ไม่พบผลการค้นหา
‘จาตุรนต์’ชี้รัฐบาลบกพร่องแก้น้ำท่วมไม่เป็นระบบ เตือนภัยอ่อนแอ เยียวยาไม่ทั่วถึง ซ้ำเติมเหลื่อมล้ำสังคมไทย ทำเกษตรกร-ผู้ประกอบการเสียหาย

วันที่ 21 ต.ค. 2565 จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ไแสดงความกังวลต่อปัญหาน้ำท่วมที่กระทบหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ทางการเกษตรจนได้รับความเสียหายและหลายชีวิตยังต้องอยู่กับน้ำนานเป็นเดือนว่า น้ำท่วมกับความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ภัยธรรมชาติบางอย่างเช่นแผ่นดินไหวที่รุนแรงอาจทำให้เกิดความเสียหายกันทั่วหน้า แต่อุทกภัยหรือภัยจากน้ำท่วมทำความเสียหายไม่เท่าเทียมแต่ทำความเดือดร้อนให้แก่คนจนมากกว่าคนรวยอย่างเทียบกันไม่ได้เลย

น้ำท่วมใหญ่แต่ละครั้งจึงซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางความมั่งคั่งและทางรายได้ของคนในสังคมไทยที่แย่เป็นอันดับต้นๆของโลกอยู่แล้ว ให้แย่ลงไปอีก

พื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมส่วนใหญ่จะเป็นที่ลุ่มหรือที่ต่ำซึ่งมักเป็นที่ที่ใช้ทำการเกษตร ถ้าเป็นชุมชนหรือตลาดก็เป็นตลาดเล็กๆเสียมากกว่า ยกเว้นบางจังหวัดที่ท่วมทั้งเมืองใหญ่ๆไปเลย ผู้ที่เดือดร้อนมากจึงได้แก่เกษตรและผู้ประกอบการหรือคนทำมาค้าขายรายเล็กรายน้อยเสียเป็นส่วนใหญ่

ตัวเลขจากกรมป้องกันภัยฯ ช่วงวันที่ 28 ก.ย. – 14 ต.ค. 2565 ก่อนและหลัง "พายุโนรู" พัดถล่มไทย ส่งผลให้ น้ำท่วมพื้นที่รวม 56 จังหวัด 297 อำเภอ 1,476 ตำบล9,165 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 394,338 ครัวเรือน

โดยข้อมูลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา

พื้นที่เพาะปลูกพืชได้รับผลกระทบ 2,196,131 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 294,412 ราย 

พื้นที่ปลูกข้าว 1,502,070 ไร่

พื้นที่ปลูกพืชไร่และพืชผัก 671,851 ไร่ 

พื้นที่ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น และอื่นๆ 22,210 ไร่

พื้นที่เลี้ยงสัตว์น้ำอีกประมาณ 120,00 ไร่

เฉพาะที่ จ.อุบลราชธานีน้ำท่วมมากถึง 19 อำเภอ มีพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายประมาณ 3 แสนไร่

ส่วนที่ จ.พระนครศรีอยุธยาซึ่งเสียหายมากที่สุด แต่กลับไม่ค่อยมีข้อมูลเป็นทางการที่ชัดเจนนัก

เวลาคำนวณความเสียหายต่อพื้นที่นาข้าวที่เสียหายหนักๆ ก็เข้าใจว่าจะใช้ตัวเลขประมาณ 6,000 บาทต่อไร่ซึ่งเป็นตัวเลขใกล้เคียงกับที่ชาวนาประเมินต้นทุนต่อไร่ แต่ข้าวกำลังราคาสูงขึ้นเป็นตันละ 8,000 บาท หรือกว่านั้น เท่ากับว่าชาวนาสูญสียไปไร่ละ กว่า 8,000 บาท แต่ชาวนาได้รับชดเชยไร่ละ 1,000 กว่าบาทเท่านั้น ความเสียหายอื่นๆอีกมากที่เกิดกับเกษตกรแต่ละครอบครัวที่ไม่ได้รับการชดเชยใดๆ

พื้นที่ที่น้ำท่วมนานๆหลายเดือนอย่างจ.พระนครศรีอยุธยา หรือเป็นเดือนๆอย่าง จ.อุบลราชธานี ความเสียหายประมาณค่ามิได้ เพราะทำมาหากินกันไม่ได้ ทรัพย์สินก็เสียหายไปมาก และได้รับการชดเชยน้อยมาก ผู้ที่ได้รับความเสียหายส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ยากจนหรือมีรายได้น้อยอยู่แล้วก็ยิ่งยากจนลง ยิ่งน้ำท่วมทุกปีอย่างอยุธยา ก็ยิ่งทำให้คนอยุธยากลายเป็นยากจนเรื้อรังและจนลงเรื่อยๆไม่สิ้นสุด

“การแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างไม่เป็นระบบทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าที่จำเป็น ระบบพยากรณ์เตือนภัยยังอ่อนแอ การบริหารจัดการผันน้ำป้องกันการท่วมหรือลดเลาน้ำท่วมก็ขลุกขลักทุลักทุเลเต็มที ปัญหาหลายส่วนจึงเกิดจากความบกพร่องของรัฐ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและความบกพร่องของรัฐจึงควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ไม่ใช่ปล่อยให้เดือดร้อนกันเป็นประจำไปตามยถากรรม” จาตุรนต์ ระบุ

น้ำท่วม 8-9BC85AAE021F.jpegจาตุรนต์ BB-FE9BA82A3C13.jpeg

จาตุรนต์ ระบุว่า นอกจากการเยียวยาให้เพียงพอมากกว่าที่เป็นอยู่และการทุ่มเทงบประมาณลงไปให้ชุมชนในพื้นที่น้ำท่วมนานๆได้ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้นแล้ว การลงทุนใช้เทคโนโลยีหรือวิธีการใหม่ก็ต้องทำโดยไม่คิดแต่เพียงความคุ้มทุนต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่นั้นๆเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึง ภาพรวมและนึกถึงปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่แย่ลงเรื่อยๆซึ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณของรัฐเข้าไปแก้ จะปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรังตลอดไปไม่ได้