สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของไทยจับกุมตัว นินส่าผิ่ว หญิงวัย 38 ปีพร้อมลูกสาววัย 11 ปี และลูกชายวัย 11 เดือน ที่จ.เชียงใหม่ โดยนินส่าผิ่วเป็นภรรยาของนายพลทุนเมียตเมียตหน่ายง์ ผู้บัญชาการกองทัพอาระกันวัย 41 ปี ซึ่งกำลังสู้รบกับกองทัพเมียนมาในรัฐยะไข่
เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า ภรรยาและลูกของผบ.กองทัพอาระกันถูกตั้งข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวเดินทางออกไปนอกและเข้ามาในราชอาณาจักร โดยไม่ผ่านช่องทาง จุดตรวจด่านตรวจคนเข้าเมือง เขตท่าสถานี หรือท้องที่ และตามกำหนดเวลา และเป็นบุคคลต่างด้าวเดินทางเข้ามา และอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และถูกนำตัวไปคุมขังไว้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอ.แม่สาย จ. เชียงราย
สำนักข่าวบางกอกโพสต์รายงานว่า พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร.ระบุว่า ขณะนี้ ทางการไทยกำลังอยู่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนว่าจะมีการส่งตัวกลับประเทศหรือไม่ ซึ่งไทยก็มีกระบวนการตรวจสอบว่า พวกเขามีหลายจับจากประเทศอื่นหรือไม่ และด้วยเหตุผลอะไร แต่ขณะนี้กระบวนการยังดำเนินการไปไม่ถึงขั้นนั้น
ญีญีลวิน หัวหน้าศูนย์ข้อมูลอาระกันกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า พวกเขาไม่ควรถูกจับกุมและส่งตัวพวกเขาไปให้ทางการเมียนมา เพราะเธอจะถูกจับกุม คุมขังและดำเนินคดีในเมียนมาอย่างแน่นอน การจับกุมภรรยาของนายพลทุนเมียตหน่ายง์ไม่ใช่เรื่องที่ดี และจะยิ่งสร้างความขัดแย้งระหว่างคนในยะไข่ รัฐบาลเมียนมา และกองทัพเมียนมา และความขัดแย้งจะดำเนินต่อไปไม่สิ้นสุด
ด้านแมทธิว สมิธ ผู้อำนวยการบริหารของฟอร์ติฟายไรท์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า แรงกดดันจากนานาชาติจะช่วยสร้างความแตกต่างได้ว่า การได้รับอิสรภาพกับการถูกคุมขังและดำเนินคดีในเรือนจำเมียนมา เป็นเรื่องสำคัญมากที่รัฐบาลจะก้าวขึ้นมาและต้อนรับให้ทั้งสามคนได้ตั้งถิ่นฐานใหม่
รัฐยะไข่ หรือรัฐอาระกันได้รับความสนใจจากทั่วโลก หลังกองทัพเมียนมาเข้าปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญา จนมีคนลี้ภัยไปยังบังกลาเทศประมาณ 730,000 คนในปี 2017 และเมื่อไม่นานมานี้ พลเรือนจำนวนมากก็ต้องอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งอีกครั้ง แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างกองทัพเมียนมาและกองทัพอาระกัน กองกำลังติดอาวุธชาวพุทธในยะไข่ ซึ่งทางการเมียนมาระบุว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย
เมื่อก.ค.ที่ผ่านมา สิงคโปร์เพิ่งจะจับกุมคนสัญชาติเมียนมากลุ่มหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับกองทัพอาระกันไปให้ทางการเมียนมา โดยระบุว่า การเคลื่อนไหวของพวกเขาก่อให้เกิด "ความกังวลด้านความปลอดภัย"