ไม่พบผลการค้นหา
'สมคิด' วอนอย่าใช้ความจนและเหลื่อมล้ำโจมตีทางการเมือง เชื่อใน 10 ปี เศรษฐกิจฐานรากเปลี่ยนด้วยโครงการประชารัฐสร้างไทย ด้าน 'อุตตม' เตรียมใช้ที่กรมธนารักษ์เปิดตลาดชุมชน พร้อมมาตรการจูงใจเอกชนเข้าร่วม ส่วน 'สนธิรัตน์' เตรียมใช้ B10 แทน B7 ปรับโครงสร้างราคาปาล์ม

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ร่วมกับ ธนาคารออมสิน, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ sme bank, กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมทั้งหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง จัดการประชุมรวมพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ในโครงการ 'ประชารัฐสร้างไทย' มีผู้ร่วมประชุม 2,400 คน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดโครงการพร้อมมอบนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ในประเด็น "Transform เศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" ระบุว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากด้วยแนวทางประชารัฐมี 3 เงื่อนไขสำคัญคือ 

1.)​ แต่ละชุมชนต้องรู้ข้อจำกัดของตัวเองและถ้าดำรงชีวิตอยู่อย่างพอเพียง รู้จักวางแผนและก้าวไปทีละขั้น เปรียบเสมือนลูกนกที่เริ่มโบยบินและแข็งแกร่งขึ้นมาได้

2.) ต้องมีการร่วมมือกันจากหลายภาคส่วนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง "ไม่ชกสะเปะสะปะ หรือ ต่างคนต่างชก" ซึ่งต้องดูศักยภาพชุมชนแต่ละแห่ง คำนึงถึง priority หรือจัดลำดับความสำคัญเพื่อดำเนินการร่วมกัน

3.) การ 'เสียบปลั๊ก' หรือระดมประสิทธิภาพจากหลายๆ หน่วยงานและองค์กรในกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน โดยการปล่อยสินเชื่อผ่าน ธกส. หรือสถาบันการเงินอื่นๆ ต้องไม่ได้ดูเป็นรายบุคคลแต่ดูในมิติชุมชน โดยใช้ Smart Farmer เป็นเป้าหมายหลักกับผู้มีความพร้อมและเชื่อมโยงพื้นที่หรือวิสาหกิจชุมชนและ Smart Farmer ต่างๆ 

นายสมคิด กล่าวว่า หากชุมชนสามารถผลิตสินค้าที่เหมาะสมและค้าขายออนไลน์ได้ ความเป็นอยู่ก็เปลี่ยนแปลงจาก Smart Farmer เป็น "smart วิลเลจ" หรือเป็นหมู่บ้านที่มีความรู้และทันสมัย ซึ่งจะนำไปสู่ความเป็น "Smart Nation" ในที่สุด ซึ่ง"Smart Nation" ในที่สุด โดยไม่ต้องเริ่มจาก"Smart City" ส่วน Startup คนไทย ไม่จำเป็นต้องเป็น "Startup ไฮเทค" ที่ไปเป็นแรงงานในเมือง แต่สามารถเป็น startup ที่ช่วยการท่องเที่ยวชุมชนได้ 

นายสมคิด ยืนยันว่า ความยากจนและความเหลื่อมล้ำไม่ใช่เรื่องใหม่และไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลใดทั้งสิ้น เพราะเป็นปัญหาของทุกประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ไขอย่างจริงจัง แต่ในบางประเทศมีการใช้ความจนและความเหลื่อมล้ำ เป็นอาวุธทางการเมืองสร้างความแตกแยก ชอบบอกว่าชนชั้นบนไม่สนใจหรือทอดทิ้งชนชั้นล่าง ทั้งที่ไม่ควรนำเรื่องนี้มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อเอาชนะฝ่ายตรง เพราะจะทำให้ทุกอย่างเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ฉาบฉวยและเอาตัวรอดหรือแค่หาเสียงเท่านั้น โดยที่ปัญหาจริงๆ ไม่ได้รับการแก้ไข

นายสมคิด ยังระบุด้วยว่า ต้องพัฒนาธุรกิจขนาดใหญ่และเศรษฐกิจชุมชนคู่ขนานกันไป แต่ประเทศไทยมีคนตาฟางและหูตึงเยอะ เมื่อทำ 2 แพร่งไปพร้อมกัน ก็บอกว่ารัฐบาลทอดทิ้งคนจน ขณะที่รัฐบาลนี้ดำเนินการผ่าน 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' ที่จะทำให้พื้นฐานของมนุษย์อย่างเป็นมนุษย์อยู่ โดยครอบคลุมการประกันชีวิตและอุบัติเหตุ รวมทั้งครอบคลุมทั้งโรคไตและมะเร็ง ซึ่งมากกว่า "โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค" ที่รักษาจริงๆไม่ได้ทุกโรค 

