ไม่พบผลการค้นหา
นักลงทุน VI ย้ำ ตลาดหุ้นสะท้อนแนวคิดนักลงทุน มองเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในที่สุด แนะเลือกมองหุ้นจากฐานธุรกิจ เลี่ยงหุ้นร้อนแรง เสริมลงทุนต่างประเทศในเวียดนามและบริษัทเทคโนโลยี

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (VI) กล่าวในงานสัมนา The Wisdom ที่จัดโดยธนาคารกสิกรไทย วิเคราะห์สถานการณ์ตลาดหุ้นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดในปัจจุบัน แจงด้วยสภาพโดยรวมไม่น่าเป็นห่วงมากนักเพียงแต่ต้องระวังหุ้นบางตัวที่พุ่งขึ้นไปสูงเกินฐานของธุรกิจเป็นหลัก

เมื่อพิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจจริงในปัจจุบัน ดร.นิเวศน์ เทียบว่าแท้จริงแล้วปัญหาไม่ได้เกิดจากตัวโครงสร้างเป็นหลักเหมือนในครั้งวิกฤตการเงิน แต่เป็นเพราะการหยุดชะงักตัวของเศรษฐกิจจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดลงไป ดังนั้นเมื่อกิจกรรมต่างๆ กลับคืนมา ประชาชนเริ่มกลับไปทำงาน สถานการณ์ทางเศรษฐกิจก็จะกลับมาได้แม้อาจจะต้องใช้ระยะเวลาช่วงหนึ่งในการฟื้นตัว

"เศรษฐกิจแขนขายังไม่ขาด แค่เลือดไหล ถ้าไม่ตายซะก่อนก็จะกลับมา" ดร.นิเวศน์ กล่าว

แนวโน้มยังสะท้อนได้ชัดเจนจากสถานการณ์ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมไปถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ที่แม้จะปรับตัวลดลงอย่างหนักในช่วงแรกของการแพร่ระบาดแต่ก็กลับมาได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกับตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ที่แทบจะขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกับก่อนเกิดโควิด-19 ขณะที่ราคาหุ้นใน SET ก็ปรับตัวติดลบราวร้อยละ 15 เท่านั้น ซึ่งคิดว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผล

ตลท-ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย-ตลาดหุ้น

อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มตลาดหุ้นทั่วโลกจะสะท้อนการมองโลกในแง่บวกของนักลงทุน แต่ ดร.นิเวศน์ ย้ำว่าสถานการณ์เมื่อมองลึกลงไปไม่ได้สอดคล้องกันขนาดนั้น เนื่องจากธุรกิจของไทยยังคงยืนอยู่บนเทคโนโลยีเก่าที่ไม่ได้รับประโยชน์จากโควิด-19 อย่างที่บริษัทเทคโนโลยีระดับสูงในฝั่งสหรัฐฯ ทำได้ จึงเป็นเหตุผลให้มองได้ว่าเมื่อผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาดไป กลุ่มธุรกิจและบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของไทยจะยังไม่มีการเปลี่ยนมือ ผู้เล่นรายใหญ่จะยังคงอยู่ ส่วนรายเล็กก็ไม่มีโอกาสเติบโตเท่าไหร่ ขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ อาจเห็นผู้เล่นรายใหม่ โดยเฉพาะในฝั่งเทคโนโลยีขึ้นมาแทนที่อุตสาหกรรมโลกเดิมได้

นายธิติ ตันติกุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทย ให้ความเห็นสอดคล้องกัน โดยชี้ว่าอาจแบ่งตลาดหุ้นทั่วโลกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกที่มีประเทศไทย อินโดนีเซีย และอินเดีย โดยยืนอยู่บนเงื่อนไขว่าราคาหุ้นตั้งแต่ต้นปีติดลบลงมาร้อยละ 15 ขณะที่กลุ่มที่สองอาจประกอบไปด้วยตลาดหุ้นของประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือไต้หวัน ซึ่งไม่มีความเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ระหว่างก่อนเกิดโควิด-19 และสถานการณ์ปัจจุบัน โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ในกลุ่มที่สองนี้ไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนักเพราะบริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์เป็นบริษัทเทคโนโลยี 

ขณะที่กลุ่มตลาดหลักทรัพย์สุดท้ายคือฝั่งตลาดหุ้นแนสแด็ก (NASDAQ) ซึ่งมีบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง แอปเปิล, แอมะซอน, ไมโครซอฟต์, เทสลา และเน็ตฟลิกซ์ จดทะเบียนอยู่ และปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่มีวิกฤตมาถึงร้อยละ 18 

ตลาดหุ้น

แม้ตลาดหุ้นไทยจะจัดอยู่ในกลุ่มที่มีผลกระทบมากที่สุด แต่นายธิติก็ยังชี้ว่า สำหรับนักลงทุนชาวไทยก็ยังอาจเรียกได้ว่าน่าสนใจอยู่เพราะฝั่งตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ที่ปัจจุบันมีดอกเบี้ยต่ำมาก แต่ก็เป็นไปได้ว่าดัชนีตลาดหุ้นอาจลดต่ำกว่า 1,350 จุดในปัจจุบันได้

ดร.นิเวศน์ กลับมาปิดท้ายสำหรับนักลงทุนว่านอกจากตัวเลือกการมองตลาดหุ้นไทยตามภาคธุรกิจหลังโควิด-19 ที่แนะนำให้วิเคราะห์จากสินค้าจำเป็นหรืออุตสาหกรรมที่ยังไม่มีผู้เล่นรายใหม่มาแทรกแซง อย่าเพียงแต่มองหุ้นกระแส 

"อย่าไปดูพวกหุ้นร้อนแรง เขาก็เจ็บ แล้วถึงเวลาเขาก็กลับไปเท่าเดิมไม่ได้อะไรมากกว่านั้น อีกสองปีเขาจะกลับไปเท่าเดิม กลายเป็นหุ้นพวกนี้ขาดทุน ตอนนี้มันขึ้นไปเพราะคนเก็งกำไร"

อีกโอกาสสำคัญคือการมองการลงทุนในตลาดต่างประเทศ อาทิ การลงทุนในระยะยาวในตลาดหลักทรัพย์เวียดนาม ที่ ดร.นิเวศน์ มองว่ามีโอกาสที่จะเติบโตอย่างแน่นอนเพียงแต่ต้องรอระยะเวลาราว 10-20 ปี หรือการหันไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีบริษัทเทคโนโลยีใหม่ๆ จดทะเบียนอยู่ อาทิ ในสหรัฐฯ 


ตลาดหุ้นไทย...ไหลออก

แม้ตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันจะยังไม่แย่มากนัก แต่แนวโน้มตั้งแต่ก่อนวิกฤตโรคระบาดก็ไม่ได้สู้ดีมาตั้งแต่แรก รายงานฉบับล่าสุดจากกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ชี้ว่า นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 รวมมูลค่ากว่า 8 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ต่างชาติยังทยอยลดการลงทุนโดยตรงในประเทศไทยเมื่อเทียบกับ ภูมิภาคอาเซียน จากที่ไทยเคยมีสัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) สูงถึงร้อยละ 44 ในช่วงปี 2549-2553 ตัวเลข FDI กลับลดเหลือเพียงร้อยละ 14 ในปัจจุบัน

งานวิจัยชี้ว่า สาเหตุสำคัญเป็นเพราะตลาดหุ้นของไทยแทบไม่เติบโตขึ้นเลย โดยเมื่อย้อนกลับไปดูแนวโน้มการเติบโตของตลาดหุ้นไทยที่อ้างอิงจากดัชนี MSCI Thailand Index เทียบกับประเทศอื่น ๆ พบว่าในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา SET มีอัตราการเติบโตต่ำมาก เมื่อเทียบกับระดับปี 2558 ขณะที่ดัชนี MSCI ของประเทศสหรัฐอเมริกาเติบโตถึงกว่าร้อยละ 100 และดัชนีของภูมิภาคเอเชียโดยรวมโตกว่าร้อยละ 50

รายงานย้ำว่าทิศทางการเติบโตของตลาดหุ้นในระยะยาวเป็นเครื่องสะท้อนศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศได้ดีระดับหนึ่ง และการที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจกับประเทศไทยน้อยลงอย่างต่อเนื่องและหันไปลงทุนในประเทศอื่นแทนไม่เพียงแต่กดดันทิศทางตลาดหุ้นไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญานเตือนว่า ไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่อาจทำให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในอนาคตตกต่ำลงอย่างถาวรเมื่อเทียบกับในอดีตและเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