ไม่พบผลการค้นหา
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ (FDA) ได้ผ่อนปรนข้อจำกัดที่ห้ามชายรักร่วมเพศ และชายไบเซ็กชวลไม่ให้บริจาคเลือด หลังจากที่ในปี 2558 หน่วยงานดังกล่าวได้ยกเลิกการห้ามการบริจาคตลอดชีวิตจากผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย แต่แนวทางการบริจาคได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มานานหลายปี

นโยบายล่าสุดของ FDA ในครั้งนี้ จะประเมินผู้บริจาคเลือดโดยใช้เกณฑ์ชุดเดียวกันทั้งหมด ในขณะที่จะมีการคัดกรองผู้มีกิจกรรมทางเพศล่าสุดที่มีความเสี่ยงสูง โดยการปรับเปลี่ยนในครั้งนี้ของสหรัฐฯ ใช้คำแนะนำจากสหราชอาณาจักรและแคนาดา ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศได้ปรับมาตรการดังกล่าวในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ เพื่ออนุญาตให้มีการบริจาคเลือดจากชายที่เคยมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงกฎในครั้งนี้ จะบังคับใช้กับผู้ที่มีคู่นอนคนเดียวกันในช่วงเวลาเท่านั้น ทั้งนี้ ผู้ที่มีคู่นอนใหม่หรือหลายคน และมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักในช่วง 3 เดือนก่อนการบริจาค จะไม่มีสิทธิ์ในการให้เลือด

FDA ยังแนะนำให้ผู้ที่ใช้ยาป้องกันก่อนสัมผัสเชื้อ (PRrEP) หรือยาป้องกันหลังสัมผัสเชื้อ (PEP) ซึ่งเป็นยาที่ใช้กันทั่วไปเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ต้องเลื่อนการบริจาคต้องออกไป โดยหน่วยงานกล่าวว่าการใช้ยาเหล่านี้ อาจทำให้การตรวจหาเชื้อเอชไอวีล่าช้า และทำให้ผลการตรวจคัดกรองผิดพลาดได้

ชาวสหรัฐฯ ที่เป็นเกย์และไบเซ็กชวล ถูกห้ามไม่ให้บริจาคเลือดครั้งแรกในปี 2526 เนื่องจากความกลัวและข้อมูลที่ผิดเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีและเอดส์ที่เริ่มแพร่หลาย อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวถูกปรับในปี 2558 โดยมีข้อกำหนดสำหรับผู้ชายรักเพศเดียวกัน ให้งดการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 1 ปีก่อนที่จะบริจาคเลือด ก่อนที่ในปี 2563 FDA ได้ลดระยะเวลาการห้ามลงเหลือ 3 เดือน เนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ส่งผลให้ปริมาณเลือดของประเทศพร่องลงไป

การบริจาคเลือดเริ่มมีความเสถียรตั้งแต่การออกกฎดังกล่าวนั้นมา แต่ FDA กล่าวว่าการย้ายไปสู่ "แนวทางตามความเสี่ยงรายบุคคล" สามารถขยายฐานผู้บริจาคได้ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับหน่วยงาน ซึ่งมีกฎการคัดกรองก่อนหน้านี้ที่ถูกประณามว่าเป็นการเกลียดกลัวกลุ่มรักร่วมเพศ


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-us-canada-65566500?fbclid=IwAR3ZqCOSTksa_9ALTlzpMQb-C6zFOyqGSv5dm7wL97JvCnPp7UMhirBDdOQ