อย่างไรก็ตาม "โครงการประชารัฐสร้างไทย" นี้ แม้มีการคิดและพยายามจะทำ แต่หากไม่มีความร่วมมือ หรือมีแต่เสียงด่าใน Social Media ก็จะเป็นตัวบั่นทอนจิตใจคนที่จะมาช่วยทำงาน แต่ขอให้ทุกคนมีความตั้งใจสร้างความเปลี่ยนแปลง ที่ไม่ใช่แค่ปรับปรุงและต้องใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี จากนั้นชีวิตของฐานรากก็จะเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นที่มาที่ไปของโครงการประชารัฐสร้างไทยนี้

'อุตตม' เตรียมใช้ที่ดินกรมธนารักษ์เปิดตลาดชุมชน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวมอบนโยบาย "การบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน" ว่า นอกจากธนาคารของรัฐ ช่วยขับเคลื่อนแล้ว ต้องใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะดิจิทัล ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากชุมชนท้อง ส่งความช่วยเหลือทางการเงินให้ตรงเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ ทั้งมีความรัดกุมและใช้ต้นทุนต่ำ ซึ่งต้องมีระบบโลจิสติกส์และที่รวมศูนย์สินค้าชุมชนด้วย โดยจะนำข้อมูลจริงจากการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14.6 ล้านคน ทั้งข้อมูลร้านค้าชุมชนในระบบ, ความถี่การซื้อและประเภทสินค้า เพื่อวางแผนสนับสนุนการสร้างวิสาหกิจและธุรกิจชุมชน

นายอุตตม ระบุด้วยว่า กระทรวงการคลังโดยกรมธนารักษ์ ได้ร่วมกับ ธกส.และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีแผนใช้ที่ดินกรมธนารักษ์ที่เหมาะสม เปิดตลาดให้ชุมชนค้าขาย ให้ธนาคารรัฐมาปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ และจำเป็นต้องเชิญให้เอกชนเข้ามาร่วม โดยมีมาตรทางการคลังสร้างแรงจูงใจเอกชนในเบื้องต้นด้วย ซึ่งการผนึกกำลังกันได้ จะไม่ใช่แค่ประเทศหลุดจาก "กับดักรายได้ปานกลาง" แต่จะเป็นการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์และคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ

'สนธิรัตน์' เตรียมใช้ B10 แทน B7 ปรับโครงสร้างราคาปาล์ม

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มอบนโยบายถึง "การเพิ่มขีดความสามารถชุมชนด้วยพลังงานชุมชน" ว่า ต้องมีการบูรณาการ ขณะที่กระทรวงพลังงานในอดีต จัดการพลังงานเพื่อความมั่นคง ให้มีมากพอที่จะใช้ ดังนั้นความมั่งคั่ง จึงกระจุกกับผู้ประกอบการด้านพลังงานซึ่งเป็นองค์กรและเอกชนขนาดใหญ่ แต่ยุคนี้จะมุ่งสร้างให้พลังงานเป็นของคนทุกคน เปลี่ยนจากผู้ซื้อบริการมาเป็นผู้ผลิต ให้โอกาสผลิตไฟฟ้าชุมชน, เอาวัตถุดิบทางการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพหรือชีวมวล ตลอดจนพลังงานน้ำ รวมถึงแสงอาทิตย์มาสร้างพลังงานที่ทำให้เกิดรายได้ด้วย 

ขณะเดียวกัน มีการใช้สถานีบริการน้ำมัน ปตท.และบางจาก โดยร่วมกับ ธกส.และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ใช้พื้นที่เป็นตลาดและศูนย์กลางจำหน่ายสินค้าชุมชน ซึ่งในปั้ม ปตท.บางแห่งเริ่มต้นดำเนินการแล้ว

นายสนธิรัตน์ เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน เตรียมการแก้ปัญหาปาล์มน้ำมันของไทยที่ตกค้างมา 30-40 ปีไม่เคยแก้ไขได้ โดยจะประกาศปรับโครงสร้าง ไบโอดีเซล ในการสนับสนุนราคาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เปลี่ยน B7 ยกระดับเป็น B10 ซึ่งวันที่ 1 มกราคม 2563 จะเปลี่ยนฐานไบโอดีเซลของประเทศไทย 3 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเกินประมาณ 3 แสนตัน ซึ่งหากใช้ B10 เติมน้ำมันพื้นฐาน จะทำให้สต็อกปาล์มน้ำมัน ของไทยเกิดความสมดุลระหว่างการผลิตกับการใช้ในประเทศ หากจัดการการลักลอบได้ เสถียรภาพด้านราคาปาล์มน้ำมันจะถูกจัดการอย่างแท้จริง ซึ่งจะนำไปสู่อีก 2 พืชเศรษฐกิจสำคัญที่จะเป็นองค์ประกอบของ "เอทานอล" คือ มันสำปะหลังและอ้อยในอนาคตอันใกล้