ประเทศอินโดนีเซียมีการเปลี่ยนผ่านจากระบอบอำนาจนิยมมาสู่ประชาธิปไตยหลังการลาออกของประธานาธิบดีซูฮาร์โตเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 1998 วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 1997 ที่มีจุดเริ่มต้นในประเทศไทยและลุกลามกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจของอินโดนีเซียเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การสิ้นสุดอำนาจของซูฮาร์โตและการล่มสลายของยุคระเบียบใหม่ แต่เราต้องไม่ลืมบทบาทของขบวนการนักศึกษาอินโดนีเซียที่เป็นหัวหอกในการเคลื่อนไหวประท้วงซูฮาร์โตซึ่งเป็นอีกพลังหนึ่งที่ทำให้ซูฮาร์โตสิ้นอำนาจลง และการเคลื่อนไหวในช่วงปี 1997-1998 ก็ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแรก ครั้งเดียว และครั้งสุดท้าย หากทว่าขบวนการนักศึกษาอินโดนีเซียถือกำเนิดก่อนประเทศอินโดนีเซียและไม่เคยตายจนทุกวันนี้ ประวัติศาสตร์ชาติอินโดนีเซียไม่เคยปราศจากบทบาทของขบวนการนักศึกษา และทุกครั้งที่เกิดวิกฤตต่างๆ ของประเทศ ประชาชนจะตั้งคำถามเสมอว่า “นักศึกษาอยู่ไหน?”
นักศึกษาอินโดนีเซีย เป็นกลุ่มที่เป็นผลผลิตของยุคอาณานิคม การนำเอาการศึกษาแบบตะวันตกเข้ามาในดินแดนดัชต์อีสอินดีช (ชื่อเก่าของประเทศอินโดนีเซียช่วงที่ถูกเนเธอร์แลนด์ยึดครองเป็นอาณานิคม) โดยเจ้าอาณานิคมทำให้เกิดกลุ่มนักเรียนนักศึกษาขึ้น ซึ่งต่อมาเป็นผู้ที่มีบทบาทในขบวนการชาตินิยม และเรียกร้องเอกราชจากเนเธอร์แลนด์
หลังการเป็นเอกราชของอินโดนีเซียในปี 1945 นักศึกษาเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญทางการเมือง ในช่วงที่เกิดความวุ่นวายทางการเมืองจนนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประธานาธิบดีซูการ์โน กองทัพ และพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย จนความขัดแย้งดำเนินไปสู่จุดสูงสุดในความพยายามทำรัฐประหารวันที่ 30 กันยายน 1965 ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลัง ขบวนการนักศึกษาได้แสดงจุดยืนแข็งกร้าวให้ยุบพรรคคอมมิวนิสต์ พร้อมๆ กับสนับสนุนซูฮาร์โตเป็นประธานาธิบดี
เมื่อซูฮาร์โตเริ่มออกลายว่าต้องการสืบทอดอำนาจและมีการคอร์รัปชั่นเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง นักศึกษาก็เป็นกลุ่มแรกที่แสดงท่าทีไม่เห็นด้วย การเคลื่อนไหวต่อต้านยุคระเบียบใหม่ครั้งแรกของขบวนการนักศึกษาคือการรณรงค์ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในปี 1971 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของยุคระเบียบใหม่ นักศึกษามองว่าการเลือกตั้งดังกล่าวเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตามซูฮาร์โตก็ชนะการเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีต่อ
หลังจากนั้นขบวนการนักศึกษาได้เคลื่อนไหวประท้วงทุนนิยมญี่ปุ่นในปี 1974 มองว่าอินโดนีเซียตกเป็นอาณานิคมทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจากบทบาทการลงทุนของญี่ปุ่นในอินโดนีเซีย นอกจากนั้นนักศึกษายังออกมาเคลื่อนไหวประท้วงทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะถูกปราบปรามอย่างหนักสักเพียงใด รัฐบาลซูฮาร์โตพยายามใช้ทุกวิถีทางเพื่อปราบปรามการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ตั้งแต่ออกกฎหมายห้ามนักศึกษาชุมนุมนอกรั้วมหาวิทยาลัย ออกกฎหมายแทรกแซงองค์การนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ไปจนถึงข่มขู่คุกคามอุ้มหายผู้นำนักศึกษา แต่มาตรการต่างๆ ไม่เป็นผลสำเร็จ ไม่สามารถหยุดยั้งนักศึกษาได้ เมื่อมหาวิทยาลัยหลักๆ ที่จาการ์ตาถูกจับตาใกล้ชิด ศูนย์กลางของการประท้วงก็ย้ายไปที่เมืองอื่นแทน เมื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยรัฐบาลถูกปราบปรามหนัก นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเอกชนก็ออกมาเคลื่อนไหวแทนที่ เมื่อผู้นำนักศึกษาถูกข่มขู่ นักศึกษาก็ดำเนินการประท้วงโดยไม่เน้นแกนนำ แกนนำเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ยากขึ้นในการระบุตัวแกนนำ
