ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” ประกาศในวันนั้นว่า การตัดสินใจ “ตัดไฟแต่ต้นลม” ของผู้มีอำนาจ ด้วยการสังหาร “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ในทางการเมืองจะไม่ได้ดำเนินไปแบบที่ “ผู้กำกับ” ปรารถนาให้เป็น

ตอนจบของภาพยนตร์หนนี้ จะไม่เหมือนหลายหนที่ผ่านมา

สิ่งที่ผู้มีอำนาจจะได้เห็นนับแต่วันยุบพรรคอนาคตใหม่ คือปรากฏการณ์แบบ “ไฟลามทุ่ง”

ให้หลังการชุมนุมของ “คณะอนาคตใหม่” หน้าตึกไทยซัมมิท ปรากฏการณ์แบบ “ไฟลามทุ่ง” เกิดขึ้นจริง!!

เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดทั้งในรั้วมหาวิทยาลัย ไปจนถึงรั้วโรงเรียนมัธยม

เป็นปรากฏการณ์ที่มีการออกแบบกิจกรรมตามแต่ละพื้นที่ ทั้งชูแฟรชมือถือ ร้องเพลง เขียนป้ายด้วยถ้อยคำสุดสร้างสรรค์ และที่สำคัญคือการกล่าวคำปราศรัย ซึ่งสะท้อนความอัดอั้นตันใจของคนรุ่นใหม่ในเวลานี้

มีดาวปราศรัยระดับมหาวิทยาลัย ปรากฏตัวขึ้นอย่างระทึกใจ จนอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าหากดาวปราศรัยของมหาวิทยาลัยทุกแห่งรวมตัวในเวทีเดียวกันแล้ว จะเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังทางการเมือง และความคึกคักมากเพียงใด

การชุมนุมของนักศึกษา-นักเรียนเผชิญกับอุปสรรค และความพยายามในการสกัดกั้นหลายรูปแบบ ทั้งจากผู้มีอำนาจ-เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง-นักการเมืองบางพรรค และสื่อมวลชนฝ่ายขวา ที่พยายามสร้างโครงเรื่อง และเบี่ยงประเด็นแรงจูงใจของการชุมนุมไปในทิศทางที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันเบื้องสูง

เช่นการที่นายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความเห็นว่า “ขณะนี้มีการนำเรื่องหมิ่นสถาบันเข้าไปขับเคลื่อน ซึ่งต้องย้อนถามว่าทุกคนเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ขอความกรุณาอย่าทำโดยเด็ดขาด วอนทุกฝ่ายรับฟังข้อมูล และการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ขอให้ปฏิบัติตามกฎหมาย”

เช่นการที่ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาย้ำว่า “พี่น้องประชาชนคนไทยมีสิทธิเสรีภาพตามกรอบรัฐธรรมนูญ แต่การจะทำอะไรก็แล้วแต่ อยากจะให้คำนึงถึงว่าเป็นการกระทำที่กระทบสิทธิผู้หนึ่งผู้ใดหรือไม่โดยเฉพาะน้องๆ นิสิต นักเรียน นักศึกษา ผู้เป็นเยาวชน ซึ่งเป็นกำลังของชาติ ทุกท่านใช้สิทธิตามกฎหมาย ทุกท่านใช้ได้ แต่อะไรที่จะไปกระทบต่อสถาบัน ทำไม่ได้เป็นอันขาด อะไรที่สุ่มเสี่ยงกับการปฏิบัติที่ผิดกฎหมาย ทุกท่านต้องดูเอาเอง เพราะที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นอยู่แล้ว เพราะทางเจ้าหน้าที่ไม่อยากจะมาไล่ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในภายหลัง”

เช่นการที่หมอวรงค์ พรรคลุงกำนัน ตั้งข้อสังเกตว่า “การเคลื่อนไหวนอกสภาของอดีตพรรคอนาคตใหม่ ที่ใช้พลังนักศึกษานั้นคล้ายฮ่องกงโมเดล 5 ขั้นตอน คือ 1.การปลุกระดมประชาชนโดยพุ่งเป้าไปที่นักศึกษา 2.การมีเงื่อนไขคำตัดสินศาล 3.นำมาสู่การจัดแฟลชม็อบ ที่น่าเป็นห่วง 4.เมื่อมีการชุมนุมมีม็อบเกิดขึ้นห่วงความรุนแรงและ 5.เมื่อมีม็อบเกิดขึ้นแล้วก็ห่วงว่าจะเกิดความรุนแรงเช่นกัน เพราะฮ่องกงโมเดลสุดท้ายนำไปสู่รุนแรง”

เฉพาะสามความเห็นข้างต้น สะท้อนความไม่สบายใจของผู้มีอำนาจ ต่อกาน้ำของคนรุ่นใหม่ที่กำลังเดือดระอุอยู่ในเวลานี้ และสะท้อนให้เห็นความพยายามในการบิดประเด็น แรงจูงใจของการเคลื่อนไหว จากการตั้งคำถามต่อปัญหาหมักหมมที่ซุกอยู่ใต้พรมรัฐเผด็จการ ไปสู่โครงเรื่องใหม่ ที่มักใช้การได้ดีอย่างประเด็นเรื่องชังชาติ-ความหมิ่นเหม่ต่อสถาบันเบื้องสูง

กระแสข่าวตรงกันหลายทิศทางว่า ผู้มีอำนาจหวังใช้โรคระบาดในเวลานี้ เป็นเหตุหยุดยั้งไฟลามทุ่งในรั้วมหาวิทยาลัย

ขณะที่ทั้ง “ปิยบุตร-อนุดิษฐ์” ประกาศดักคอรัฐบาลทันที หลังได้กลิ่นกระแสข่าว

“ปิยบุตร แสงกนกกุล” อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ชี้ว่า การออกกฎหมายต้องคำนึงถึงความพอสมควรแก่เหตุ หรือ ความได้สัดส่วน เพราะการออกมาตรการ หรือคำสั่งที่กระทบกับเสรีภาพ ต้องทำเท่าที่จำเป็น

“สถานการณ์โรคระบาดขณะนี้น่าเป็นห่วงมาก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชน รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันอย่างรอบด้าน ให้ข้อมูลที่ครบถ้วนโปร่งใสตรงไปตรงมาต่อประชาชน และควรต้องทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอุปกรณ์และสิ่งของจำเป็นในการป้องกันโรคระบาดได้ มิใช่พุ่งเป้ามาที่การห้ามการรวมตัวของคนหมู่มากในที่ชุมนุมของนิสิตนักศึกษา

ทั้งหมดนี้ต้องกระทำด้วยความจริงใจมิใช่มีวัตถุประสงค์ซ่อนเร้น มิเช่นนั้นประชาชนย่อมมีสิทธิตั้งข้อสงสัยได้ว่าในท้ายที่สุดแล้ว การห้ามชุมนุมเป็นการใช้ประโยชน์จากสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดเพื่อจำกัดเสรีภาพการแสดงออกของนักเรียนนิสิตนักศึกษาเยาวชนหรือไม่?”

“น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เสนอต่อว่า ไม่อยากให้รัฐบาลอาศัยเงื่อนไขใดๆ มาอำพราง หรือลดทอนความตั้งใจในการนำเสนอทางออกของประเทศ ที่กำลังดำเนินไปโดยเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา

“ไม่ว่ารัฐบาลจะอาศัยเหตุผลใดก็ตาม มาสร้างเงื่อนไขเพื่อพยายามปิดกั้นการชุมนุมของประชาชนที่แสดงพลังอย่างบริสุทธ์ โดยเฉพาะนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่มีความตื่นตัวทางการเมือง กล้าตั้งคำถามต่อผู้มีอำนาจอย่างตรงไปตรงมา สนใจปัญหาต่างๆ ของประเทศอย่างจริงจัง และออกมาแสดงพลังกันทั่วทุกภูมิภาค ย่อมชัดเจนอยู่ในตัวเองว่าความพยายามในการอาศัยเงื่อนไขบางประการ มาปิดกั้นการแสดงออกซึ่งสิทธิ เสรีภาพของประชาชน กลายเป็นจุดมุ่งหมายหลักของการใช้กฎหมายนี้ มากกว่าความพยายามที่จะจัดการปัญหาตามที่รัฐบาลอ้าง”

พลังนักศึกษาที่ปรากฏตัวในเวลานี้ ไม่ได้ระอุขึ้นบนฐานความเดือดดาลที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบไปเท่านั้น แต่พวกเขาเติบโตมาภายใต้ สังคมเผด็จการยาวนานเกือบ 7 ปี ซึ่งทำให้พวกเขาได้เห็น บุคลิกลักษณะของผู้นำประเทศที่ก้าวร้าว รุนแรง ไม่ให้เกียรติประชาชน ไม่รับฟังเสียงของประชาชน ได้เห็นการออกนโยบายหรือมาตรการเอื้อผลประโยชน์กลุ่มทุนใหญ่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ชนชั้นกลาง รากหญ้าประสบปัญหาปากท้องรุนแรง พวกเขาได้เห็นรัฐบาลที่บริหารเศรษฐกิจล้มเหลว ทำให้พ่อแม่ของพวกเขาจนลง และสร้างความเหลื่อมล้ำหลากชนิด แพร่กระจายอย่างกว้างในสังคม

