คณะราษฎรปักหมุดประชาธิปไตย ในปี พ.ศ.2475 วันเวลาเคลื่อนตัวมา 88 ปี ปัญหาทั้งเรื่องความไม่เสมอภาค ช่องว่างทางสังคม ความยากจน คนตกงาน คนไร้บ้าน ความรุนแรง ระบบการศึกษาที่ย่ำแย่ ไปจนถึงการขาดความช่วยเหลือทางสวัสดิการสังคม สิทธิเสรีภาพ ยังไม่หมดไป
ความอึดอัดคับแค้นใจของผู้คน ถูกสะท้อนผ่านบทกวี บทเพลง และผลงานศิลปะต่อเนื่อง
10 ปีที่ผ่านมา ในบ้านเรามีศิลปินรุ่นใหม่สร้างศิลปะบนพื้นที่สาธารณะ ท้องถนน กำแพงตึกรามบ้านช่อง ที่เรียกว่า กราฟฟิตี (Graffiti) หนึ่งในประเภท สตรีทอาร์ต (Street art) สอดแทรกความแสบในความสวยงาม สะท้อนปัญหาสังคม เสียดสี วิพากษ์วิจารณ์ ล้อเลียนโครงสร้างอำนาจอยุติธรรม
‘แพน-ฐกฤต ครุธพุ่ม’ ที่ใช้ชื่อในการทำงานศิลปะ October29 (ออคโทเบอร์ ทเวนตี้ไนน์) มาจากเดือนและวันเกิดของเขา เป็นอีกหนึ่งศิลปินรุ่นใหม่ที่มีความชัดเจนของผลงาน ต้องการสะท้อนให้เห็นปัญหาที่ยังฝังแน่นในสังคมไทย เพื่อเตือนสติผู้คนจงอย่าปล่อยสลัวรางเหมือนสีซีดจางของรูปถ่ายใบเก่า จนกว่าจะได้รับการแก้ไขไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ผ่านการ์ตูน Monster คาแรกเตอร์ What The Fuck (WTF) ที่เขาสร้างขึ้นมาเป็นตัวแทนศิลปิน
ศิลปินหนุ่มวัย 34 ปี ให้สัมภาษณ์กับ ‘วอยซ์ออนไลน์’ บอกว่า เขาเหมือนแกะดำในครอบครัวข้าราชการ เกิดและเติบโตในซอยรางน้ำ ใจกลางกรุงเทพฯ การได้เห็นมหานครเต็มไปด้วยความศิวิไลซ์ เป็นเมืองท่องเที่ยวติดอันดับโลก แต่ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาหมักหมม ทั้งมลพิษฝุ่นควัน น้ำท่วมรอการระบาย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ฯลฯ บวกกับการหลงใหลการดีไซน์สัตว์ประหลาด ‘การ์ตูน Monster’ และอินกับไดโนเสาร์ สัตว์ดึกดำบรรพ์สูญพันนับล้านปี ที่ถูกชุบชีวิตลงแผ่นฟิล์ม ใน ‘จูราสสิคพาร์ค’ หนังเรื่องแรกที่ดูตอนเรียนประถมฯ คือ แรงบันดาลใจทำให้เกิดความรักศิลปะ
“พ่อเป็นนักวิชาการแม่เป็นครู หวังในตัวลูกชายอยากให้เดินสายท่าน แต่ผมดันฉีกมาก เรียนไม่เก่งชอบดูการ์ตูนชอบดูหนัง” เขาบอก “ชอบคาแรกเตอร์สัตว์ประหลาด ค่อนข้างแอบแอนตี้ฮีโร่ ยุคผมเป็นเด็กยังไม่มีอินเทอร์เน็ตต้องจำมาวาด แตกต่างจากสมัยนี้อินแล้วเซฟรูปเก็บไว้ได้เลย เป็นจุดเริ่มต้น เฮ้ยรู้สึกว่าการวาดรูปสนุกแล้วก็ทำมาเรื่อยๆ”
