เศรษฐกิจจากการสมัครใช้บริการรายเดือน (Subscription Economy) คืออีกหนึ่งปรากฎการณ์ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่พัฒนาไปข้างหน้า ทุกวันนี้ผู้คนไม่ได้เสพติดโทรศัพท์มือถือ สิ่งที่ประชาชนเหล่านี้เสพติดคือคอนเทนต์ภายในโทรศัพท์มือถือต่างหาก
พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้ให้บริการอย่าง 'เน็ตฟลิกซ์' เอาชนะร้านเช่าหนังในอดีต รวมถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอื่นๆ ทั้งการฟังเพลง หรือ การอ่านหนังสือ
รายงานเกี่ยวกับดัชนีของเศรษฐกิจแห่งการสมัครใช้บริการรายเดือน จาก ซูโอรา บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่ศึกษาข้อมูลผู้ใช้บริการย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2555 จนถึง มิถุนายน 2562 พบว่า ภาคธุรกิจนี้เติบโตถึงร้อยละ 350 ในช่วงเวลาประมาณ 7.5 ปี ทั้งยังชี้ว่า หนึ่งในปัจจัยหลักของการเติบโตมาจากทัศนคติของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และไม่นิยมซื้อสินค้าเป็นชิ้นมาเก็บไว้อีกต่อไป แต่หันมาพึงพอใจกับการเข้าถึงบริการแทน
'เทียน จัว' ผู้บริการซูโอรา ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซี ว่า ธุรกิจการสมัครใช้บริการรายเดือนเป็นการสร้างรูปแบบธุรกิจที่มีผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางและสามารถนำไปปรับใช้ได้ทุกวงการ นี่เป็นหัวใจของการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลที่ทุกบริษัทต้องก้าวผ่านไปให้ได้
'จัว' ย้ำว่า รูปแบบธุรกิจนี้จะไม่เดินไปถึงจุดอิ่มตัวเนื่องจาก ประชาชนต้องการตัวเลือกและก็ต้องการอิสระในการเลือกด้วย ยิ่งกว่านั้น สำนักข่าวรอยเตอร์สเองก็ออกมาพูดถึงประโยชน์ที่บริษัทจะได้จากรูปแบบธุรกิจดังกล่าวว่า การมีผู้ใช้บริการสมัครเสียเงินรายเดือนย่อมสร้างความมั่นคงให้กับผู้ประกอบการมากกว่าการซื้อแบบครั้งเดียวจบอยู่แล้ว
เนื่องจากปรากฎการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในฝั่งตะวันตกเท่านั้น บริการเหล่านี้เข้ามายังประเทศไทยได้สักพักแล้วเช่นเดียวกัน ทีมข่าววอยซ์ออนไลน์จึงลงพื้นที่ในกรุงเทพมหานครเพื่อสำรวจการใช้งานและความคิดเห็นของประชาชนรุ่นใหม่เกี่ยวกับการเสียค่าบริการรายเดือนให้กับแอปพลิเคชันเหล่านี้
จากการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มักยอมเสียค่าบริการรายเดือนให้กับผู้ให้บริการ 2 ประเภท คือ เพื่อการดูหนังและเพื่อการฟังเพลง ส่วนแอปพลิเคชันที่นำมาเป็นอันดับหนึ่งในแต่ละประเภทก็ได้แก่ เน็กฟลิกซ์ และ สปอทิฟาย ตามลำดับ ขณะที่รายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ระหว่าง 150 บาทไปจนถึงเกือบ 1,000 บาท
อย่างไรก็ตาม เน็ตฟลิกซ์ กลับเป็นบริการที่ประชาชนส่วนหนึ่งบอกว่าตัวเองใช้งานไม่คุ้มมากนักกับราคาเฉลี่ยที่จ่ายประมาณ 100 บาท/คน/เดือน เนื่องจากไม่ได้มีเวลาดูขนาดนั้น แต่ที่ยังยอมจ่ายค่ารายเดือนอยู่ก็เป็นเพราะต้องการซื้อความสะดวกสบาย
ตามข้อมูลจากบลูมเบิร์ก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หุ้นของเน็ตฟลิกซ์โตขึ้งถึงร้อยละ 4,100 ส่งผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรวบรวมหนังมีมูลค่าบริษัทสูงกว่าบริษัทวอลต์ดิสนีย์ด้วยซ้ำ และสำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2562 เน็ตฟลิกซ์ทำรายได้ไปทั้งหมดประมาณ 14,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 434,000 ล้านบาท จากสมาชิกทั้งหมด 158,314,000 ล้านรายทั่วโลก
'เบญญาภา บวรกิจอัศวกุล' กล่าวว่า ถ้าให้เทียบกันแล้ว การเสียเงินรายเดือนให้กับเน็ตฟลิกซ์ยังถือว่าคุ้มกว่าการออกไปดูหนังที่ละ 200 - 300 บาท/เรื่อง อยู่ดี แม้จะไม่ได้ใช้งานแอปพลิเคชันมากนัก เช่นเดียวกันกับ 'ธัญญชนก โกวิทวัฒนชัย' ที่ยอมเสียเงินให้กับเน็กฟลิกซ์เพราะมีตัวเลือกหนังให้ดูหลากหลาย
ขณะที่ 'ฉัตรชัยพัฒน์ เดชธัญญนนท์' กล่าวว่า สาเหตุที่ยอมเสียค่าบริการร่วม 1,000 บาท/เดือน จากผู้ให้บริการเหล่านี้ เป็นเพราะต้องการซื้อความสะดวกสบายเป็นหลัก และไม่ได้เอาไปวัดเป็นความคุ้มค่าในทุกบริการ
อย่างไรก็ตาม 'ศิริกัญญา พร้อมเผ่าพันธุ์'แตกต่างออกไป เมื่อโทรศัพท์ของเธอไม่มีแอปพลิเคชันไหนเลยที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายรายเดือนเนื่องจากมองว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนติดโทรทัศน์อยู่ก่อนแล้วและมีกิจกรรมที่ต้องทำค่อนข้างมากในแต่ละวัน
'ศิริกัญญา' เสริมว่า สิ่งที่จะทำให้เธอหันมาสินใจบริการเหล่านี้น่าจะเป็นโปรโมชันการลดราคาต่างๆ การมีบริการเสริมเพิ่มเติม หรือการมีคอนเทนต์ที่น่าสนใจมากจริงๆ
สุดท้ายแล้ว การเดินหน้าเข้าสู่รูปแบบการให้บริการที่เน้นการบริการมากกว่าการเน้นขายผลิตภัณฑ์คงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สุดท้ายก็คงต้องอยู่ที่การตัดสินใจของประชาชนว่าจะเลือกใช้บริการและถูกใจกับบริการที่ผู้ประกอบการรายไหนให้มากที่สุด