ไม่พบผลการค้นหา
"ถึงเวลาแล้วที่ต้องทำให้การทำแท้งไม่ใช้อาชญากรรม และเราต้องหยุดส่งผู้หญิงกลุ่มนี้เข้าคุกเสียที"

กระแสการพูดถึงประเด็น 'ทำแท้งถูกกฎหมาย' กลับมาอีกครั้งหลังจากที่ศาลสูงสหรัฐฯ มีคำพิพากษาล้มล้างคำพิพากษาคดีในอดีตเมื่อราว 50 ปีที่แล้วที่เคยตัดสินไว้ว่า "การทำแท้งไม่ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย" สามารถทำได้ในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ตามสิทธิ์ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งล่าสุด CNN ได้รายงานอ้างอิงกรณีการทำแท้งในฟิลิปปินส์ว่ากำลังเป็นปัญหาที่น่ากังวลอย่างยิ่ง

งานวิจัยจาก PINSAN เปิดเผยว่าในปี 2563 ปีเดียว ผู้หญิงชาวฟิลิปปินส์ตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์อย่างผิดกฎหมายมากถึง 1.26 ล้านครั้ง นำความเสี่ยงต่อสุขภาพและชีวิตมาสู่ผู้หญิงจำนวนมากทั่วทั้งประเทศ ขณะเดียวกันตัวเลขจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ก็ชี้ไปในแนวทางเดียวกันว่า ในแต่ละปีอาจมีการทำแท้งมากกว่า 1.1 ล้านครั้งเลยทีเดียว 

คลารา ริตา พาดิลลา ทนายความและโฆษกของเครือข่ายยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยของฟิลิปปินส์ Philippine Safe Abortion Advocacy Network (PINSAN) ชี้ว่า แม้ทางกฎหมายจะมีการตีความเรื่องการทำแท้งที่ก้าวหน้าอยู่บ้าง แต่ฟิลิปปินส์ไม่เคยมี "ข้อยกเว้นที่ชัดเจน" สำหรับการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์อย่างการถูกข่มขืน การตั้งครรภ์จากการมีเพศสัมพันธ์กับคนในครอบครัว หรือแม้กระทั่งการทำแท้งเพื่อรักษาชีวิตหญิงตั้งครรภ์เอาไว้ก็ตาม

"ผู้หญิงยากจนและชนกลุ่มน้อยในสังคมต้องทนทุกข์ทรมาณจากสภาพดังกล่าวมากที่สุด"

พาดิลลาชี้ว่า หญิงส่วนใหญ่ที่เข้ารับการทำแท้งผิดกฎหมายคือกลุ่มอายุต่ำกว่า 25 ปี และมาจากครอบครัวที่ยากจน ในสถานการณ์ที่การทำแท้งผิดกฎหมาย ไม่มีบริการทางสาธารณสุขที่กฎหมายรองรับ หญิงเหล่านี้ขาดตัวเลือกในชีวิตและต้องพึ่งทางเลือกเดียวที่มีอยู่อย่างการทำแท้งที่ "คลินิกใต้ดิน" ซึ่งอันตรายต่อสุขภาพและอาจมีผลเสียถึงชีวิต

นอกจากความเชื่อทางศาสนาแล้ว ความยากจนคือหนึ่งในสาเหตุหลักของปัญหา ปัจจุบันหญิงฟิลิปปินส์จำนวนไม่น้อยเข้าไม่ถึงบริการคุมกำเนิด 'คริสตี' (นามสมมติ) กล่าวกับ CNN ว่า สามีของเธอไม่เคยใช้ถุงยางอนามัย และเธอเองก็ไม่เคยเข้าถึงยาคุมกำเนิดทุกรูปแบบ เธอนึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าเธอจะต้องมีภาระเพิ่มเท่าใดหากต้องเสียเงินเพิ่มไปกับการคุมกำเนิด เมื่อมีการตั้งครรภ์ไม่พร้อมเกิดขึ้น เธอเลือกไปคลินิกเพื่อจ่ายเงินราว 350 บาท สำหรับบริการทำแท้งเถื่อนที่เธอเรียกว่า "การนวดเพื่อรักษา" แทน

นักเคลื่อนไหวและพรรคฝ่ายค้านต่างมองว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการแก้กฎหมายที่ล้าหลัง เพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้หญิงจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับประสบการณ์เสี่ยงตายทุกครั้งที่เข้ารับบริการทำแท้งเถื่อน กฎต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีแต่นำพาสังคมไปสู่ "การทำแท้งผิดกฎหมายที่อันตรายแบบเงียบๆ ต่อไป" ผู้นำฝ่ายค้านคนใหม่ระบุด้วยว่า "ถึงเวลาแล้วที่ต้องทำให้การทำแท้งไม่ใช้อาชญากรรม และเราต้องหยุดส่งผู้หญิงกลุ่มนี้เข้าคุกเสียที"