ไม่พบผลการค้นหา
แบงก์ชาติชี้การชำระเงินดิจิทัลโตพรวดร้อยละ 89 ขณะตัวเลขธุรกรรมออฟไลน์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยตัวเลขการใช้งานระบบชำระเงินดิจิทัลของคนไทย ในงานเสวนา 'ก้าวต่อไปของระบบการชำระเงินดิจิทัล' (Digital Payment) ว่า ภาพรวมการใช้งานระบบชำระเงินดิจิทัล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีตัวเลขการใช้งานอยู่ที่ 5,868 ล้านรายการ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 89 จากยอดการใช้งานในปี 2559 หากนำมาคิดเป็นต่อรายครั้งและรายบุคคล พบว่า ปัจจุบันมียอดการใช้งานอยู่ที่ 89 ครั้งต่อคนต่อปี ขณะที่ปี 2559 มีการใช้งานต่อคนต่อปีอยู่เพียง 49 ครั้งต่อคนต่อปี

อย่างไรก็ตาม ยอดการใช้งานของคนไทยยังคงตามหลังประเทศในภูมิภาคเดียวกันอย่างสิงคโปร์ที่มียอดการใช้งานอยู่ที่ 779 ครั้งต่อคนต่อปี อยู่อีกมาก

นายวิรไทด้วยกล่าวว่า สำหรับการใช้งานพร้อมเพย์ ปัจจุบันมีการลงทะเบียนรวมทั้งหมด 46.5 ล้านเลขหมาย โดยแบ่งเป็นการลงทะเบียนด้วยเลขบัตรประชาชน 29.3 ล้านเลขหมาย เบอร์โทรศัพท์มือถือ 16.8 ล้านเลขหมาย นิติบุคคล 71,000 เลขหมาย และไอดีประเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ 304,000 เลขหมาย โดยมีปริมาณการใช้เฉลี่ยต่อวันที่ 4.5 ล้านรายการ ขณะที่มีมูลค่าเฉลี่ยต่อรายการที่ 5,000 บาท ในปี 2561 ยอดการใช้งานพร้อมเพย์เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อเดือน

ด้านการใช้งานธุรกรรมต่างๆ กับธนาคารผ่านอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือมีจำนวนบัญชีใช้งานอยู่ที่ 27.8 และ 47 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจากเดิม 14.6 และ 21 ล้านบัญชีในปี 2559 ตามลำดับ

นายวิรไท ย้ำว่าปริมาณการเติบโตของการใช้งานธุรกรรมทางธนาคารผ่านโทรศัพท์มีการเติบโตถึงร้อยละ 116 ต่อปี ในช่วงปี 2559 - 2561 

สำหรับบัตรชำระเงิน ในไตรมาส 3/2561 มีตัวเลขจำนวนบัตรเครดิต เดบิต เอทีเอ็ม เท่ากับ 64.9 21.9 และ 17.5 ล้านบัตร ตามลำดับ โดยยอดการใช้งานบัตรเครดิตและเดบิตทางออนไลน์ระหว่างไตรมาส 3/2559 จนถึง ไตรมาส 3/2561 โตขึ้นถึงร้อยละ 155 และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 

ขณะเดียวกัน ตัวเลขการโอนเงินผ่านสาขา เอทีเอ็ม และเช็ค ลดลงร้อยละ 30 34 และ 6.6-6.7 ต่อปี ตามลำดับ อีกทั้ง ในปี 2561 ยังเป็นครั้งแรกที่มียอดการถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็มลดลง

นายวิรไทย้ำชัดว่า ตัวเลขการเติบโตของธุรกรรมทางออนไลน์และตัวเลขการลดลงของธุรกรรมทางออฟไลน์เป็นเครื่องยืนยันความสำคัญของแผนพัฒนาการชำระเงินดิจิทัล


"นี่เป็นการลดต้นทุนให้กับทุกภาคส่วนและเพิ่มโอกาสจากโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้" นายวิรไท กล่าว

ปัจจุบันธปท. กำลังพัฒนาแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562 - 2564) ซึ่งจะมุ่งสร้างระบบนิเวศน์ในการชำระเงินดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ราคาถูก และตรงความต้องการของผู้ใช้ทั้งประชาชน ธุรกิจการค้าอิเล็กทรอนิกส์ และการค้าขายออนไลน์ โดยเน้นการพัฒนา 5 ด้านคือ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินให้ได้มาตรฐานพร้อมเชื่อมโยง (2) การส่งเสริมนวัตกรรมและบริการชำระเงิน (3) การส่งเสริมการเข้าถึงและใช้บริการชำระเงิน (4) การกำกับดูแลและบริหารความเสี่ยง (5) การพัฒนาข้อมูลชำระเงิน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไร้เงินสดกำลังคืบคลานเข้ามาด้วยอัตราเร่ง ประชาชนต้องตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นเพื่อไม่ให้ตกไปเป็นกลุ่มตามเทคโนโลยีไม่ทันแต่ควรศึกษาหาความรู้ให้ชัดเจนและถี่ถ้วนก่อนใช้งาน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐฯ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อพาประเทศก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง