นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยหลังประชุมหารือร่วมกับตัวแทนห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก และร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ 14 แห่ง เช่น แม็คโคร โลตัส บิ๊กซี เซ็นทรัล เดอะมอลล์ โรบินสัน และซีพี เรื่องสถานการณ์จำหน่ายหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ ว่าได้ขอความร่วมมือจากตัวแทนธุรกิจค้าปลีกให้นำสินค้าหน้ากากอนามัยที่มีอยู่ในสต็อกออกมาจำหน่ายให้เพียงพอ และขอให้มีการจำกัดการซื้อ 10 ชิ้นต่อคน โดยบางแห่อาจจะขายให้ได้ไม่เกิน 4-5 ชิ้น เพื่อแก้ปัญหาคนซื้อปริมาณเยอะเกินจำเป็น
โดยการนำหน้ากากอนามัยและวัตถุดิบ รวมถึงเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เข้าสู่บัญชีและบริการควบคุม จะส่งผลให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ค้า รวมถึงตัวแทนจำหน่าย ต้องแจ้งสต็อกสินค้า ปริมาณการผลิต ปริมาณการนำเข้า ปริมาณการส่งออก ราคาซื้อ ราคาขาย ในช่วงเดือนที่ผ่านมาให้กรมฯ รับทราบภายในวันที่ 6 ก.พ.นี้ ตามรายละเอียด ดังนี้
หนึ่ง กรณีหน้ากากอนามัยให้แจ้งปริมาณ การซื้อ-ขาย รวมถึงสต็อก และขอให้ผู้ผลิต นำเข้า ตัวแทนจำหน่าย จัดสินค้าหน้ากากอนามัยมายังศูนย์บริการจัดสรรที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเชื่อมโยงสินค้าไปขายราคายุติธรรมให้กับพื้นที่ที่จำเป็นก่อน เช่น โรงพยาบาล และผู้ให้บริการการท่องเที่ยว รวมถึงใช้ร้านธงฟ้าที่มีอยู่ทั่วประเทศเป็นจุดกระจายสินค้าให้ทั่วถึง ส่วนการจัดสรรของผู้ผลิตแต่ละรายปริมาณเท่าใดนั้น จะพิจารณาจากหลายปัจจัยทั้งการผลิต และคำสั่งซื้อ
สอง จำกัดการส่งออกตั้งแต่ 500 ชิ้น ต้องขออนุญาต แม้ว่าจะมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศแล้วก็ตาม เพราะจะให้ความสำคัญกับการใช้ในประเทศเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลสถิติพบว่า ในปี 2561 ส่งออกเพียง 71 ล้านชิ้น เมื่อปี 2562 ส่งออกเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 200 หรือประมาณ 220 ล้านชิ้น เนื่องจากมีคนเริ่มหันมาดูแลตัวเองจากปัญหาฝุ่นละออง
สาม การกำหนดราคา จะพิจารณาไม่ให้สูงเกินสมควร โดยให้ดูราคาจากอดีตเป็นตัวตั้ง หากพบสามารถแจ้งได้ที่ 1569 โดยจะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วออกตรวจสอบ 10 สายอย่างเข้มงวด โดยตลอด 1 เดือนที่ผ่านมามีการร้องเรียนผ่านสายด่วนมากถึง 1,220 ราย โดยกว่า 700 รายร้องหาซื้อสินค้าหน้ากากอนามัยไม่ได้ และที่เหลือราคาแพง เป็นต้น
อย่างไรก็ดี กรณีเจลล้างมือ ให้รายงานปริมาณการซื้อ-ขาย และรายงานตัวเลขสต็อก เนื่องจากโดยสถานการณ์ยังไม่จำเป็นจะต้องจำกัดการซื้อ เนื่องจากทางการแพทย์ ระบุว่า สามารถใช้น้ำสะอาด หรือสบู่ล้างได้
"มาตรการเหล่านี้เพื่อให้มีหน้ากากอนามัยเพียงพอใช้ในประเทศ เนื่องจากขณะนี้ความต้องการใช้เพิ่มมากถึงเดือนละ 50-60 ล้านชิ้น จากช่วงปกติ 30 ล้านชิ้น เต็มกำลังการผลิตของแต่ละโรงงานแล้ว และส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อส่งออก จึงต้องหามาตรการเข้มงวดกับการส่งออกก่อน แต่ถ้าผู้ผลิตรายใดทำสัญญาซื้อขายกับต่างประเทศไว้แล้วจะพิจารณาอนุญาตเป็นรายๆ ไป" นายวิชัย กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :