นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะสมาชิกเริ่มต้นกลุ่มแคร์ กล่าวในงานเสวนา "150 วันอันตราย ทางเลือกหรือทางรอด" ว่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องก้าวข้ามให้ได้คือการยืนอยู่บนกับดักความกลัว กับดักความเชื่อผิดๆ และกับดักความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน กล่าวคือ ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา ไม่มีใครสามารถพูดได้ว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือมีความรู้จริงเกี่ยวกับโควิด-19 ทุกคนต่างเริ่มเรียนรู้มาด้วยกันและต้องปรับตัวไปพร้อมๆ กัน บนเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความแตกต่างและผลลัพธ์ของโรคดังกล่าวมีความแตกต่างกัน เช่น เมื่อมองจากอัตราผู้เสียชีวิตทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 9 ขณะที่บางประเทศในยุโรปกลับสูงขึ้นไปถึงกว่าร้อยละ 10 และเหลือน้อยมากๆ ในประเทศอย่างกาตาร์และสิงคโปร์มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.09 และ 0.06 ตามลำดับ ขณะที่ของไทยมีอัตราส่วนผู้เสียชีวิตร้อยละ 1.8 เป็นต้น
อีกทั้งเมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลต้องแบกรับกับกระบวนการสาธารณสุขเพื่อรักษาผู้ติดเชื้อ พบว่า การรักษาผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรงในขั้นต้องรักษาตัวในห้องไอซียูจะใช้งบประมาณราว 1 ล้านบาทต่อราย และจะลดหลั่นกันลงมาในผู้ป่วยที่มีอาการน้อยลง ขณะที่ไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมราว 3,000 ราย แบ่งเป็นผู้รักษาตัวหายแล้วกว่า 2,900 ราย และเป็นผู้เสียชีวิต 58 ราย โดยรวมๆ คิดเป็นงบประมาณในการรักษาและการตรวจโรคประมาณ 3,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม มาตรการที่รัฐบาลวางไว้ว่าจะเปิดให้การท่องเที่ยวกลับมาในเดือน ก.ย. นี้ กลับจะทำให้ประเทศเสียรายได้ เพราะกว่าจะเปิดก็อีก 3 เดือน ซึ่งคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเสียหาย 260,000 ล้านบาทต่อเดือน ซ้ำเติมทั้งคนตกงานและอัตราหนี้เสียที่จะเพิ่มขึ้น
นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า หากจะพูดในประเด็นเรื่องการกลับมาระบาดระลอกสอง ซึ่งตามความหมายหมายถึงต้องเป็นการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงอีกครั้งหลังจากการระบาดรอบแรก สามารถพูดได้ว่าที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ 100 ปี นับตั้งแต่มีไข้หวัดสเปน โลกไม่เคยเจอการระบาดระลอกที่สองที่รุนแรงกว่าระลอกแรกแม้แต่ครั้งเดียว และในกรณีของจีนที่กลับมาพบผู้ติดเชื้ออีกราว 50 ราย เมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรทั้งประเทศ ก็ไม่ควรนับว่าเป็นการระบาดระลอกที่สองตามคำนิยามด้วยซ้ำ
พร้อมกันนี้เสนอว่าสิ่งแรกที่ต้องเลิกทำคือต้องเลิกกลัว แล้วมาหาทางออกให้เศรษฐกิจแบบที่มีความปลอดภัย สร้างความสบายใจให้กับนักท่องเที่ยวและไม่สร้างภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เช่น การทำ Travel Bubble กับประเทศที่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ อาจจะมีการขอให้ตรวจเชื้อก่อน ณ ตอนขอวีซ่า มีการตรวจเชื้ออีกครั้งเมื่อเครื่องลงจอดที่สนามบิน ซึ่งจากนวัตกรรมใหม่ๆ ก็ใช้เวลาไม่นาน
โดยได้ย้ำอีกครั้งว่า รัฐบาลจำเป็นต้องหาหนทางใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหา ต้องพิจารณาดูว่างบ 1 ล้านล้านบาทเพียงพอไหม ระดับหนี้สาธารณะควรจะเป็นเท่าไหร่ และจะร่วมหาทางให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยอย่างปลอดภัยได้อย่างไร และผู้กำหนดนโยบายที่ยังไม่ตกลงในหุบเหวแห่งความสิ้นหวังของประชาชน ต้องออกมาจากหอคอยงาช้างได้แล้ว
"ยุคนี้เราต้องว่องไวปราดเปรียวในการหาทางออก ต้องยืดหยุ่นรับเงื่อนไขใหม่" นพ.สุรพงษ์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :