การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างความโกลาหลวุ่นวายให้กับโลกอย่างหนักหน่วงทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมไปถึงวิถีชีวิตของผู้คน
ที่หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต มีพี่น้องชาวเลราไวย์ประมาณ 1,375 คน แม้เป็นพื้นที่สีขาว ยังไม่พบการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และยังไม่มีใครไปในสถานที่เสี่ยง แต่กำลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจฝืดเคือง หลัง จ.ภูเก็ต ประกาศล็อกดาวน์ พ่อค้าแม่ค้า ร้านอาหาร สถานบันเทิง โรงแรม ปิดกิจการเนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการ ทำให้ชาวเลราไวย์ได้รับผลกระทบไม่สามารถขายปลาทะเลที่หามาได้ ทำให้ขาดรายได้ไม่มีเงินซื้อข้าวสาร นั่งดูปลาที่หามาได้กองทิ้งไว้จนเน่าเสีย กระทั่ง 'มูลนิธชุมชนคนไท' ที่ดูแลชุมชนชาวเล 5 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน และ 'สมาคมชาวยโสธร' ยื่นมือเข้ามาให้การช่วยเหลือก่อตั้งโครงการ ‘ข้าวแลกปลา’ แลกเปลี่ยนสินค้าปลอดสารพิษจากชุมชนสู่ชุมชน โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เพื่อฝ่าวิกฤตโควิด-19 ภายใต้แนวคิด ‘ชาวเลมีปลา ชาวนามีข้าว’ ในอัตราแลกเปลี่ยนข้าวหอมมะลิ 4 กิโลกรัม แลกกับ ปลาแห้ง ปลาเค็ม และปลาหวาน 1 กิโลกรัม
นายไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท เล่าว่า โครงการปลาแลกข้าวเกิดขึ้นมาหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อคนไทย โดยเฉพาะชุมชนกลุ่มเปราะบาง คือ ชาวเลราไวย์ ขาดรายได้ ไม่มีนักท่องเที่ยว เมื่อชาวเลหาปลามาก็ไม่สามารถขายปลาที่ไหนได้ ไม่มีเงินเก็บ และไม่มีเงินที่จะซื้อข้าวสารมาหุงกิน ทางมูลนิธิจึงได้ปรึกษากับทีมสื่อมวลชน, เครือข่ายชาวเลอันดามัน, ศูนย์มานุษยวิทยา สิรินทร, เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กลุ่มจิตอาสา และกองทัพอากาศ ได้ข้อสรุปให้ชาวเลเอาปลาที่ได้มาทำปลาเค็ม ปลาหวาน เพื่อแลกกับข้าวสารจากจังหวัดยโสธร โดยจะขนส่งผ่านกองทัพอากาศและนำมาแจกจ่ายชาวเลราไวย์
ทั้งนี้ยังเป็นการลดภาระภาครัฐที่ต้องแจกข้าวแจกน้ำประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และยังเป็นการการส่งเสริมแบบนี้ให้ประชาชนลุกขึ้นมาช่วยเหลือตัวเอง อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และช่วยเหลือสังคม นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไปในตัวด้วย ไม่ใช่แค่การแลกข้าวกับปลา
ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะขยายไปยังชุมชนชาวเลที่ต่างๆ ที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เช่น ชาวเลเกาะสุรินทร์ เกาะพยาม เกาะช้าง เกาะเหลา เกาะพีพี และเกาะหลีเป๊ะ โดยเชื่อมต่อกับเครือข่ายภาคประชาสังคม และในอนาคตจะทำระบบส่งตรงและกระจายสินค้าให้กับคนในเมือง เพื่อให้เข้าถึงปลาปลอดสารพิษตามวิถีของชุมชนอันดามัน ซึ่งอาจจะทำให้รูปแบบตลาดกลางออนไลน์
นายไมตรี มองว่าโครงการนี้ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนระหว่างข้าวกับปลาเท่านั้น แต่ยังเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ที่จะสานความสัมพันธ์ของชาวภูเก็ต และชาวยโสธรเข้าไว้ด้วยกัน
นายรัตน์ภิโพธิ ทวีกันย์ หรือ วิทย์ มหาชน ศิลปินนักร้อง นักแต่งเพลง ในฐานะกรรมการบริหารสมาคมชาวยโสธร กล่าวว่า การใช้ปลาแลกข้าวหรือว่าข้าวแลกปลา เป็นการร่วมมือกันระหว่าง 2 ชุมชน ซึ่งวันนี้เจอวิกฤตเดียวกันคือวิกฤตของโรคระบาด โควิด-19 เป็นความร่วมมือของภาคประชาชน 2 กลุ่มนี้ ถือว่าเป็นการแบ่งเบาส่วนราชการ เป็นการพึ่งกันเองโดยชุมชนต่อชุมชน ชุมชนที่มีข้าวส่งข้าวมาแลกเปลี่ยนชุมชนที่มีปลา ซึ่งเป็นวิธีที่สอดรับกับมาตรการป้องการการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส-19 ซึ่งโมเดลนี้เริ่มมีหลายชุมชนนำไปใช้แล้ว
“คือช่วงนี้มันต้องเว้นระยะห่าง การที่จะนำสินค้าไปแลกเปลี่ยนกันได้เนี่ย ธรรมดาต้องมีการไปมาหาสู่ แต่ตอนนี้ ชาวนาอยู่บ้านสีข้าวแพ็กไว้ กองทัพอากาศส่งมาให้จัดการส่งไปถึงภูเก็ต ตอนนี้ก็เริ่มแตกจังหวัดมหาสารคามก็เริ่มมีแล้วจังหวัดตราดก็เริ่มมีแล้วที่จะแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งใช้โมเดลที่เราทำ ตอนนี้ที่พังงา เค้าเรียกว่าชาวเลเหมือนกันก็เริ่มทำปลาแล้วบอกว่าส่งมาทางเราแล้ว เราก็จะมาหาข้าวเพิ่มขึ้นให้ ตอนนี้กระจายไปที่อำนาจเจริญ หลายกลุ่มก็สนใจที่อยากได้ปลาไปกิน”
“นี่มันคือวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนไทยเรา ความงามตรงนี้มันหายไปในวิถีของความเป็นไทยมันหายไป วันนี้อาจจะกลับมาเป็นโมเดลใหม่ของชุมชนคนไทยหลายๆ ชุมชน ชุมชนที่มีกล้วยมีพริก และตอนนี้กลุ่มศรีสะเกษ เอาหอมแดง เอาพริก เอาสินค้าที่มี เอากระเทียม หอมแดง ซึ่งศรีสะเกษเยอะมาก เข้ามาร่วมโครงการกับเรา และส่งมาบริจาคให้ก่อน และต่อไปค่อยมาคำนวณราคาว่า หอมแดงกี่กิโลฯ กระเทียมกี่กิโลฯ แลกปลาได้กี่กิโลฯ”
