ไม่พบผลการค้นหา
สทนช. ประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เตรียมรับมือภัยแล้งปี 63 หลังพบ 3 อ่างเก็บน้ำในพื้นที่ มีปริมาณน้ำน้อยต่อเนื่อง หวั่นกระทบน้ำกินน้ำใช้ เสี่ยงแล้งลามกระทบน้ำในอนาคต วอนประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายหลังการประชุมจัดทำแผนจัดการน้ำต้นทุน และแผนปฏิบัติการปี 2563-2564 จังหวัดภูเก็ต ร่วมกับ นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ณ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ตหลังเก่า อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ว่า นายกรัฐมนตรีได้มีข้อห่วงใยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต รวมทั้งได้สั่งการในการลงพื้นที่ตรวจราชการเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2562 ให้ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการจัดแหล่งน้ำและกาารป้องกันอุทกภัยในพื้นที่เมืองเศรษฐกิจที่สำคัญทั่วประเทศ พร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญในจังหวัดต่างๆ เช่น ภูเก็ต ขอนแก่น และเชียงใหม่ เป็นต้น ทั้งในแผน ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยบูรณาการหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น และภาคเอกชน เพื่อการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ทั้งนี้ ให้บรรจุแผนปฏิบัติการโดยเร็ว

โดยสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พบว่า ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2562) มีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่ง รวมประมาณ 5 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำคลองกระทะ 1.75 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 40.5 ของความจุ 4.32 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำบางวาด 2.60 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 25.5 ของความจุ 10.20 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ 0.65 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 9 ของความจุ 7.20 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำสำหรับใช้ในการผลิตน้ำประปา เพื่อการอุปโภค-บริโภคของจังหวัดภูเก็ต มีปริมาณน้ำในอ่างเหลือน้อย รวมทั้งน้ำในขุมเหมือง จำนวน 109 แห่ง มีความจุรวมเหลือเพียง 21.03 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากประสบสภาวะฝนทิ้งช่วง อีกทั้งปริมาณฝนมีน้อย ถึงแม้ช่วงที่ผ่านมาจะมีปริมาณฝนตกในหลายพื้นที่ แต่ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างมีไม่มากนัก อาจจะไม่เพียงพอในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง เนื่องจากในพื้นที่มีความต้องการใช้น้ำอุปโภคบริโภคเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องวางแผนการใช้น้ำอย่างรอบด้าน เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ปี 2563 และในอนาคต โดยประชากรในพื้นที่กว่าร้อยละ 80 ใช้น้ำจากประปา ทั้งนี้ในพื้นที่มีปริมาณความต้องการน้ำอุปโภคบริโภคเฉลี่ย 220,000 ลบ.ม.ต่อวัน 80 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี กำลังผลิตอยู่ที่ 188,000 ลบ.ม.ต่อวัน 65 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ซึ่งยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการ จำเป็นต้องพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติมหรือซื้อน้ำประปาเอกชน 

“จังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่เป้าหมายที่คาดว่าจะเสี่ยงภัยแล้ง แม้ว่าจะมีปริมาณฝนตกมากก็ตาม โดยท่านนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้มีการเตรียมการป้องกันภัยแล้งในระยะยาว รวมทั้งฤดูแล้งที่จะถึงนี้ด้วย โดยการประชุมสรุป 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรกจะแก้แล้งนี้ได้อย่างไร โดยเรามีน้ำต้นทุนที่คาดว่าจะเพียงพอในการผลิตน้ำประปา แต่ยังขาดโครงข่ายน้ำและความเชื่อมโยงที่จะนำน้ำมาใช้ จึงต้องกลับไปหาแนวทางที่จะดำเนินการ โดยมอบให้กปภ./เทศบาล/ประปาท้องถิ่นไปสำรวจเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังมีน้ำผิวดินหรือน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ลำห้วย คลอง สามารถนำมาใช้ได้ก่อน รวมทั้งการใช้น้ำจากแหล่งน้ำบาดาลมาเสริม

ส่วนปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำจะสำรองไว้ใช้ในกรณีที่เกิดเหตุจำเป็นจริงๆ และให้กปภ./เทศบาล/ชป.ดำเนินการตามแผนจัดการน้ำต้นทุนและการใช้น้ำรายเดือนอย่างเคร่งครัด รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด และประเด็นที่ 2 ในการจัดทำแผนหลักตามพ.ร.บ.น้ำ ระบุว่าจะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการ 5 ปี (พ.ศ.2561-2565) ซึ่งเราได้แผนงาน/โครงการจากหลายหน่วยงานแล้ว แต่ยังขาดอีกบางหน่วยงาน จึงต้องให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตบูรณาการแผนงานอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความชัดเจนเป็นรูปธรรมและตอบสนองต่อความต้องการของทุกภาคส่วนของจังหวัดภูเก็ตอย่างแท้จริง” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

ทั้งนี้ จังหวัดภูเก็ต มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปี 450 ล้าน ต่อ ลบ.ม. มีแหล่งน้ำในพื้นที่ความจุรวม 43.5 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 3 แห่ง ความจุรวม 21.7 ล้าน ลบ.ม. แหล่งน้ำขนาดเล็ก 184 แห่ง ความจุรวม 20.4 ล้าน ลบ.ม. และขุมเหมือง 7 แห่ง ความจุรวม 1.44 ล้าน ลบ.ม. โดยปัจจุบันมีความต้องการใช้น้ำ 60.2 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและการท่องเที่ยวรวม 33.1 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่อภาคอุตสาหกรรม 25.6 ล้าน ลบ.ม. และน้ำเพื่อการเกษตร 1.5 ล้าน ลบ.ม. โดยเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค และปัญหาการระบายน้ำ ในส่วนแผนงานและโครงการสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งของจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สาขาพังงา-ภูเก็ต วงเงินรวม 3,870 ล้านบาท งบประมาณปี 64 โดยครม.มีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 62 ที่ผ่านมา แบ่งเป็น แผนงานก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาพังงา-ภูเก็ต (ระยะที่1-2) วงเงิน 3,517.785 ล้านบาท งบประมาณปี 2564 และแผนการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย กปภ.สาขาภูเก็ต วงเงิน 353.123 ล้านบาท งบประมาณปี 2567 โดยใช้แหล่งน้ำดิบจากคลองพังงา (กปภ. ขอรับจัดสรรน้ำ 49 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี) และสระพักน้ำดิบเดิมและสระใหม่ของ กปภ. (ความจุรวม 1.4 ล้าน ลบ.ม.) สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ 120,000 ลบ.ม./วัน (รวมเป็น 232,200 ลบ.ม./วัน) เฉลี่ย 84.75 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี นอกจากนี้ ยังมีแผนงานโครงการสำคัญอื่นๆ ที่จำเป็นต้องดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม อาทิ การพัฒนาแหล่งน้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาลมาใช้ประโยชน์ การบำบัดน้ำเสียผลิตน้ำประปา การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำ การพัฒนาแก้มลิง การพัฒนาแหล่งน้ำจากขุมเหมืองและแอ่งเก็บน้ำใต้ดิน เป็นต้น