ไม่พบผลการค้นหา
ชุมชนชาวยิวในกรุงเบอร์ลินตกอยู่ในความหวาดผวา จากเหตุการโจมตีด้วยระเบิดขวด 2 ครั้ง ซึ่งถูกขว้างใส่ศาลาธรรมของศาสนายูดาห์ ท่ามกลางเหตุการณ์ต่อต้านชาวยิวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในบางประเทศของยุโรป

เจ้าหน้าที่ตำรวจของกรุงเบอร์ลินกล่าวว่า คนร้าย 2 คนได้ขว้าง "ขวดที่กำลังลุกไหม้ ซึ่งเต็มไปด้วยของเหลว" เพื่อพยายามวางเพลิงศาลาธรรมของศาสนายูดาห์ ในขณะที่ แอนนา ซีกัล ผู้อำนวยการของศาลาธรรมกล่าวว่า “เรารู้สึกถึงความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ” โดยเธอย้ำว่าชุมชนชาวยิวในเมืองหลวงของเยอรมนี ต่างรู้สึกว่าพวกเขาถูกคุกคามอย่างมากในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรง ต่อการโจมตีชุมชนชาวยิวในเยอรมนี

ยังมีความรุนแรงปะทุขึ้นในที่อื่นๆ ทั่วกรุงเบอร์ลินในช่วงเวลาเพียงชั่วข้ามคืน ระหว่างการประท้วงต่อต้านอิสราเอล เจ้าหน้าที่บริการฉุกเฉินในกรุงเบอร์ลินยังถูกผู้ชุมนุมปาด้วยขวด ก้อนหิน และดอกไม้ไฟ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังกล่าวด้วยว่า ผู้ประท้วงยังได้ตั้งเครื่องกีดขวางบนถนนหลายสาย และยังมีการประท้วงอีกแห่งหนึ่งใกล้กับประตูบรันเดินบวร์ก ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประท้วงกว่า 700 คน 

การโจมตีครั้งล่าสุดในเยอรมนีนี้ เกิดขึ้นในขณะที่กลุ่มติดอาวุธฮิซบุลเลาะห์ในเลบานอน ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ออกมาเรียกร้องให้เกิด "วันแห่งความเดือดดาล" เพื่อตอบโต้เหตุระเบิดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในฉนวนกาซา ซึ่งคาดว่าส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิตกว่าหลายร้อยคน

คณะกรรมการกลางยิวในเยอรมนีออกมาแถลงว่า "วันแห่งความเดือดดาล" ไม่ได้เป็นเพียงแค่วลี แต่เป็น "ความหวาดกลัวทางจิต ที่นำไปสู่การโจมตีอย่างเป็นรูปธรรม" โดยศาลาธรรมศาสนายูดาห์ที่ถูกโจมตีด้วยระเบิดขวดดังกล่าว เป็นที่ตั้งของศูนย์ชุมชน โรงเรียนอนุบาล และโรงเรียนมัธยมสำหรับเด็กกว่า 130 คน

ซีกัล ระบุกับสำนักข่าว BBC ว่า ชุมชนชาวยิวในกรุงเบอร์ลินรู้สึกอึดอัด และต้องการการปกป้องที่ดีขึ้น "เรารู้ว่ามันเป็นเพียงเรื่องของเวลาเท่านั้น และมันยังไม่ใช่จุดสิ้นสุด" ทั้งนี้ สถานที่ต่างๆ ของชาวยิวมักได้รับความคุ้มครองจากตำรวจในเยอรมนีอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี กลับมีรายงานระบุว่าเจ้าหน้าที่ของเยอรมนีอยู่ในที่เกิดเหตุ เมื่อเกิดการโจมตีศาลาธรรมยูดาห์ขึ้น

หลังจากเกิดเหตุโจมตีไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมชายคนหนึ่ง ซึ่งขี่สกู๊ตเตอร์เข้ามาใกล้กับอาคาร และวิ่งไปที่ศาลาธรรมยูดาห์พร้อมกับตะโกนคำขวัญต่อต้านอิสราเอล ในขณะที่มีการตั้งเครื่องกีดขวางรอบๆ ศาลาธรรมยูดาห์ และศูนย์กลางชุมชนชาวยิวในใจกลางกรุงเบอร์ลิน พร้อมกันกบการวางกำลังเจ้าหน้าที่ไว้ตามท้องถนน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ฝรั่งเศสและพื้นที่บางส่วนของเยอรมนี มีการสั่งห้ามการชุมนุมประท้วงที่สนับสนุนปาเลสไตน์ และตำรวจในกรุงปารีสได้ทำการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาและรถฉีดน้ำ ทั้งนี้ ในการพิจารณาของสภาแห่งรัฐฝรั่งเศสเมื่อวันพุธ (18 ต.ค.) ซึ่งคอยทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลในด้านกฎหมาย มีการปฏิเสธคำอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งห้ามการชุมนุมดังกล่าวด้วย

สภาแห่งรัฐฝรั่งเศสระบุว่า นายอำเภอในท้องถิ่นจะต้องตัดสินใจเป็นกรณีๆ ไป แต่พวกเขาไม่สามารถหยุดการประท้วงได้ เพียงเพราะได้รับคำสั่งจาก เจราลด์ ดาร์มาแนง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยฝรั่งเศส หรือเนื่องจากการประท้วงเป็นการประท้วงที่สนับสนุนชาวปาเลสไตน์ ทั้งนี้ ในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่อต้านชาวยิวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อคืนวันอังคาร (17 ต.ค.) ดาร์มานินได้ออกมากล่าวว่า "ไม่มีใครจะแตะเส้นผมของชาวยิวฝรั่งเศสได้ โดยไม่ต้องเผชิญหน้ากับการตอบรับจากรัฐแบบสายฟ้าฟาด"

เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวกับรัฐสภายุโรปเมื่อวันพุธว่า ความหวาดกลัวของกลุ่มฮามาส ได้ส่งผลให้อิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ตกอยู่ในความรุนแรงรอบใหม่ “เราเห็นเหตุการณ์ต่อต้านยิวเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงที่นี่ในยุโรปด้วย ศาลาธรรมยูดาห์ถูกทำลายล้าง คำพูดแสดงความเกลียดชังและข่าวปลอมกำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็วอย่างน่ากังวล และนี่คือสิ่งที่เรายอมรับไม่ได้” ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าว

นอกจากนี้ ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ได้ออกมาประณามการเพิ่มขึ้นของเหตุการณ์ต่อต้านยิวในสหราชอาณาจักรว่า "น่าขยะแขยง" ในขณะที่ Community Security Trust (CST) ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลของอังกฤษซึ่งมีบทบาทในการปกป้องชุมชนชาวยิว ออกมาเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ดำเนินการ "อย่างรวดเร็วและมั่นคง" เพื่อต่อต้านการต่อต้านชาวยิวและปกป้องนักศึกษาชาวยิว โดย CST ระบุว่า มีการบันทึกเหตุการณ์ต่อต้านยิว 36 ครั้งในวิทยาเขตต่างๆ ระหว่างวันที่ 7 ถึง 16 ต.ค.ที่ผ่านมา


ที่มา:

https://www.bbc.co.uk/news/world-europe-67145473?fbclid=IwAR1T2O6P84rpScyKj64_C-aoL7YnLZDw5yEV72D2nJx1fOODrqdAaa9PtKk