ปัจจัยสั่งสมเหล่านี้เอง ที่ปลุกพวกเขาให้ตั้งคำถามต่อความไม่ชอบมาพากล และตั้งธงขับไล่ผู้มีอำนาจในที่สุด

“ไฟลามทุ่ง” เกิดขึ้นจริง ในระดับที่นักศึกษาคนหนึ่งปราศรัยว่า “ไวรัสก็กลัว รัฐบาลชั่วก็ต้องไล่”

กฏหมายที่อาจออกด้วยวาระเร้น อย่างการห้ามชุมนุมในรั้วมหาวิทยาลัย-รั้วโรงเรียนมัธยม จึงทำได้อย่างมาก เพียงแค่ชะลอไฟลามทุ่งเท่านั้น ทว่าหากผู้มีอำนาจต้องการดับไฟการเมืองที่ขยายวงกว้างอยู่นี้ อาจทำได้ด้วยการพิจารณาถึงการปรับคณะรัฐมนตรี การลาออกจากตำแหน่ง การยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ไปจนถึงการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปิดปากประชาชน

มีแต่ความรับผิดชอบทางการเมืองในระดับนี้ จะหยุดยั้งไฟลามทุ่งลงได้ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า รัฐบาลประยุทธ์ ไม่มีแนวโน้มทำตามข้อเรียกร้องใดใด แม้กระทั่งการปรับคณะรัฐมนตรี เพื่อเฉือนเนื้อร้ายจำนวนหนึ่งออกไป

ทว่าในปรากฏการณ์แบบ “ไฟลามทุ่ง” ที่ต้องการเอกภาพหนุนเสริม จากพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย กลับมีประเด็นกังขาทั้ง “ดีลลับ-อภิปรายจัดฉาก-ความเป็นปึกแผ่นของพรรคฝ่ายค้าน” ซึ่งยังรอคอยคำตอบที่ชัดเจนกว่านี้ ไม่เช่นนั้น วิกฤติศรัทธา ก็จะขยายเป็นไฟลามทุ่ง ไม่ต่างจากการชุมนุมของนักศึกษาในเวลานี้

ลำพัง “อนุดิษฐ์” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ออกมาขอโทษอนาคตใหม่ เรื่องการบริหารเวลาที่ผิดพลาด และยืนยันว่า “ไม่มีทางเป็นไปได้เลย ที่เราจะไปช่วยเผด็จการ บุคลากรของเราร่วมกันต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ มาอย่างยาวนานโดยไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรคต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาตลอด เราขอแสดงความเสียใจ และต้องขอโทษอีกครั้งกับข้อผิดพลาดทั้งหมด” - ก็ไม่อาจเพียงพอ

ลำพัง “คณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย” รีบออกมาปัดไม่เกี่ยวข้องในหลายเรื่อง ทั้ง “คณะกรรมการกิจการพิเศษ มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการคัดเลือกตัวผู้อภิปราย หรือจัดสรรเวลาและควบคุมการอภิปราย รวมทั้งมิได้วางแผนว่าจะอภิปรายรัฐมนตรีท่านใดทั้งสิ้น” - ก็ไม่อาจเพียงพอ

และลำพัง การสาดความเดือดดาลไปยังพรรคร่วมรบฝ่ายเดียวกันอย่างรวดเร็ว - ก็อาจไม่ใช่วิธีการที่ดี

ทั้งหมดนี้ไม่เพียงพอต่อการเรียกศรัทธากลับคืนมา ที่จำเป็นที่สุดคือการแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ด้วยการคลี่คลายข้อสงสัยของสาธารณชนให้ได้อย่างรวดเร็ว มองหาข้อผิดพลาด ทั้งในเชิงการจัดการ ประเด็น เทคนิค วิธีการ และตัวบุคคล แถลงให้สังคมรับรู้ ติชม/แนะนำ/ลงโทษให้สมควรแก่เหตุ เมื่อรับผิดชอบอย่างจริงใจ ก็ย่อมได้รับความศรัทธากลับคืนมา

เหมือนที่ “หมอเลี๊ยบ” ออกมาเตือนเมื่อเร็วๆ นี้ ให้พรรคเพื่อไทยเร่งปฏิรูปตนเองครั้งใหญ่ และให้อดีตพรรคอนาคตใหม่ แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง สร้างยุทธศาสตร์ที่ใหญ่โตไปกว่ายุทธศาสตร์ของพรรคการเมือง นั่นคือ ยุทธศาสตร์แนวร่วมประชาธิปไตย

จะหยุดยั้งไฟลามทุ่งทั้งในสภา และนอกสภาได้

ความรับผิดชอบทางการเมืองจึงสำคัญ!!

วยาส
24Article
0Video
63Blog