วิทย์ มหาชน บอกอีกว่า ประโยชน์ของโครงการนี้ คือการแลกเปลี่ยนสินค้าโดยไม่ต้องใช้เงิน ซึ่งก็ตอบโจทย์สภาวะที่เศรษฐกิจฝืดเคืองเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกัน ชาวบ้านทั้ง 2 จังหวัดก็ได้กินอาหารที่คุณภาพดี ปลอดสารพิษ และส่งตรงมาจากแหล่งผลิตในราคาที่ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง
“สมัยก่อนเขาบอกว่า ปลาดีให้เศรษฐี เศษปลาให้ชาวนาชาวไร่ วันนี้เราเปลี่ยนแล้ว ปลาดีที่สุดจากทะเลสดๆ มาทำใหม่จะส่งถึงมือชาวนาโดยตรง ยิ่งถ้าเป็นข้าวหอมมะลิอย่างดีด้วย ถ้าส่งไปถึงภูเก็ตหนึ่งกิโลฯ หลายสิบบาทนะ แต่วันนี้เขาสามารถที่จะใช้ต้นทุนของปลาเขาเลย แลกเอาต้นทุนของข้าวหอมมะลิอย่างดีในราคาที่มันเป็นสมดุลกัน พยายามที่จะทำให้ยั่งยืนที่สุด ให้เกิดเป็นธุรกิจของพี่น้องชาวราไวย์ได้ด้วยหรือว่าในอนาคตชุมชนไหนที่อยากซื้อปลาเราจะคำนวณราคาปลา เพื่อให้พี่น้องชาวราไวย์เกิดเป็นธุรกิจของชุมชนเขาที่มั่นคงให้ได้”
“ชาวนาไม่มีโอกาสได้ทำธุรกิจและก็ไม่มีโอกาสที่จะได้กินปลาราคาแบบนี้ ชาวเลคือคนหาปลาจริงๆ เขาไม่ใช่พ่อค้า แต่วันนี้เราจับเขามาเชื่อมกัน เขาได้กินข้าวดีๆ ที่ส่งตรงจากยโสธร สำคัญที่สุดผมว่านอกเหนือจากตรงนี้คือหัวใจที่จะผูกมัดกัน ในอนาคตลูกหลานราไวย์ พอเจอคนยโสธรบอกว่า ผมเคยกินข้าวคุณนะ พี่น้องยโสฯ ที่เค กินปลาราไวย์ พอรู้ว่าเป็นคนภูเก็ตเจอกันอาจจะได้คุยกันเรื่องแบบนี้ ผมว่าตรงนี้มันยิ่งใหญ่กว่ามูลค่าของเงิน ของสินค้าอีก คือ หัวใจ”
นอกจากนี้โครงการข้าวแลกปลายังได้รับความร่วมมือจากศิลปินนักร้อง นักแสดง ชาว จ.ยโสธร อย่าง หม่ำ จ๊กมก, ไผ่ พงศธร และอั้ม นันทิยา ช่วยกันประชาสัมพันธ์ ทำให้เกิดขึ้นจริงได้ในเวลาเพียงแค่ 2 วัน
“กลุ่มศิลปินยโสธร น้องไผ่ พงศธร ก็เอาเงินไปซื้อข้าวในมูลค่า 5 หมื่นบาท เพื่อที่จะเอาข้าวลงมาแลกปลา แล้วเอาปลาไปแจกพี่น้องทางอำเภอกุดชุมที่บ้านเกิด ตอนนี้พี่หม่ำศิลปินกลุ่มยโสธรเราก็มาช่วยกันประชาสัมพันธ์ น้องอั้ม นันทิยา ก็มาทำคลิปให้หมดในการช่วยเหลือกัน”
ด้าน ไผ่ พงศธร ศิลปินชาวยโสธร เชิญชวนชาวจังหวัดยโสธร เอาสินค้าในชุมชน เช่น ข้าว ไปแลกเปลี่ยนกับปลาของพี่น้องชาวจังหวัดภูเก็ต เพื่อช่วยเหลือกับในภาวะวิกฤตโควิด-19 ส่วนตัวตนดีใจที่ได้เห็นชาวบ้านมาเติมเต็มกำลังใจให้กัน ใช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีก็ไม่จำเป็นต้องซื้อขาย แต่ใช้สิ่งที่มีมาแลกเปลี่ยนกัน ในช่วงเวลาที่วิกฤตเรายังได้เห็นความดีงามและความรักของคนไทย ตนเองก็มีส่วนร่วมในการรวบรวมข้าวที่จังหวัดยโสธร มาแลกกับปลาที่ภูเก็ต ชาวอีสานเองก็ไม่มีอาหารทะเลก็ถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้แลกเปลี่ยนกัน