นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 เม.ย. 2563 ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ในเรื่องมาตรการดูแลและเยียวยาเศรษฐกิจระยะที่ 3 รับสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) วงเงินทั้งสิ้น 1.9 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น
1) ให้อำนาจกระทรวงการคลังออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพื่อเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ แบ่งเป็น 6 แสนล้านบาท เพื่อดูแลเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านการขยายเวลาให้เงินเยียวยาแรงงานอิสระ ลูกจ้างชั่วคราวและผู้ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมภาคบังคับ เดือนละ 5,000 บาท จากเดิมมีเวลา 3 เดือน ขยายเวลาเป็น 6 เดือน (เม.ย.-ก.ย.2563) รวมถึงการดูแลเกษตรกร และสาธารณสุข
อีกส่วนหนึ่งของเงินกู้ วงเงิน 4 แสนล้านบาท นำไปฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมผ่านโครงการดูแลเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ เศรษฐกิจชุมชน สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่ ผ่านกลไกกระทรวงมหาดไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน รวมถึงเครือข่ายพัฒนาชุมชน เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพของประชาชนในระดับชุมชนพื้นที่ให้ได้มากที่สุด
2) ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออก พ.ร.ก.ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงินทั้งสิ้น 5 แสนล้านบาท เพื่อดูแลภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 รวมถึงการให้พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) เป็นระยะเวลา 6 เดือน
3) ให้อำนาจ ธปท. ออก พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน วงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพสภาพคล่องรวมตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporated Baond Liquidity Stabilization Fund) หรือ BSF พร้อมกับให้ ธปท. ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว
"พ.ร.ก. จะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน เม.ย. นี้ และคาดจะมีเม็ดเงินออกมาในระบบภายในต้นเดือน พ.ค. เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม" นายอุตตม กล่าว
สำหรับการให้อำนาจกระทรวงการคลังออก พ.ร.ก. กู้เงินนั้น จะเป็นการกู้ในสกุลเงินบาทเป็นหลัก และได้เปิดให้สามารถกู้เป็นสกุลเงินต่างประเทศเผื่อไว้ได้ด้วย โดยกำหนดให้มีระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 30 ก.ย. 2564
"เหตุที่ให้กรอบการกู้เงินครอบคลุมไปถึงปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.2563-ก.ย.2563) เพราะในส่วนของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2564 ยังต้องมีการปรับปรุงรายการ ให้สอดคล้องกับความเป็นเพื่อรับสถานการณ์โรคระบาดด้วย อย่างไรก็ตาม ตามประมาณการปีงบประมาณ 2564 คาดว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จะอยู่ที่ร้อยละ 57 ส่วนจะมีการขยายเพดานหรือไม่ จะมีการหารือและนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังตามความเหมาะสมต่อไป แต่เนื่องจากสถานการณ์ตอนนี้ เป็นภาวะไม่ปกติ เป็นภาวะวิกฤต ดังนั้นหากจำเป็นก็จะพิจารณาขยายเพดานได้" นายอุตตม กล่าว
นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติเห็นชอบในหลักการให้สำนักงบประมาณเสอนให้จัดทำร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งจะเป็นการโอนเงินงบประมาณจากกระทรวงต่างๆ มาไว้ที่งบกลาง เพื่อดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับโควิด-19 โดยให้สำนักงบประมาณรายงานต่อครม. อีกครั้งในสัปดาห์หน้า ในเรื่องหลักเกณฑ์ หลักปฏิบัติ กระบวนการ และการขอความร่วมมือของแต่ละกระทรวงในการกันงบที่ยังไม่ผูกพัน และไม่ใช่งบประมาณจำเป็นต้องใช้มาไว้ในส่วนนี้ก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :