ไม่พบผลการค้นหา
พลังสามัคคีชุมชนปกาเกอะญอ ร่วมรักษาป่า-แหล่งน้ำ เพื่อความอุดมสมบูรณ์ ขอผีฝายช่วยดูแล

เมื่อน้ำเป็นปัจจัยสำคัญของการดำรงชีวิตของมนุษย์ การรักษาแหล่งน้ำจึงเป็นความจำเป็นที่ชุมชนต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ชาวปกาเกอะญอที่หมู่บ้านขวัญคีรีนอก ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง จึงมีประเพณีเลี้ยงผีฝายที่จัดขึ้นตามความเชื่อทางว่า ผีฝายจะช่วยดูแลปกปักรักษาสายน้ำ ให้ชาวบ้านได้กินได้ใช้ตลอดจนเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำที่ให้อุดมสมบูรณ์

ชาวบ้านขวัญคีรีนอก จึงได้ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ จัดทำโครงการ "สืบชะตาฝายน้ำล้น ภูมิปัญญา วิถีชีวิต ปกาเกอะญอบ้านขวัญคีรี" พร้อมกันนั้นได้จัดกิจกรรมเวทีศึกษาผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่น้ำงาว จ.ลำปางด้วย โดยการสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งในครั้งนี้ได้จัดให้มี “พิธีเลี้ยงผีฝาย” หรือที่เรียกในภาษาปกาเกอะญอว่า “ลื่อทีบอโค๊ะ” ประเพณีที่จัดขึ้นทุกปีชุมชน ณ บริเวณหัวฝายลำน้ำแม่คำมี ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาหนึ่งของน้ำงาว ซึ่งไหลลงไปเป็นแหล่งน้ำของอำเภองาว

ฝายที่ชาวบ้านขวัญคีรีมาทำพิธีเลี้ยงผีนั้น เป็นฝายน้ำล้นที่สร้างจากวัสดุตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นภูมิปัญญามาแต่ดั้งเดิม สามารถเก็บกักน้ำเอาไว้พอกินพอใช้ตลอดทั้งปี และเมื่อถึงฤดูฝนเมื่อน้ำป่าหลากมาจะพัดผ่านไปไม่ก่อให้เกิดอันตรายจากฝายแตกน้ำหลากลงไปทำลายพื้นที่ๆ อยู่ต่ำลงไป

“ฝายของเราเป็นฝายมีชีวิต ทำด้วยไม้ ไม้ไผ่ เป็นที่เพาะพันธุ์วางไข่ของสัตว์น้ำ มีปลาชุกชุมให้จับกินได้ทั้งปี” ชาวบ้านขวัญคีรีคนหนึ่งกล่าว

แต่ตอนนี้กรมชลประทานมีแผนจะสร้างเขื่อนซึ่งทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำ พื้นที่ป่าจะถูกน้ำท่วมและรุกขึ้นมาท่วมที่ทำกิน ไร่ สวน โรงเรียน และอาจขึ้นมาถึงที่หมู่บ้านด้วย” พ่อหลวงศรีทอง สมพงษ์ ผู้ใหญ่บ้านขวัญคีรีเล่าให้ฟังถึงโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำงาวของกรมชลประทาน

จากเอกสารสรุปลักษณะโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำงาว อ.งาว จ.ลำปาง ระบุวัตถุประสงค์ไว้สามประการได้แก่ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรกรรมในฤดูแล้ง เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภค และเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลากในพื้นที่

แต่ในทัศนะของชาวบ้านขวัญคีรีส่วนใหญ่เห็นว่า อ่างเก็บน้ำได้ไม่คุ้มเสีย นอกจากชทำลายวิถีชีวิตและที่ทำกินของชุมชนปกาเกอะญอในพื้นที่แล้ว ยังจะทำลายทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์จำนวนมากกว่า 1,500 ไร่ อีกทั้งต้องใช้งบประมาณมหาศาล ซึ่งเป็นภาษีของประชาชน โดยไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมในหน้าฝน และการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งได้

เมื่อปลายปีที่ผ่านมาชาวบ้านขวัญคีรี ในนามกลุ่มรักษ์น้ำงาว และเครือข่ายชาติพันธุ์จ.ลำปาง จึงได้พากันทำหนังสือคัดค้านการสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำงาวไปมอบให้รองผู้ว่าราชการ จ.ลำปาง โดยให้เหตุผลว่ากระบวนการที่ผ่านมาไม่รับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ และชุมชนจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในด้านที่ดินและด้านวิถีวัฒนธรรมของชาวปกาเกอะญอ

