โครงการภายใต้ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย
1. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรอบวงเงิน 45,000 ล้านบาท ล่าสุดยังไม่ได้มีการอนุมัติโครงการ
2. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรอบวงเงิน 555,000 ล้านบาท ขณะนี้พบว่าวงเงินที่อนุมัติแล้วอยู่ที่ 320,000 ล้านบาท และมีผลเบิกจ่ายอยู่ที่ 123,086.665 ล้านบาท
3. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรอบวงเงิน 400,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการยื่นโครงการเพื่อขอใช้เงินกู้ กับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์
หน่วยราชการแห่เสนอ 31,801 โครงการ ทะลุวงเงินขอกู้
พ.ร.ก.ในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท เป็นที่น่าในใจว่าโครงการที่จะถูกนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติรอบแรกในช่วงวันที่ 2 ถึง 9 ก.ค.นี้ จะมีโครงการอะไรบ้างที่เข้าวิน เพราะล่าสุด การติดตามโครงการภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ผ่านเว็บไซต์ ThaiME ได้สรุปข้อเสนอโครงการในเบื้องต้น ณ วันที่ 9 มิ.ย.2563 พบว่ามีมากถึง 31,801 โครงการ วงเงินรวม 783,348 ล้านบาท หรือ เรียกว่าเกินวงเงินไปแล้ว ซึ่งยังไม่รวมแผนงาน 3.3 โครงการในกลุ่มการกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวที่อยู่ระหว่างพิจารณาโครงการของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกระทรวงการคลัง
หากมาดูในรายละเอียดของแต่ละแผนงานแต่ละกลุ่ม จะพบว่า
กลุ่มที่ 1 ลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีการเสนอ 164 โครงการ วงเงินรวม 284,302 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้สภาพัฒน์ได้มีการเปิดเผยว่าโครงการที่เสนอโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มีการขอใช้วงเงินมากที่สุด 150,750 ล้านบาท จาก 3 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
กลุ่มที่ 2 ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน หรือ เกี่ยวข้องเศรษฐกิจฐานรากที่ส่วนใหญ่เสนอผ่านระดับจังหวัด ขณะนี้มีการเสนอโครงการเข้ามาแล้วรวม 31,345 โครงการ วงเงินรวม 416,149 ล้านบาท
กลุ่มที่ 3 ส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคครัวเรือและเอกชน ขณะนี้ยังไม่มีการเสนอขอใช้เงินกู้เข้ามา อยู่ระหว่างพิจารณาโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวร่วมกันของ 2 หน่วยงาน คือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกระทรวงการคลัง โดยแนวคิดที่ได้มีการสรุปก่อนหน้านี้ คือ การแจกเงินกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศในช่วง 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค. - ก.ย .2563
กลุ่มที่ 4 การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต มีการเสนอเข้ามาแล้ว 292 โครงการ วงเงินรวม 82,896 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากยกตัวอย่างค้นหาโครงการตามที่สภาพัฒน์ระบุ ตามคีย์เวิร์ด จะพบว่า โครงการที่ปรากฎบนเว็บไซต์ ThaiME คำว่า "ถนน" มีมากถึง 12,182 โครงการ "เกษตร" มี 5,632 โครงการ "ท่องเที่ยว" มี 2,603 โครงการ "ประปา" มี 1,805 โครงการ "แหล่งน้ำ" มี 1,392 โครงการ "ไฟฟ้า" มี 814 โครงการ "เศรษฐกิจพอเพียง" มี 200 โครงการ "ทะเล" มี 194 โครงการ "สร้างงาน" มี 117 โครงการ และ "ความยากจน" มี 9 โครงการ
แม้โครงการทั้งหมดจะยังไมได้มีการพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการ แต่หลายฝ่ายได้ตั้งข้อสังเกตว่าหลายโครงการเป็นแผนงานที่มีอยู่เดิมของแต่ละหน่วยงานอยุ่แล้ว ไม่ได้เป็นโครงการที่ถูกเซ็ทขึ้นมาใหม่ หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ปัดฝุ่น” แล้วนำมาขอเงินไปใช้เท่านั้น ซึ่งทำให้เกิดข้อกังวลว่าจะทำให้เม็ดเงินที่ลงไปไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และไม่ได้เป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ตามที่วัตถุประสงค์การออก พ.ร.ก.กู้เงิน
นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าแต่ละโครงการที่มีการขอใช้เงินกู้กระจุกตัวเพียงบางพื้นที่ ประเด็นนี้ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ยืนยันว่า แต่ละโครงการต้องมีการตรวจสอบความเหมาะสม และกระจายในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ยังมีการตรวจสอบ แต่ละโครงการถึง 3 ระดับ ตั้งแต่ขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลโครงการในเบื้องต้น ก่อนเสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง และคณะกรรมการกลั่นกรองที่มีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกร่วมตรวจสอบ ก่อนเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติ และมีบุคคลที่สามเสนอตัวเข้ามาตรวจสอบการใช้เงินกู้ เช่น สหประชาชาติ (UN) พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน ดังนั้นจึงค่อนข้างมั่นใจว่าแต่ละโครงการที่จะพิจารณาอนุมัติจะเกิดประโยชน์สูงสุดตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก.กู้เงิน ข้างต้น
นับถอยหลังอีกอีกครึ่งเดือนหากเป็นไปตามกรอบที่สภาพัฒน์ระบุ ประชาชนผู้เสียภาษีจะน่าได้เห็นโครงการกลุ่มแรกที่จะได้รับการพิจารณาอนุมัติจาก ครม. และมีเงินลงระบบตามเป้าหมายในเดือน ก.ค.นี้ ดังนั้นต้องจับตาว่า แต่ละโครงการที่ขอใช้เงินกู้กลุ่มแรกที่จะเข้าวิน จะเกี่ยวข้องกับโครงการในลักษณะใด และจะเกิดประโยชน์มากน้อยแค่ไหน เพราะอย่าลืมว่านี่คือ “เงินกู้” ที่ผู้เสียภาษีทุกคนในประเทศจะต้องร่วมกันรับผิดชอบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :