นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และแนวโน้มปี 2567-2568 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ว่า ในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของไทย ขยายตัว 3% เร่งตัวขึ้นจาก 2.2% ในไตรมาสก่อนหน้า รวม 9 เดือนแรกของปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.3%
ปัจจัยหลักมาจากการผลิตภาคนอกเกษตรที่ขยายตัวเร่งขึ้นตามการขยายตัวของกลุ่มบริการ ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตชะลอตัว และภาคการเกษตรปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ด้านการใช้จ่าย การส่งออกสินค้าและบริการ การอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล และการลงทุนเร่งขึ้น ขณะที่การอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนชะลอตัว
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มองว่าจะขยายตัวได้ 2.6% ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวได้ 1.9% และในปี 2568 จะขยายตัวได้ ในกรอบ 2.3 – 3.3% โดยมีค่ากลางที่ 2.8% มาจากการเพิ่มขึ้นของการบริโภค 3% การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 2.8% การส่งออกขยายตัว 2.6% ขยายตัวต่อเนื่องจาก 3.8% ในปี 2567 ขณะที่เงินเฟ้อคาดกรอบ 0.3-1.3 %
โดยยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายเศรษฐกิจของ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเพิ่มภาษีนำเข้าจากจีนและประเทศต่าง ๆ จะมีความรุนแรงอย่างไร และเพิ่มภาษีสินค้าอะไรบ้าง ระยะเวลาปรับเพิ่มในช่วงใด รวมถึงปัญหาการทุ่มตลาดสินค้าจีน จากสินค้าราคาถูก ทำให้เอสเอ็มอีไทยได้รับผลกระทบ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ขณะนี้ กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย กำลังหามาตรการแก้ปัญหาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง
นอกจากนี้ รัฐบาลต้องผลักดันการลงทุนภาคเอกชน เร่งรัดการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอในปี 2565-2567 การดูแลผลกระทบต่อภาคเกษตร การเร่งรัดส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูป การช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้เข้าถึงสภาพคล่อง
สำหรับการโอนเงินให้กลุ่มเปราะบางในช่วงสิ้นเดือนกันยายน จะเห็นผลชัดเจนในช่วงไตรมาส 4 ส่วนที่กระทรวงการคลัง เตรียมช่วยเหลือกลุ่มผู้สูงอายุในปลายปีนี้ ต้องดูรูปแบบการใช้จ่ายอย่างไรบ้าง สำหรับการโอนเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ในปีหน้า ต้องดูช่วงเวลาให้เหมาะสม และดูสถานการณ์ในช่วงถัดไป เพราะมีความเสี่ยงหลายด้านจำนวนมาก ดังนั้นการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต้องให้ตรงเป้าหมายมากขึ้น ต้องหารือกันให้ชัดเจนอีกครั้ง
สำหรับข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงในปี 2568 ได้แก่
1.ความเสี่ยงจากแนวโน้มการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกท่ามกลางความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสำคัญ และแนวโน้มการชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจจีน
2. ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงภายใต้มาตรฐานสินเชื่อที่มีความเข้มงวดมากขึ้นหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่คุณภาพสินเชื่อปรับตัวลดลงส่งผลให้สถาบันการเงินเพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อมากขึ้นส่งผลให้มูลค่าสินเชื่อชะลอลง
3. ความเสี่ยงจากความผันผวนในภาคการเกษตรทั้งผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ ๆ แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผลผลิตภายใต้สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้นจะสร้างแรงกดดันให้ราคาสินค้าเกษตรลดลง ท่ามกลางสถานการณ์ผลผลิตข้าวจากผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น
ทั้งนี้ ในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2567 และปี 2568 ควรให้ความสำคัญกับ
1.ขับเคลื่อนภาคการส่งออกให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือผลกระทบจากการยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น
2.การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม
3.การขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญกับการเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ โดยอาศัยประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานในการดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
4.การดูแลเกษตรกรและสนับสนุนการปรับตัวในการผลิตภาคเกษตร
5.การให้ความช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ที่ประสบปัญหาด้านการเข้าถึงสภาพคล่องเนื่องจากคุณภาพสินเชื่อปรับลดลงต่อเนื่อง