ไม่พบผลการค้นหา
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ยันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่กระทบคนไทยกว่าร้อยละ 99 ขอประชาชนเข้าใจ อย่าตื่นตระหนก ส่วนการตีความที่ดินทางการเกษตรขอให้รอประกาศร่วมมหาดไทย-คลังก่อน คาดชัดเจนภายใน ม.ค. 63 ส่วนใครจะปลูกมะนาวก็เป็นสิทธิเจ้าของที่ดินกระทำได้ หากไม่กระทบผังเมือง

เรียกว่าใกล้เข้ามาแล้วสำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เพียงแต่เลื่อนจ่ายภาษีออกไปไม่เกินเดือน ส.ค. จากเดือน เม.ย. 2563 หรือเลื่อนออกไปประมาณ 4 เดือน เพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นได้มีระยะเวลาเตรียมสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สิน ก่อนแจ้งไปยังผู้ถือครองให้มาชำระภาษี ซึ่งในวันนี้ (20 ธ.ค. 2563) ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 โดยมีผู้แทนจากกรมธนารักษ์ กรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต เมืองพัทยา เทศบาลนคร เทศบาลเมือง ร่วมทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนที่ทุกฝ่ายจะเร่งเดินหน้าตามกระบวนการของกฎหมาย

เร่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อสถ.) กล่าวว่า ตั้งแต่ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2562 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่างๆ เพื่อให้ประชาชนและผู้ปฏิบัติเกิดความเข้าใจตรงกัน โดยในส่วนของกรมได้มีการจัดประชุมชี้แจงมาแล้วกว่า 33 รุ่น เนื่องจากยอมรับว่าผู้ปฏิบัติทั่วประเทศขณะนี้ยังมีความไม่เต็มร้อย

จากที่ผ่านมาได้เห็นข้อขัดแย้งในแนวทางปฏิบัติบางประการที่จะสรุปรวบรวมเสนอต่อกรรมการวินิจฉัยต่อไป ยกตัวอย่าง ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครที่ได้รับการแจ้งจากเขต เรื่องการสำรวจแปลงที่ดิน ทรัพย์สินของประชาชนหลายส่วนถูกจัดเข้าไปอยู่ในประเภทอื่นๆ ซึ่งมีการคิดคำนวณภาษีร้อยละ 0.3 หรือล้านละ 3,000 บาท แตกต่างจากที่อยู่อาศัยจริงแม้จะเป็นบ้านหลังที่ 2 ก็จะการคำนวณอัตราภาษีที่ร้อยละ 0.02 หรือล้านละ 200 บาท

ตรงนี้จึงทำให้ประชาชนตื่นตระหนก จึงเรียนว่า เรื่องนี้อาจจะเป็นความไม่เรียบร้อยของการแจ้งของฝ่ายราชการ เพราะตามความเป็นจริง บ้าน หรือคอนโดมิเนียมถือเป็นที่อยู่อาศัย แม้จะเป็นหลังที่ 2 หรือ 3 เว้นแต่การปล่อยเช่า

ภาษีที่ดิน
  • นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อสถ.)

ยัน ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่กระทบประชาชน

แม้ว่าจะมีข้อกังวลจากหลายฝ่ายว่าประชาชนอาจจะได้รับผลกระทบกระทบจากการจัดเก็บภาษีดังกล่าว อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ระบุว่า ก่อนหน้านี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เปิดเผยว่าประชาชนที่มีที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 50 ล้านบาท มีจำนวนสูงถึงร้อยละ 99 ดังนั้นจึงไม่น่าจะเป็นปัญหา ส่วนผู้ที่มีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 หลัง ราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท ก็เสียอัตราภาษีเพียงร้อยละ 0.02 หรือล้านละ 200 ตามราคาประเมินของกรมธนารักษ์ ดังนั้นจึงไม่อยากให้ประชาชนวิตกกังวลจนเกินไป ซึ่งเงินภาษีที่จะถูกจัดเก็บทั้งหมดก็เข้าท้องถิ่นทั้งหมด ไม่ได้หนีหายไปไหน แต่ช่วยนำไปพัฒนาถนน ท่อระบายน้ำ เพื่อการพัฒนาประเทศ



อสังหาริมทรัพย์-ภาษีที่ดิน-ที่อยู่อาศัย-กลางเมือง

คำนวณอัตราภาษีกรุงเทพฯ ยากสุด เหตุธุรกิจหนาแน่น

แม้กฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ และเริ่มการจัดเก็บภาษีที่ดินตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 แต่ขณะนี้การดำเนินการสำรวจและประเมินอัตราภาษีในเบื้องต้นยังทำได้เพียงส่วนน้อยเท่านั้น หรือทำได้ในเฉพาะในเมืองชนบทที่ประชากร และอัตราการใช้ประโยชน์จากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างน้อย

ขณะที่เมืองหลัก โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครยังพบว่ามีปัญหาอยู่มาก เนื่องจากมีความหนาแน่นของธุรกิจสูง อย่างไรก็ตามอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มั่นใจว่าการขยายระยะเวลาออกไปเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สิน เลื่อนจ่ายภาษีภายในเดือน ส.ค. 2563 เป็นระยะเวลาเพียงพอที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะดำเนินการได้ทัน ส่วนจะมีการเลื่อนไปอีกหรือไม่นั้น อสถ. ไม่ได้มีอำนาจในการเลื่อน หรือบังคับใช้ออกไป



สวนมะนาว-ภาษีที่ดิน-ที่ดินรัชดา

ปลูกมะมาวไม่ผิด เป็นสิทธิ์เจ้าของที่ดิน

หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการตรวจสอบพบว่าที่ดินมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ย่านรัชดาภิเษก ใจกลางกรุงเทพมหานคร มีการปรับพื้นที่เพื่อปลูกมะนาว ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมองว่าอาจจะหลบเลี่ยงภาษีดังกล่าวนั้น อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ระบุว่า เป็นสิทธิตามกฎหมายที่เจ้าของที่ดินจะดำเนินการได้อยู่แล้ว ถ้าไม่ผิด พ.ร.บ. ผังเมือง ดังนั้นจึงถือว่าเป็นสิทธิของเขาและทำได้

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นการประกาศเกณฑ์การประเมินที่ดินทางการเกษตรนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ ว่าจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง เบื้องต้นทางกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลัง ได้ขอความเห็นจากทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาแล้ว อาจมีการกำหนดพื้นที่ต้องใช้ทำการเกษตรมากกว่า 2 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด



ภาษีที่ดิน
  • นายชุมพล สุวรรณกิจบริหาร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)


คาด ม.ค. 63 ประกาศเกณฑ์ที่ดินทางการทางเกษตร

นายชุมพล สุวรรณกิจบริหาร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า การคำนวณอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้มีการกำหนดขอบเขตชัดเจน 4 อัตรา คือ ที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์ ที่ดินทางการเกษตร ที่อยู่อาศัย และอื่นๆ โดยจะแตกต่างกับกฎหมายก่อนหน้านี้คือเจ้าหน้าที่จะต้องออกไปสำรวจเอง ไม่ใช่ให้ผู้เสียภาษีมายื่นแสดงรายการทรัพย์สินเช่นแต่ก่อน และในส่วนของอัตราภาษีที่ดินก็แบ่งการใช้ประโยชน์อย่างชัดเจนอยู่แล้ว รอเพียงรายละเอียดที่ดินทางการเกษตร ซึ่งต้องรอประกาศกระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงการคลัง คาดว่าจะสามารถออกประกาศภายในเดือน ม.ค. 2563



ภาษีที่ดิน
  • นางศุปกิจ สกลเสาวภาคย์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลแผนที่รูปแปลงที่ดิน กรมที่ดิน

โฉนด 38 ล้านแปลงทั่วประเทศ ยังรอท้องถิ่นคำนวณอัตราภาษี

นางศุปกิจ สกลเสาวภาคย์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลแผนที่รูปแปลงที่ดิน กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ข้อมูลจากกรมที่ดินพบว่าทั่วประเทศ มีโฉนดอยู่ 38 ล้านแปลง มีห้องชุด 1.5 ล้านหลัง ข้อมูลทั้งหมดมีแผนที่ภาพถ่ายชัดเจนและถูกจัดเก็บตามสำนักงานที่ดิน 480 แห่งทั่วประเทศ โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งไปยังองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กว่า 7,700 ทั่วประเทศ แต่ขณะนี้พบกว่ามีเพียง 500 -600 แห่งเท่านั้นที่ขอข้อมูลมา ดังนั้นยังคงต้องเร่งทำความเข้าใจให้เกิดขึ้นในการคำนวณอัตราภาษีตามราคาประเมินของกรมธนารักษ์



ภาษีที่ดิน
  • นายฐนัญพงษ์​ สุขสมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์

ใช้ราคาประเมินปี 59-62 เก็บภาษีปี 2563

ด้านนายฐนัญพงษ์​ สุขสมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ ระบุว่า การกำหนดราคาประเมินเพื่อบังคับใช้ตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2563 จะใช้ราคาประเมินที่ดินปีบัญชี 2559-2562 จัดเก็บไปก่อน หากไม่มีโฉนด นส.3ก. ให้ใช้บัญชีรายตำบล ซึ่งในส่วนของบัญชีหลักได้กำหนดบัญชีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างไว้ทั้งหมด 36 ประเภท หากไม่มีในบัญชีหลักให้ใช้บัญชีเปรียบเทียบแทน สามารถให้เจ้าของอาคารแจ้งต้นทุนก่อสร้างได้ จากนั้นให้ส่งลักษณะพิเศษให้กับกรมธนารักษ์ตีราคาประเมินอีกครั้ง ส่วนของบัญชีห้องชุดมีการสำรวจชัดเจนไว้แล้ว สามารถหยิบราคาคูณเนื้อที่เพื่อคำนวณอัตราภาษีที่จะต้องจ่ายได้ทันที ดังนั้นจึงเชื่อว่าข้อมูลที่จัดทำไว้จะสามารถอำนวยความสะดวกให้ผู้ปฏิบัติดำเนินการได้ทันตามกำหนด

แม้ว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะถูกเลื่อนกำหนดการจ่ายภาษีออกไปให้มีเวลาเตรียมตัวอีก 4 เดือน (เป็นภายในเดือน ส.ค.2563) แต่การบังคับใช้ก็ยังคงอยู่ในปี 2563 ซึ่งถึงเวลานี้ ก็นับถอยหลังอีกเพียงอึดใจเดียวในฐานะผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีหน้าต้องเสียภาษีหากเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด สร้างความเป็นธรรมทางภาษี แต่หากมีการแจ้งการใช้ประโยชน์ที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง ก็เป็นหน้าที่ของผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่จะต้องชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อรักษาสิทธิ์ที่จะได้รับการยกเว้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :