สหรัฐฯ และอิหร่านเป็นปฏิปักษ์กันมานานแล้ว อย่างน้อยตั้งแต่ปี 1979 ที่มีการปฏิวัติอิหร่านโค่นล้มพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี จักรพรรดิของอิหร่านที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ลงจากอำนาจ แล้วเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นสาธารณรัฐอิสลาม โดยมี อยาตุลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคเมย์นี เป็นผู้นำการปฏิวัติ และขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ
จับตัวประกันชาวอเมริกันในช่วงปฏิวัติอิหร่าน
ในวันที่ 4 พ.ย. 1979 นักศึกษาอิหร่านกลุ่มหนึ่งบุกสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเตหะราน และจับเป็นตัวประกัน 90 คนเป็นตัวประกัน ในจำนวนนี้เป็นชาวอเมริกัน 66 คน หลังจากที่จิมมี คาร์เตอร์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นอนุญาตให้พระเจ้าชาห์ที่เพิ่งถูกโค่นล้มและขับไล่ออกนอกประเทศ ไปรักษาโรคมะเร็งที่สหรัฐฯ พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐฯ ส่งตัวพระเจ้าชาห์กลับอิหร่าน
จากนั้น มีการลักพาตัวชาวอเมริกัน 52 คนจาก 66 คนไปไว้เป็นตัวประกันนานถึง 444 วัน ก่อนทั้งหมดจะถูกปล่อยตัวในวันที่ 21 ม.ค. 1981 ซึ่งการจับตัวประกันในครั้งนั้นส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ ย่ำแย่มาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ฝ่ายปฏิวัติอิหร่านเลือกจับตัวชาวอเมริกันเป็นตัวประกันก็เพราะต้องการจะประกาศตัดขาดกับอดีตของอิหร่านที่มีสหรัฐฯ ครอบเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในผ่านพระเจ้าชาห์ที่เป็นฝ่ายสนับสนุนตะวันตก อีกทั้งยังเป็นการสร้างโปรไฟล์ให้กับ อยาตุลเลาะห์ โคเมย์นีได้เป็นอย่างดี ทำให้ทั้งคนในประเทศและต่างประเทศหันมาให้ความสำคัญได้อย่างมาก
ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน
ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองมีแววว่าจะดีขึ้นในปี 2015 เมื่ออิหร่านยอมลงนามข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ร่วมกับกลุ่มประเทศมหาอำนาจโลกได้แก่ สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) อย่างสหรัฐฯ อังกฤษ รัสเซีย ฝรั่งเศส และจีน บวกอีกหนึ่งประเทศ คือ เยอรมนี
ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 ได้ระบุให้อิหร่านจำกัดการผลิตนิวเคลียร์ของตัวเอง เพื่อแลกกับการยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่รุนแรงต่ออิหร่าน
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ที่เหมือนจะดีขึ้นกลับแย่ลงอีกครั้ง หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งพูดโจมตีข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านมาตลอด ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 โดยทรัมป์กล่าวว่า ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านเป็น “ข้อตกลงที่เลวร้ายที่สุดตั้งแต่ที่เคยมีการต่อรองกัน”
สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงอิหร่าน
ในปี 2018 ทรัมป์ได้ประกาศว่าสหรัฐฯ จะถอนตัวออกจากข้อตกลงดังกล่าว พร้อมทั้งคว่ำบาตรอิหร่านอีก เพื่อกดดันให้ผู้นำอิหร่านยอมทำข้อตกลงใหม่ ซึ่งอิหร่านปฏิเสธข้อตกลงใหม่ แม้เศรษฐกิจของอิหร่านจะเข้าสู่ภาวะถดถอยก็ตาม
ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศย่ำแย่ลงไปอีก หลังจากที่เรือบรรทุกน้ำมันของชาติตะวันตก 6 ลำถูกโจมตีในอ่าวโอมานช่วงเดือนพ.ค. - มิ.ย. ปี 2018 ซึ่งในจำนวนมีเรือบรรทุกน้ำมันของสหรัฐฯ รวมอยู่ด้วย และกองทัพสหรัฐฯ ก็กล่าวหาว่าอิหร่านเป็นผู้โจมตีเรือบรรทุกน้ำมันเหล่านี้ จึงตอบโต้ด้วยการโจมตีทางไซเบอร์ใส่อิหร่าน แต่อิหร่านก็ปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีเรือบรรทุกน้ำมัน
เมื่อเดือน ก.ค.ปี 2018 รัฐบาลอิหร่านไม่ทำตามเงื่อนไขบางข้อในข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน และในช่วงปลายเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ก็กล่าวหาว่ากลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ได้ยิงขีปนาวุธ ซึ่งส่งผลให้พลเมืองอเมริกันเสียชีวิตบริเวณทางตอนเหนือของอิรัก
สหรัฐฯ จึงตอบโต้ด้วยการทิ้งระเบิดใส่ฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธในอิรักและอิหร่าน ทำให้มีกลุ่มติดอาวุธเสียชีวินอย่างน้อย 25 ราย แต่การทิ้งระเบิดในครั้งนี้ก็ทำให้ชาวอิรักบางส่วนไม่พอใจอย่างมาก มีคนออกมาประท้วงและโจมตีเข้าไปในสถานทูตสหรัฐฯ จากนั้น ทรัมป์กล่าวหาว่าอิหร่านมีส่วนยุยงปลุกปั่นและอยู่เบื้องหลังการโจมตีสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงแบกแดด พร้อมเตือนว่า อิหร่านจะต้อง “จ่ายค่าชดเชยราคาแพง”
การสังหารนายพลโซเลมานี
ในวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา กองทัพสหรัฐฯ ใช้โดรนโจมตีขบวนรถของพลตรีกัสซิม โซเลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังกุดส์ กองกำลังสำคัญของกองทัพพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน ระหว่างการเดินทางไปสนามบินแบกแดดของอิรัก เนื่องจากมองว่า นายพลโซเลมานีเป็น “ผู้ก่อการร้ายอันดับหนึ่งของโลก” เพราะเป็นผู้วางแผนโจมตีทูตและทหารอเมริกัน และการสังหารนี้มีเป้าหมายเพื่อจะยุติสงคราม ไม่ใช่เพื่อเปิดฉากสงครามครั้งใหม่
อิหร่านจะออกมาประกาศกร้าวว่าจะแก้แค้นคนที่มีส่วนรับผิดชอบกับการสังหารพลตรีโซเลมานี โดยมีการชัก 'ธงแห่งการแก้แค้น' ขึ้นเหนือโดมศักดิ์สิทธิ์ของมัสยิดจามคาราน เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ยุคกลาง พร้อมตั้งค่าหัว โดนัลด์ ทรัมป์ 80 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2,400 ล้านบาท
นอกจากนี้ อิหร่านยังประกาศว่าจะไม่ทำตามข้อตกลงนิวเคลียร์ว่าจะจำกัดขีดความสามารถในการเสริมสมรรถภาพแร่ยูเรเนียม ระดับการเสริมสมรรถภาพแร่ยูเรเนียม ปริมาณแร่ยูเรเนียมที่เสริมสมรรถภาพ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ แต่จะเดินหน้าเสริมสมรรถภาพแร่สำหรับนิวเคลียร์อย่างไม่มีขีดจำกัดตามความต้องการทางเทคนิคของอิหร่าน
ทรัมป์ได้ออกมาขู่ว่าจะโจมตี 52 จุด โดยเป้าโจมตีทั้ง 52 จุดเป็นสัญลักษณ์แทนชาวอเมริกัน 52 คนที่ถูกจับตัวไปจากสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเตหะรานช่วงการปฏิวัติอิหร่าน และบางสถานที่ที่วางแผนว่าจะโจมตี มีความสำคัญมากต่อรัฐบาลและวัฒนธรรมอิหร่าน แต่ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ออกมาท้วงว่าการโจมตีสถานที่ทางวัฒนธรรมเป็นอาชกรรมสงคราม กระทรวงกลาโหมจึงต้องออกมายืนยันว่าจะไม่โจมตีใส่สถานที่วัฒนธรรมและจะปฏิบัติตาม
ที่มา : BBC, Britannica, CNN, History