วันนี้ 25 มกราคม 2568 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมคณะ พล.ต.ท. พัฒนวุธ อังคะนาวิน ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.นราธิวาส เขต 5 พรรคประชาชาติ และคณะ ได้เดินทางมาเรือนจำจังหวัดราธิวาส เพื่อร่วมกิจกรรมพบญาติอย่างใกล้ชิด ยุติธรรมนำสันติสุขด้วยรักและห่วงใย จากใจกระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ เนื่องในโอกาสวันปีใหม่ โดยมีนายสุรินทร์ จันทร์เทพ ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดนราธิวาส และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรมคอยให้การต้อนรับ
ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการจัดกิจกรรมพบญาติของผู้ต้องขังคดีความมั่นคง จำนวน 40 คน ที่ได้โยกย้ายจากเรือนจำบางขวาง มาเข้าอยู่เรือนจำ จ.นราธิวาส ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงจะเป็นคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จากกิจกรรมดังกล่าวในวันนี้ ได้พบเห็นเครือญาติของผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ได้หอบลูกหลานมาเยี่ยมและสวมกอดกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งทางเรือนจำได้มีการจัดอาหารให้ทางผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ได้รับประทานกับครอบครัวด้วยความอิ่มหนำสำราญ
ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงรายหนึ่ง ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ จ.นราธิวาส ได้เปิดเผยความในใจ พอสรุปใจความว่า หลังจากถูกรับโทษตนเองรู้สึกผิดพลาดในการกระทำที่ผ่านมา ที่ทำให้ครอบครัวและชาวบ้านเดือดร้อน จึงต้องการให้ผู้ที่เดินผิดพลาดไปแล้วในขณะนี้ สามารถที่จะหันกลับเนื้อกลับตัวและกลับใจ มันยังไม่สาย เราจะหนีหรือหลบซ่อนตัวไปทั้งชีวิตทำไม
และในโอกาสเดินทางมาครั้งนี้ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบคัมภีร์อันกุรอาน ให้กับผู้ต้องขังคดีความั่นคง นำไปศึกษาบทบัญญัติหรือคำสั่งสอนให้ถูกต้อง เพื่อที่จะได้ดำเนินชีวิตไม่ผิดพลาดซ้ำ และเมื่อพ้นโทษออกมา จะได้ทำหน้าที่การประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกภูมิลำเนา ได้ดำเนินชีวิตที่ถูกต้องและเป็นแบบอย่างที่ดีของเยาวชนต่อไป
ขณะเดียวกัน พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ตอบคำถามสื่อมวลชน ในกรณีนักกิจกรรม 9 คน ที่ถูกอัยการจังหวัดปัตตานียื่นฟ้องในคดียุยงปลุกปั่นอั้งยี่ซ่องโจร เมื่อปี 2565 ว่า ก่อนอื่นก็ต้องให้กำลังใจกับผู้ที่ถูกฟ้องไป เพราะว่าในกระบวนการยุติธรรม ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุด ก็ยังถือว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งกระบวนการนี้เป็นกระบวนการยุติธรรม ก็ต้องเรียนว่าในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย เรามีรัฐธรรมนูญรองรับ โดยอัยการเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญเหมือนศาล แล้วเขาก็จะมีอิสระในการสั่งสำนวน ซึ่งในส่วนของทั้ง 9 คนที่ถูกฟ้องไป ซึ่งถ้าเขาฟ้องข้อหาอื่นโดยที่ไม่ใช่ข้อหาเรื่องวัฒนธรรม แต่อย่างไรก็ตามเมื่ออัยการฟ้องไปแล้ว ในส่วนของกระทรวงยุติธรรมในก่อนหน้านี้ เขามีการขอความเป็นธรรม และผมก็ได้ทำหนังสือไปถึงอัยการสูงสุด แต่ทำไปเราก็รู้ถึงหน้าที่ว่าเราไม่สามารถจะไปก้าวก่ายดุลยพินิจของอัยการได้ ซึ่งโดยหลักการของรัฐธรรมนูญ จะต้องไม่ใช้กฎหมายอยู่เหนือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จะต้องไม่ใช้กฎหมายอยู่เหนือหลักนิติธรรม หรือต้องไม่ใช้กฎหมายอยู่เหนือหลักความเป็นธรรม ซึ่งอันนี้ก็เป็นกระบวนการหนึ่ง ซึ่งเราก็ยังอยากให้กำลังใจ ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องเรียนว่ามันเป็นเรื่องที่มีมายาวนาน แม้แต่ สส.ไม่ใช่พรรคใดพรรคหนึ่ง หรือคนในพื้นที่ก็ยังให้กำลังใจกับผู้ที่ถูกอัยการฟ้อง
ต่อมา พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ตอบข้อซักถามกรณีของนักกิจกรรมทั้ง 9 คน ที่ถูกฟ้องดำเนินคดี จะมีผลกระทบต่อการพูดคุยสันติภาพหรือไม่ ? ว่า เชื่อว่ามีความจริงใจว่าจะให้เกิดสันติภาพและสันติสุขขึ้นมา ซึ่งทุกสิ่งนั้นมันเป็นบททดสอบ และที่สำคัญคือรัฐบาลมีความจริงใจ เราคิดว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ และเราคิดว่าถ้าทุกคนหันหน้ามาพูดคุยกันและอยู่ในการบริหารการปกครองที่ทุกคนยอมรับได้ มันจะเป็นพื้นที่ที่เป็นโอกาสของประเทศด้วยซ้ำไป และเชื่อว่าต้องทำความเข้าใจ โดยเป้าหมายของเราต้องการให้เกิดสันติภาพและมีความสันติสุขที่ยั่งยืน