การใช้ชีวิตในกรอบที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้นหลายคนอาจคิดว่าสบายดี แต่ไม่ใช่กับคนที่ไม่ชอบถูกบีบบังคับ ให้อยู่ในกรอบที่ไม่ได้เขียนขึ้นมาเอง เขาเริ่มต้นเติมศิลป์ตามแรงปราถนา ที่วิทยาลัยช่างศิลป์ ลาดกระบัง จนค้นพบว่าชอบงานดีไซน์ด้วย จึงไปเรียนต่อวิชาออกแบบนิเทศน์ศิลป์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ด้วยความเป็นเด็กช่างศิลป์โตมากับเพลงของ ‘พงษ์สิทธิ์ คำภีร์’ เขาหยิบผลงานของศิลปินเพลงเพื่อชีวิตชื่อดัง มาทำ Thesis หรือ วิทยานิพนธ์ สะท้อนปัญหาความรักที่มีผลพวงมาจากปัญหาสังคมผ่านงานศิลปะมากกว่า 10 ปัญหา อาทิ เรื่องค้าประเวณี แรงงาน คอร์รัปชัน ฯลฯ โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาจุดประกายการสร้างสรรค์งานโดยใช้ศิลปะพูดความจริงแทนปาก สะท้อนสิ่งที่เป็นปัญหา
“ผมอินกับงานพวกนี้ก็วาดแบบอารมณ์ตลกร้าย เสียดสี อาจารย์ที่ปรึกษาแกเป็นคนมันๆ บอกว่าเฮ้ยถ้ามึงจะทำภาพประกอบปัญหาสังคม เอามาไว้ในแกลอรี่กูว่าแม่งไม่อินว่ะ สมมติบ้านน้ำท่วมวาดในแกลอรี่คนที่มาดูบ้านมันน้ำไม่ท่วมมันไม่อินหรอก แต่ถ้าไปวาดตรงหลังที่เคยน้ำท่วม มีร้องไห้แน่นอน คนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเรามาเห็นก็มีอารมณ์ร่วม ตั้งแต่นั้นก็ทำเรื่อยมา” เขาเล่า
“ถ้าจะเรียกให้ถูกตามความรู้สึกของผม งานของผมเป็น Mural Painting คือ จิตรกรรมฝาผนัง เพราะการเล่าเรื่องของผมหนักไปทางจิตรกรรม ส่งแมสเซจเล่าเรื่องต่างๆ ผ่านการ์ตูน ผ่านดีไซน์คาแรคเตอร์ของผม มากกว่าที่จะเป็นกราฟฟิตี คือ เน้นกราฟฟิกแสดงในเรื่องฟอนต์คำต่างๆ ที่เริ่มจากเมืองนอกเขาเป็นเหมือนแกงสเตอร์ไปแล้วเขียนชื่อบอมบ์กันจนถูกใส่ศิลปะลงไป แล้วก็ถูกพัฒนาเป็นกราฟฟิตีที่เราเห็นทุกวันนี้ ทั่วโลกมีมานานแล้ว เข้ามาในไทยได้ประมาณ 10 ปี พร้อมกับเพลงฮิปฮอป มีศิลปินยุคแรกทำไว้ ผมก็เป็นยุคสอง”
สำหรับผลงานที่ทำให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เขาบอกว่า เป็นงาน Thesis ชิ้นสุดท้าย ที่ไปเพนต์ภาพช้างโดนกรีดสมอง สะท้อนปัญหาค่านิยม ทุนนิยมของคนในเมืองหลวง บนกำแพงบ้านหลังหนึ่งในชุมชนสะพานหัวช้าง ซึ่งได้รับความยินยอมจากเจ้าของบ้านหลังดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ภาพนั้นถูกลบไปในเวลาต่อมา เนื่องจากมีงานชื่อว่า บุกรุก ของหอศิลป์ฯ ระดมศิลปินสายนี้ทั้งไทยและต่างประเทศ มาตระเวนสร้างสรรค์งานใน กทม. ซึ่งคนที่มาทับงานของเขาคือ ‘ตั้ม MAMAFAKA’ พฤษ์พล มุกดาสนิท กราฟิกดีไซเนอร์ชื่อดัง รุ่นพี่มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ประสบอุบัติเหตุจมน้ำทะเล ที่ชายหาดกะตะ ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ขณะเส้นทางศิลปินกำลังรุ่งโรจน์
