ไม่พบผลการค้นหา
“ไพบูลย์” ยื่นญัตติด่วนให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีการลงชื้อซ้ำซ้อนใน 4 ญัตติแก้ รธน.ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วย รงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ แถลงข่าวขอเสนอญัตติด่วนให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตาม มาตรา 210(2) ของรัฐธรรมนูญ กรณี มีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไข เพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256(1) หลังได้ตรวจสอบพบกรณี มีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256(1) 

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 พรรคร่วมฝ่ายค้านได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 4 ฉบับ ยื่นต่อประธานรัฐสภา ตามมาตรา 256(1) ของรัฐธรรมนูญ เพื่อบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของรัฐสภา ซึ่งตรวจพบว่าส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร พรรคร่วมฝ่ายค้านผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 256(1) ของรัฐธรรมนูญ จำนวน 1 ฉบับ ตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค. 2563 ซึ่งประธานรัฐสภาได้สั่งบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาแล้ว ดังนั้นจึงมีปัญหาทางข้อกฎหมายเกี่ยวกับเจตนารมณ์ ภายใต้บังคับของรัฐธรรมนูญมาตรา 256(1) ที่ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรมีอำนาจลงนามเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้คราวละหนึ่งฉบับหรือลงนามเสนอได้คราวละหลายฉบับ 

ทั้งนี้ เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 4 ฉบับมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563 ฉบับลงวันที่ 29 มกราคม 2563 เรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎรเสนอความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 77 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแก่รัฐธรรมนูญซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำสั่งหน้าที่ 4 ว่า “เมื่อตรวจสอบคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า ประเด็นที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นประเด็นเดียวกันกับเรื่องพิจารณาที่ 3/2563 

ซึ่งมีลายมือชื่อของสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรผู้เสนอความเห็นซ้ำกับเรื่องดังกล่าว จำนวน 30 คน จึงทำให้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เข้าชื่อเสนอความเห็นตามคำร้องนี้มีจำนวนไม่ถึงหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (จำนวน 75 คน) กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148วรรคหนึ่ง (1)” ย่อมหมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการลงลายมือชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เสนอความเห็นลงลายมือชื่อได้คำร้องเดียวเท่านั้น จะมีลายมือชื่อเป็นผู้เสนอความเห็นซํ้ากันในคำร้องอื่นไม่ได้

นอกจากนี้ ไพบูลย์ ยังมีข้อโต้แย้งว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคร่วมฝ่ายค้านฉบับแรก เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมทั้งฉบับยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 ซึ่งมีผลร่างฯ ฉบับแรกให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทุกมาตราในหมวด 3 ถึงบทเฉพาะกาล ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเดิมอีก 4 ฉบับ ให้แก้ไขมาตรา 270 มาตรา 271 มาตรา 279 มาตรา 159 และมาตรา 272 จึงซํ้ากับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับแรก 

ข้อโต้แย้งอีกประการ หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรมีอำนาจลงนามเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้คราวละหลายฉบับ เช่นในคราวนี้ 4 ฉบับและต่อไปก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งจะสร้างปัญหาให้การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผยซึ่งสมาชิกรัฐสภามีจำนวน 750 คน จะต้องใช้เวลาเรียกชื่อและลงคะแนนญัตติละหลายชั่วโมง ซึ่งหากออกเสียงลงคะแนนหลายญัตติอาจจะใช้เวลาทั้งวัน และข้อโต้แย้งอีกประการหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญที่บังคับใช้มีฉบับเดียวเหตุใดสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรผู้นั้น

จึงไม่เสนอให้แก้ไขทุกมาตราที่ต้องการจะแก้ไขในฉบับเดียวกัน แต่ใช้วิธีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับละมาตรา แต่เสนอหลายฉบับในคราวเดียวกัน จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาที่เกิดขึ้นแล้วในกรณีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256(1) จะมีอำนาจในการลงลายมือเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมคราวละหลายฉบับได้หรือไม่ จึงเป็นปัญหาการใช้อำนาจตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 256(1) ซึ่งเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อรักษาหลักการแห่งรัฐธรรมนูญ