วันที่ 16 เม.ย.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า ที่ประชุม ส.ส.พรรคก้าวไกล เสนอเปิดประชุมวิสามัญด่วนที่สุด เพื่อเร่งอนุมัติ พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย ให้พอช่วยประชาชนอย่างทันท่วงที เพราะความเดือดร้อนรอไม่ได้ หลังจากที่นายกฯ ออกมาแถลงว่าสามารถเยียวยาได้เพียง 1 เดือนเท่านั้นและต้องรอออกไปก่อน
ที่ประชุม ส.ส.พรรค #ก้าวไกล เสนอเปิดประชุมวิสามัญด่วนที่สุด เพื่อเร่งอนุมัติโอนงบให้พอช่วยประชาชนอย่างทันท่วงที เพราะความเดือดร้อนรอไม่ได้ หลังจากที่นายกออกมาแถลงว่าสามารถเยียวยาได้เพียง 1 เดือนเท่านั้นและต้องรอออกไปก่อน #โควิด19 pic.twitter.com/9GVzcP4HcS
— Pita Limjaroenrat (@Pita_MFP) April 16, 2020
ด้าน นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง กล่าวถึงข้อเสนอของพรรคก้าวไกลให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ผู้แทนราษฎรมีความห่วงใยความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาผ่านสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตาม การขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญนั้นไม่ใช่อำนาจของประธาน หรือรองประธานสภาฯ เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภาที่ต้องเข้าชื่อกัน 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ของสองสภา หรือรัฐบาลเล็งเห็นว่ามีความจำเป็นตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังต้องศึกษากระบวนการเสนอร่าง พ.ร.บ.โดยละเอียด เนื่องจากในมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดไว้ว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง หรือทำประชาพิจารณ์เสียก่อน ซึ่งเท่าที่ติดตามขณะนี้กระบวนการของรัฐบาลยังไม่ถึงขั้นตอนดังกล่าว เพราะขณะนี้คณะรัฐมนตรีก็ยังไม่ได้มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกมา และคาดว่าจะดำเนินกระบวนการต่างๆ แล้วเสร็จช่วงเดือน พ.ค.ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงที่จะมีการเปิดประชุมสมัยสามัญในวันที่ 22 พ.ค.นี้อยู่แล้ว
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า เช่นเดียวกับการเสนอร่างพระกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ ของรัฐบาล ในการแก้ไขผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท ที่ถือว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน และอยู่ในอำนาจของรัฐบาล ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อมีผลบังคับใช้ จากนั้นก็ต้องมาพิจารณาตามมาตรา 172 วรรคสามของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดว่า ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป ให้ ครม.เสนอ พ.ร.ก.นั้นต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาโดยไม่ชักช้าถ้าอยู่นอกสมัยประชุมและการรอการเปิดสมัยประชุมสามัญ จะเป็นการชักช้า ครม.ต้องดำเนินการให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติ พ.ร.ก.โดยเร็ว ตรงนี้ต้องดูว่าภายหลัง พ.ร.ก.มีผลบังคับใช้แล้ว จะถือเป็นการชักช้าหรือไม่ หากจะนำไปพิจารณาในช่วงเปิดประชุมสมัยสามัญวันที่ 22 พ.ค.นี้
นายสุชาติ กล่าวยืนยันด้วยว่า หากมีความจำเป็นเร่งด่วนสภาฯ ก็มีความพร้อมจะสนับสนุนรัฐบาลในการเปิดสมัยประชุมวิสามัญ โดยขณะนี้ได้วางมาตรการรักษาความปลอดภัยจากการแพร่กระจายของไวรัสและคัดกรองบุคคลผู้ที่เดินทางเข้าออกอาคารรัฐสภา ทั้งในกรณีที่ไม่มีการประชุมหรือการประชุมคณะกรรมาธิการ ตลอดจนการประชุมสมัยวิสามัญ หรือสมัยสามัญช่วงเดือน พ.ค.ไว้แล้ว เพื่อให้การทำงานของสภาฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด หากสถานการณ์แพร่ระบาดยังไม่คลี่คลาย