ไม่พบผลการค้นหา
'นภินทร' ลุยสวนส้มจุกจะนะ สินค้า GI จ.สงขลา ขายหน้าสวนได้สูงสุด กก. ละ 180-200 บาท เป็นผลจากการขึ้นทะเบียน GI พร้อมช่วยหาตลาดรองรับ ส่วนมะม่วงเบาแปรรูป ใช้โอกาสร่วมงาน THAIFEX ทำยอดออเดอร์พุ่ง

นภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ นำทีมผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสวนส้มจุกจะนะ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ณ สวนส้มจุกจะนะผู้ใหญ่นี อ.จะนะ จ.สงขลา โดย “ส้มจุกจะนะ” เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดสงขลา

S__21783061.jpg

พร้อมเปิดเผยว่า ปัจจุบันสินค้า GI ขึ้นทะเบียนแล้ว 216 รายการ สร้างมูลค่าให้แก่เศรษฐกิจประเทศ กว่า 77,000 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2566 กว่า 20,000 ล้านบาท และปัจจุบัน ส้มจุกจะนะเป็นหนึ่งในสินค้า GI ที่สร้างมูลค้าเพิ่ม เพราะมีความโดดเด่นทางภูมิศาสตร์ที่เกิดจากแร่ธาตุจากแม่น้ำสองสาย คือแม่น้ำเทพา และแม่น้ำนาทวี ทำให้ลักษณะของส้ม มีผิวมัน มีกลิ่มหอม เนื้อฉ่ำ รสชาติหวานอมเปรี้ยว ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

นภินทร กล่าวเพิ่มเติมว่า “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผู้ปลูกส้มจุกจะนะ ได้ขอบคุณกระทรวงพาณิชย์ที่ช่วยทำให้ 'ส้มจุกจะนะ' เป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดเนื่องจากการได้เป็นสินค้า GI ซึ่งผมถือได้ว่านี่คือสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์พยายามทำมาโดยตลอด นั่นคือการยกระดับรายได้ และขยายโอกาสให้กับพี่น้องเกษตรกร โดยเกษตรกรผู้ปลูกส้มจุกจะนะ ได้รับประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI เนื่องจากราคาของ “ส้มจุกจะนะ” ในช่วงผลผลิตออก ราคาดีมาก โดยราคารับซื้อหน้าสวนสูงสุดอยู่ที่กิโลกรัมละ 180 - 200 บาท เพราะรสชาติ และรูปลักษณ์ภายนอกของส้ม มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่ ทำให้เมื่อมีการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ยิ่งเป็นการการันตีว่า หากผู้บริโภคต้องการทานส้มที่มีรสชาติเฉพาะ ต้องซื้อ ส้มจุกจะนะ เท่านั้น

S__21783055.jpg

“อยากให้พี่น้องเกษตรกรเพิ่มผลผลิตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนผลผลิตต่อไร่ (ปัจจุบันผลผลิต 77 ตันต่อปี) หรือการเพิ่มพื้นที่การปลูก (ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูก 281 ไร่) ซึ่งผมได้ฝากทางกรมส่งเสริมการเกษตรให้ช่วยดูแล และส่งเสริมการปลูก เพราะการเพิ่มผลผลิต จะทำให้เพิ่มรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน โดยกระทรวงพาณิชย์เองจะทำหน้าที่หาตลาดรองรับ ไม่ว่าจะเป็นการประสานห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เช่น ตลาดจริงใจ Tops ในการนำส้มจุกจะนะเข้าไปวางขายตามฤดูกาล รวมถึงนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในร้านอาหารระดับมิชลิน และ Thai Select นอกจากนี้จะช่วยดูแลการลดต้นทุนในการขายสินค้า อาทิ มอบกล่องบรรจุภัณฑ์เพื่อใช้บรรจุส้มเพื่อขนส่ง รวมไปถึงการลดค่าขนส่ง ซึ่งเป็นต้นทุนอย่างหนึ่ง ขณะเดียวกันยังช่วยส่งเสริมการค้าขายออนไลน์ เพื่อขยายตลาดให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง โดยจะเข้าไปช่วยในเรื่องการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และเครื่องหมายการค้า ทำให้ให้ตลาดของ “ส้มจุกจะนะ” เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับผลผลิต”

S__21783033.jpg

“กระทรวงพาณิชย์หวังว่าการส่งเสริม และผลักดันในครั้งนี้จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า GI 'ส้มจุกจะนะ' จังหวัดสงขลา ได้เพิ่มมากขึ้นไปอีก โดยความคาดหวังให้พี่น้องเกษตรกรได้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี และกระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสินค้า GI ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพิ่มมากขึ้น และจะช่วยประชาสัมพันธ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้ทุกคนได้รู้จักสินค้าGI ของไทยและได้มีโอกาสขายสินค้าให้กับผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ” นภินทร กล่าว

S__21783163.jpg

ต่อมา รมช.พาณิชย์ พร้อมคณะ นำทีมเยี่ยมชมโรงงานแปรรูปมะม่วงเบาสงขลา DFruit’s ของวิสาหกิจชุมชนพร้อมทรัพย์มาเก็ตติ้ง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าแปรรูป “มะม่วงเบาสงขลา” ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้เข้าร่วมงานจัดแสดงสินค้าในงาน THAIFEX ที่ผู้ประกอบการได้รับออเดอร์สั่งซื้อจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ที่มีกฎระเบียบมาตรฐานในการนำเข้าสูง โดยบริษัทเองก็มีการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และการส่งเสริมสินค้าสู่ตลาดระดับพรีเมียม 

S__21783117.jpg

สำหรับส้มจุกจะนะเป็นสินค้า GI ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นลำดับที่ 2 ของจังหวัดสงขลา และได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ถือเป็นผลไม้ประจำถิ่นของอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์ ที่มีลักษณะเหมือนมีจุกอยู่บนผลส้ม และมะม่วงเบาสงขลาเป็นสินค้า GI ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นลำดับที่ 4 ของจังหวัดสงขลา โดยขึ้นทะเบียน GI มีทั้ง มะม่วงเบาผลสด มะม่วงเบาแช่อิ่ม มะม่วงเบาดองเกลือ ลักษณะผลขนาดเล็ก ทรงกลมแกมรีก้านช่อสั้น พวงใหญ่ เปลือกบางสีเขียวอ่อน กลิ่นหอมแรง น้ำยางใส มีรสชาติเปรี้ยว เนื้อสีขาวแน่นและกรอบ ปลูกในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระครอบคลุม 4 อำเภอ คือ อ.สิงหนคร อ.สทิงพระ อ.กระแสสินธุ์ และ อ.ระโนด โดยสามารถแปรรูปในทุกอำเภอของจังหวัดสงขลา