“แกโทรมาบอกผมว่า แพน พี่ต้องไปทับตรงนั้นนะ เฮ้ยขอโทษที แกก็แบบดีมาก ก่อนทับงานผม แกถ่ายรูปไปลงโซเชียล ก็กลายเป็นว่าคนมาดู เออเฮ้ยน้องคนนี้มันทำงานแบบนี้ด้วยเหรอ และพี่ Ballisticone แกนั่งรถไฟฟ้าผ่านเห็นทุกวัน ก็งงหายไปไหน แกเปิดร้านแถวสยามสแควร์ ก็ชวนว่าอยากทำอีกไหม มีกำแพง งานผมตอนนั้นอาจจะเป็นแนวแปลกๆ อาจจะเป็นจุดทำให้คนจำง่ายแล้วพูดถึงต่อกัน”
8 ปี นับตั้งแต่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี แพนใช้วิชาศิลปะสร้างเนื้อสร้างตัวพิสูจน์ให้เห็นว่า ลูกที่ไม่ได้เดินตามกรอบผู้ใหญ่ตีเส้น สามารถยืนบนลำแข้งของตนเอง มีรายได้มั่นคงจากการออกแบบนิเทศน์ศิลป์ให้กับแบรนด์สินค้าชั้นนำระดับประเทศมากมาย
ขณะเดียวกัน ก็ใช้ศิลปะสะท้อนให้เห็นปัญหาสังคมที่ถูกกดทับ ซึ่งเขาย้ำว่าทุกชิ้นที่ทำถูกกฏหมาย ก่อนสร้างผลงานมีการขออนุญาต และได้รับความยินยอมจากเจ้าของสถานที่ ถึงอย่างนั้นผลงานส่วนใหญ่ มักถูกตามลบในเวลาต่อมา อาจเพราะการเสียดสี ที่มีคนรู้สึกแสบไปถึงรูทวาร
“ผมค่อนข้างจะมีแนวคิดแบบตลกร้ายหน่อย ส่วนใหญ่เวลาออกไปทำงานส่วนตัว เห็นปัญหา ณ จุดนั้น สถานที่ตรงนั้นควรต้องมี มันปิ๊งเข้ามาในหัวเลย ตามความรู้สึกผมสถานที่เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ที่ทำให้ภาพสมบูรณ์” เขาบอก “มันจะมีช่วงหนึ่งอินกับสถานการณ์บ้านเมือง อยากเป็นกระบอกเสียงช่วยกระตุ้นเตือนให้คนจำเรื่องนี้ไม่ปล่อยผ่าน ส่วนใหญ่พูดถึงการทำงานของรัฐบาล ตั้งข้อสงสัยกับบุคคลแต่ละบุคคลในรัฐบาล ผมก็ไม่รู้ใครมาตามทำลาย”
ศิลปินหนุ่มพื้นที่เกินครึ่งของร่างกายภายนอกมีรอยสัก บอกต่อว่า ศิลปะอาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบได้ แต่ศิลปะก็เหมือนกับ ‘ผงชูรส’ ที่ทำให้ทุกอย่างกลมกล่อม “ของถูกทำให้แพงได้ด้วยศิลปะ” เขาบอก “อาหารวัตถุดิบเดียวกัน แต่พอมีอาร์ตมันแพงขึ้น เพราะฉะนั้นมันเป็นตัวช่วยหนึ่งของสังคม ทำให้ทุกอย่างสวยงามได้ และมันสามารถพูดในตัวงานของมันได้ด้วย”
ถ้ามีคนถามว่า ทำไมศิลปะต้องไปข้องแวะกับสังคมการเมือง? เขาพร้อมจะตอบแบบไม่ลังเล “ศิลปะมันมีอยู่ทุกที่ในชีวิตจริงๆ” ศิลปินมีสิทธิในการแสดงออกศิลปะ ทั้งกับเรื่องสังคมการเมือง หรือกับเรื่องอื่นๆ “เพราะฉะนั้นผมรู้สึกว่ามันเป็นของคู่กัน เป็นสีสันอันหนึ่ง ผมว่ามันทำได้”
