น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือน พ.ย. 2562 ว่า เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 102.61 สูงขึ้นร้อยละ 0.21 ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน หลังจากชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ส.ค. 2562 ทั้งดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.47
นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นเดือน พ.ย. ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านการบริโภคที่เพิ่มขึ้น สะท้อนจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และการเพิ่มขึ้นของยอดการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายตัวเพิ่มขึ้นและส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม อุปสงค์การลงทุน อาทิ การจำหน่ายปูนซีเมนต์ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง และยอดการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ยังลดลง โดยส่วนหนึ่งน่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก และการชะลอการลงทุนของภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งชี้ว่าสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการของประเทศยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพและสอดคล้องกับการเคลื่่อนไหวของอุปทานและอุปสงค์ในตลาด
สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) สูงขึ้นร้อยละ 0.69 และเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นร้อยละ 0.53 คาดการณ์ว่าตลอดทั้งปี 2562 จะอยู่ประมาณร้อยละ 0.7-1 ซึ่งปรับค่าตามจีดีพีของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ล่าสุดแล้ว อย่างไรก็ตาม ระดับเงินเฟ้อมากที่สุดร้อยละ 0.8 แต่จะไม่ถึงร้อยละ 1
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าโดยสารสาธารณะยังทยอยปรับขึ้นโดยบางส่วนเป็นการปรับขึ้นของค่าโดยสารรถสาธารณะในกรุงเทพฯ ที่ปรับขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนต่างจังหวัดทยอยปรับขึ้น หากภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือน่าจะส่งผลดี ซึ่งในส่วนของบัตรสวัสดิแห่งรัฐ ที่มีมาตรการช่วยค่าโดยสารสาธารณะอยู่แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนมาตรการนี้ และอาจไม่ต่อให้ ทาง สนค.อยากให้ภาครัฐพิจารณาว่าจะหาทางช่วยสนับสนุนประชาชนเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ต่อไปได้อย่างไร มาตรการของรัฐที่ออกมาควรจะมีต่อเนื่องไป