การเคลื่อนไหวโดยไม่เคยหยุดของขบวนการนักศึกษาจากรุ่นสู่รุ่นก็ไปถึงจุดสูงสุดในปี 1997-1998 การประท้วงซูฮาร์โตเป็นวาระแห่งชาติในขณะนั้น ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ การคอรัปชั่นในทุกระดับของราชการ และความฟอนเฟะของกองทัพในการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองทำให้นักศึกษามีเป้าหมายร่วมกันในการประท้วง มีศัตรูเดียวกัน การต่อสู้จึงมีทิศทางและทรงพลัง แต่พลันที่ซูฮาร์โตลาออกได้เกิดการแตกแยกทางความคิดในหมู่นักศึกษาทันที มีทั้งกลุ่มที่คิดว่าพอแล้ว เลิกประท้วง การลาออกของซูฮาร์โตถือเป็นชัยชนะแล้ว ในขณะที่มีนักศึกษากลุ่มอื่นๆ เห็นว่าต้องประท้วงต่อไป การลาออกของซูฮาร์โตคนเดียวไม่ได้หมายความว่าระบอบระเบียบใหม่ได้ถูกขุดรากถอนโคนไปด้วย ดังนั้นการเคลื่อนไหวของนักศึกษาหลังจากนั้นจึงเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่สามารถรวบรวมหลายกลุ่มหลายฝ่ายหลายสถาบันเฉกเช่นตอนโค่นซูฮาร์โตได้อีก เพราะขาดวาระที่ทุกกลุ่มเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นปัญหาร่วมกัน แต่นักศึกษาออกมาเสมอเมื่อเกิดปัญหาที่กลุ่มนักศึกษาเห็นว่าสำคัญ เช่น การขึ้นราคาพลังงานเชื้อเพลิง การเลือกตั้งท้องถิ่น หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
จนกระทั่งในช่วงปลายปีที่แล้วมีการเคลื่อนไหวของนักศึกษาอินโดนีเซียที่รวมตัวกันครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อประท้วงการแก้ไขกฎหมายหลายข้อที่พวกนักศึกษาเห็นว่าไม่เป็นธรรม ที่สำคัญคือกฎหมายที่ลดบทบาทขององค์กรปราบปรามการทุจริต องค์กรนี้ถือว่าเป็นผลผลิตของการปฏิรูปทางการเมืองอย่างแท้จริง และการทำงานก่อนหน้านี้เป็นที่ยอมรับของประชาชนในการจัดการกับกรณีการทุจริตโดยเฉพาะบรรดานักการเมืองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นอกจากเรื่องกฎหมายแล้วนักศึกษายังประท้วงการปราบปรามผู้ชุมนุมเรียกร้องเอกราชในปาปัว และการเคลื่อนไหวของนักศึกษายังสะท้อนความผิดหวังต่อการบริหารประเทศของประธานาธิบดีโจโก วีโดโดในสมัยที่สองที่พวกเขามองว่าเป็นความเสื่อมถอยของการปฏิรูปที่เคยดำเนินมาดีแล้วและจะฉุดดึงให้กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในอินโดนีเซียถอยหลัง
การออกมาเคลื่อนไหวของนักศึกษาเป็นประจักษ์พยานว่าขบวนการนักศึกษายังอยู่และยังคงพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อความถูกต้อง และบทบาทของนักศึกษาดังกล่าวนับเป็นการรวมตัวกันโดยมีเป้าหมายร่วมกันของขบวนการนักศึกษาที่ใหญ่ที่สุดหลังการลาออกของซูฮาร์โต
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซียถือว่าเป็นประเทศที่การพัฒนาประชาธิปไตยดีที่สุด มีการปฏิรูปโครงสร้างและองค์กรทางการเมืองเพื่อป้องกันการกลับไปสู่ระบอบอำนาจนิยมและไม่เคยมีการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ยังเกิดปัญหาที่นำไปสู่การออกมาสู่ถนนของบรรดานักเรียนนักศึกษาได้ นับประสาอะไรกับประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ ที่ระบบกลไกการทำงานทุกภาคส่วนของการบริหารประเทศล้วนเอื้อให้กับการครองอำนาจของกลุ่มเผด็จการ