ยุคทันสมัย ‘มีตาวิเศษเพ่งเล็ง’ การใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กรณรงค์ทางสังคมการเมือง แบ่งปันข้อมูลและเปิดประเด็น อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่า การนำเสนอผลงานผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ October29 และอินสตาแกรม October29_WTF ไม่ใช่การรายงานข่าวสารความเคลื่อนไหวทางการเมือง
แค่ต้องการใช้ ‘ศิลปะพูดความจริง’ ในบ้านที่ไม่อยากให้ส่งเสียงดัง ในสิ่งที่เห็นว่าเป็นความทุกข์ของชาวบ้าน ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม
“ผมก็แค่อาร์ติสต์คนหนึ่งที่อยากจะพูด หรือว่าเฮ้ยมีใครคิดเหมือนผมบ้างป่าววะ เรื่องนี้มันยังอยู่นะ อยากระบายความรู้สึกที่เจอมาในชีวิตประจำวัน แค่แบบเออแล้วเห็นด้วยไหม ถ้าไม่เห็นด้วยก็บอกผมว่าเฮ้ยเรื่องนี้ไม่เห็นด้วยนะ มันอาจจะกลายเป็นการคุยกัน เพื่อหาข้อเท็จจริงของเรื่องๆ นั้น”
เขายอมรับที่ผ่านมา มีบุคคลปริศนา แนะนำตัวอยู่ฝ่ายบริหาร ต่อสายตรงมาเตือน ให้ลบหรือลดความร้อนแรง แต่เขาปฏิเสธ และยืนยันที่จะถ่ายทอดความจริงที่มองว่าเป็นปัญหาสังคมต่อไป “มีผู้ใหญ่ผมก็ไม่รู้ว่าใครเหมือนกัน ทักมา เฮ้ย เพลาหน่อย หรือว่าลบได้ไหม ผมไม่เคยลบ รู้สึกว่าไม่ได้ทำร้ายใคร ไม่ได้พูดความเท็จ ผมไม่จำเป็นต้องลบ”
เขามองว่าในประเทศที่ปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ประชาชนควรมีสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะสิทธิในการพูดความจริง เพื่อนำเสนอปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และหยิบยกมาถกกันเหมือนการโต้วาที เพื่อขับเคลื่อนไปสู่สังคมที่ดีกว่า ซึ่งเชื่อว่าประชาชนทุกคนหวังให้เป็นเช่นนี้
“ผมรู้สึกว่าเราแต่ล่ะคนมีหน้าที่ ในบ้านของเราหลังนี้ บ้านหลังใหญ่ๆ เราหลังนี้ แล้วแต่ว่าใครอยากเสนอตัวทำหน้าที่อะไร ผมอาจจะเป็นเด็กคนหนึ่งที่อาจจะยืนตะโกนอยู่เฮ้ยบ้านเราไม่ได้ปิดน้ำนะเว้ย บ้านเราไม่ได้ปิดไฟนะเว้ย ก็ยังพยายามทำต่อ แต่อย่างที่บอกว่า มันก็แอบมีน้อยใจบ้าง ที่แบบว่าเฮ้ยทำไม เราพูดไม่ได้ เราอยากจะพูดเพราะว่าเราเห็นปัญหา แต่พอเราพูดไม่ได้ เสรีภาพมันหายไป มันรู้สึกอึดอัด”
ศิลปินหนุ่มทิ้งท้ายด้วยการพูดถึง ‘เสรีภาพ’ ตามความคิด ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนควรมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่มีการรุกราน และลิดรอนสิทธิของผู้อื่น
“ถ้าคนทุกคนคิดได้แบบนี้ แค่รักษาสิทธิของตนเอง ไม่ก้าวก่ายสิทธิของคนอื่น ทำในสิ่งที่ไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น”
“ผมว่าแค่นี้สังคมมันก็ดีแล้ว”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: