพรพงศ์ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง นายกิตติพัฒน์ เพียรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานธุรกิจภาครัฐ ธนาคารกรุงไทย (จำกัด) มหาชน และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากการประชุมพบว่า ฐานข้อมูลเบื้องต้นที่นำไปใช้ประมวลผลคัดกรองว่าบุคคลใดมีสิทธิหรือไม่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยานั้น มาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม ซึ่งขั้นตอนการลงทะเบียนจะต้องลงทะเบียนด้วยตนเอง แต่ถ้าหากไม่สามารถดำเนินการได้ก็อาจจะให้บุคคลใกล้ชิดหรือผู้นำชุมชนช่วยจัดการให้ได้ 

ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่าปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการทบทวนสิทธิ์ของผู้ที่ลงทะเบียนแล้วแต่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้ร่วมมือกับคลังจังหวัดซึ่งเป็นหน่วยงานในการดำเนินการตรวจสอบสิทธิ์ของประชาชนในพื้นที่ โดยจัดตั้ง “ทีมผู้พิทักษ์สิทธิ์ระดับอำเภอ” จำนวนกว่าล้านคนทั่วประเทศ เพื่อเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นรายบุคคลตามที่ยื่นทบทวนสิทธ์ และรัฐบาลยังได้ตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลด้านผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 เพื่อกำกับดูแลในภาพรวมถึงผู้ที่ได้รับสิทธิ์ไปแล้ว และวางแผนแนวทางแก้ไขเยียวยาให้กับผู้ที่ยังไม่ได้รับสิทธิ์คนอื่น ๆ ด้วย

พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า คาดว่าเร็วๆ นี้ รัฐบาลน่าจะดำเนินการผ่อนผันให้ธุรกิจบางสาขาสามารถเปิดกิจการได้ แต่ต้องเข้มงวดในการรักษาระยะห่างทางสังคมด้วย ส่วนการเยียวยาเงินช่วยเหลือ ขอให้รัฐบาลกระจายไปยังกลุ่มผู้มีรายได้น้อยทุกสาขาอาชีพให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น ทุกจังหวัด ทั้งคนที่อยู่ในเมืองและในชนบท

ทั้งนี้ จากการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีข้อเสนอแนะดังนี้ 1) ในขั้นตอนการทบทวนสิทธิและรวมไปถึงขั้นตอนที่รัฐได้จ่ายเงินเยียวยาให้กับเกษตรกรแล้ว ขอให้กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงมหาดไทยเร่งเพิ่มมาตรการเชิงรุกในการช่วยเหลือประชาชนที่ตกหล่นจากการได้รับเงินเยียวยา โดยให้เข้าถึงการช่วยเหลือของรัฐโดยเร่งด่วนต่อไป

2) กรณีการให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรควรที่จะให้เป็นรายบุคคล ไม่ใช่ให้เป็นรายครัวเรือน และจำนวนเงินควรมีความเท่าเทียมกับผู้ที่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เพื่อเป็นการขจัดความเหลื่อมล้ำของประชาชน รวมทั้งสิทธิในการได้รับการเยียวยาต้องไม่ซ้ำซ้อนกันด้วย