แต่โครงการยังคงเดินหน้า ชาวบ้านจึงต้องต่อสู้คัดค้านอ่างเก็บน้ำซึ่งจะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านขวัญคีรีที่มีประชากรชาวปกาเกอะญอราว 300 คน มีพื้นที่ไร่นาที่ทำกิน สองพันกว่าไร่ และพื้นที่ป่าไม้ที่ดูแลใช้ประโยชน์ราวหมื่นสองพันไร่ อยู่อาศัยกันมาเป็นร้อยปี ดูแลและจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่าตามภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ทำให้ป่าไม้ยังคงความสมบูรณ์เอาไว้ได้ในปัจจุบัน

หลังจากพิธีเลี้ยงผีฝายเสร็จสิ้น มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเชิญชุมชนต่างๆ ที่เคยได้รับผลกระทบจากโครงการรัฐมาเล่าเรื่องราวของตนเอง เช่น ชาวแก่งเสือเต้น จังหวัดแพร่ ที่เป็นตัวอย่างที่ต่อสู้คัดค้านจนประสบความสำเร็จ หรือชาวบ้านจากจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งต้องประสบความเดือดร้อนมากมายจากการอพยพออกจากที่อยู่อาศัยที่ทำกินดั้งเดิมของพวกเขา

เวทีเสวนา.jpg

พ่อหลวงศรีทอง สมพงษ์ ผู้ใหญ่บ้านขวัญคีรี ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้เห็นความสำคัญของวิถีวัฒนธรรมของกะเหรี่ยงที่อยู่กับป่ามาเป็นร้อยปีแล้ว เรารักป่าไม้และแม่น้ำ มีภูมิปัญญาในการจัดการดูแลรักษาป่าไม้และต้นน้ำอยู่แล้ว โดยเฉพาะการทำฝายน้ำล้น ที่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ทำเกษตรกรรม ได้ทั้งปี นอกจากนี้ยังช่วยให้ป่าไม้อุดมสมบูรณ์อีกด้วย

“พวกเราชาวกะเหรี่ยงไม่ต้องการอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อน ที่ทำได้เพียงกับเก็บน้ำได้เฉพาะช่วงที่ฝนตก ถ้าไม่มีป่าไม้แล้วฝนจะตกได้อย่างไร การสร้างเขื่อนนอกจากจะทำลายป่าไม้หลายหมื่นไร่แล้ว ยังทำลายวัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชนกะเหรี่ยงอีกด้วย” พ่อหลวงกล่าว

“ถ้าชุมชนมีความสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีการจัดตั้งคณะกรรมการทำงาน คอยสอดส่องดูแล เชื่อว่าความเข้มแข็งของชุมชนจะสามารถป้องกันภัยคุกคามจากภายนอกได้” นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) กล่าวให้กำลังใจกับชาวบ้านขวัญคีรี

“โลกวันนี้มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน วันนี้ชุมชนจะต้องเป็นคนลุกขึ้นมาดูแลตนเองมากขึ้น ชุมชนจะต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ในการต่อสู้คัดค้านในการจัดการแม่น้ำขุนน้ำงาวและผืนป่าต้นน้ำอันเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของชาวปกาเกอะญอเอาไว้" นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ(ประเทศไทย) ระบุ

สภาพหมุ่บ้านและพื้นที่จะสร้างเขื่อน.jpg

มีคำถามมากมายเกิดขึ้นเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรของรัฐที่ขาดความเป็นธรรมและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ชาวบ้านขวัญคีรีจึงพร้อมใจกันยกมือพร้อมเพรียงประกาศต่อสู้คัดค้านโครงการนี้และออกแถลงการณ์ยืนยันไม่ว่าพวกเขาต้องการอ่างเก็บน้ำน้ำงาวทับพื้นที่ชุมชน ขอให้ยุติโครงการ และยืนยันต้องการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ตามวิถีชีวิตเดิมของชุมชน

อนาคตของชาวบ้านผู้ดำรงวิถีชีวิตจิตวิญญาณชาวปกาเกอะญอ ดูแลจัดการใช้สอยทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ได้สอดคล้องกับความเป็นไปของธรรมชาติ ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นภูมิปัญญาที่ทำให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืนมานับร้อยปี จะต้องพบกับการกระชับพื้นที่จากโครงการและนโยบายต่างๆ ซึ่งอาจมิได้คำนึงถึงคุณค่าของมนุษย์ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาตินั่นเอง

ชาวปกาเกอะญอ หมู่บ้านขวัญคีรี ร่วมกันสร้างฝายไม้ไผ่.jpgผู้นำทางจิตวิญญาณ ของชาวปกาเกอะญอ หมู่บ้านขวัญคีรีนอก กำลังทำพิธี “ลื่อทีบอโค๊ะ”.jpgรวมพลังไม่เอาเขื่อน.jpgหยุดเขื่อนร่วมรักษาภูมิปัญญาโบราณ.jpg