ไม่พบผลการค้นหา
‘ศิริกัญญา’ แนะปรับลดงบประมาณเป็น 3.2 ล้านล้านบาท ป้องกันยอดงบประมาณขาดดุลทะลุเพดาน ติงรัฐบาลประเมิน GDP พลาด ไม่แก้ให้เข้ากับสถานการณ์โควิด-19

ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ว่า ขอปรับแก้มาตรา 4 แก้งบประมาณเป็น 3.2 ล้านล้านบาท โดยให้เหตุผลว่า การประมาณการรายได้ส่งผลต่อการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในนโยบายการคลัง การประมาณการรายได้สูงเกินจริงเนื่องจากมีการประมาณการรายได้ก่อนการระบาดของโควิด-19 ในปี 2564 อยู่ที่ 2.67 ล้านล้านบาท โดยประมาณว่า GDP จะโต 1.8% แต่ประมาณการที่สูงเกินจริงส่งผลต่อขนาดการขาดดุลงบประมาณ จากเดิมตามข้อมูลตามเอกสารงบประมาณ คือ GDP ปี 2563 - 5.5 และ GDP ปี 2564 เป็น +5%

สภา_๒๐๐๙๑๖_1.jpg

แต่จากที่ตนศึกษาตัวเลขของสภาพัฒน์และธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าตัวเลขขาดดุลงบประมาณอาจจะสูงถึง 902,983 ล้านบาท และทางกรรมาธิการได้ถามสำนักงบประมาณให้ประเมินตัวเลขใหม่แต่ก็ไม่ได้คำตอบ ซึ่งหากเลขที่ตนคำนวณมาเป็นจริง จะขัดกับเพดานการกู้ซึ่งมีเพียง 736,392 ล้านบาท เงินส่วนเกินก็ยังไม่รู้ว่าจะเอารายได้ส่วนไหนมาชดเชย

"ตอนนี้โอกาสในการขาดดุลทะลุเพดานสูงมาก ตอนนี้ช่องว่างในการขาดดุลทำได้อีกเพียงหนึ่งแสนล้านบาท หากเก็บรายได้พลาดเป้าไปเพียง 4% ของ GDP ก็จะทะลุเพดาน รัฐบาลจึงมี 3 ทางเลือก คือ การกู้เพื่อบริหารจัดการกระแสเงินสดและต้องชำระคืนภายใน 120 วัน, ออก พ.ร.ก.เงินกู้อีกครั้ง, การตัดลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ลงให้เหลือ 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นทางออกเดียวที่ลดความเสี่ยงได้อย่างสมเหตุผลมากที่สุด" ศิริกัญญา ระบุ

ด้าน วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปรายเสนอตัดงบประมาณร้อยละ 10 เนื่องจากการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลไม่เคยเปลี่ยนแปลง สนองเพียงความต้องการของส่วนราชการ ไม่สนองต่อความต้องการของประชาชน ซึ่งเป็นการบริหารแบบรัฐราชการ และการบริหารงบประมาณไม่สอดคล้องความเป็นจริง

นับแต่การรัฐประหารปี 2557 สะท้อนว่าเศรษฐกิจย้ำแย่ทุกปี แต่ก็ไม่มีการปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณ และยังต้องประสบปัญหาโควิด-19 ส่งผลกระทบเศรษฐกิจร้ายแรง แต่ต้องเสนอตัดงบประมาณ เพราะมีการจัดสรรไม่ถูกที่ถูกทาง โดยเฉพาะงบกระทรวงกลาโหมเกี่ยวกับการจัดซื้ออาวุธ อย่างการถอดการจัดซื้อเรือดำน้ำก็เป็นตัวอย่างการจัดงบประมาณที่ไม่เหมาะสม ขณะที่งบด้านสาธารณสุขที่จำเป็นต้องดูแลประชาชนตั้งแต่ปี 2559 จัดสรรเพียงครึ่งเดียวของกระทรวงกลาโหม

มาตรา 4 งบประมาณรวม 3.28 ล้านล้านบาท

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ในฐานะกรรมาธิการสัดส่วนฝ่ายค้าน ตั้งข้อสังเกตว่าไม่จำเป็นต้องกู้เงิน เนื่องจากพบเงินนอกงบประมาณ 4.8 ล้านล้านบาท

ขณะที่นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล กรรมาธิการสัดส่วนฝ่ายค้าน อภิปรายว่ามีงบประมาณอีกหลายรายการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับโควิด-19 เบิกจ่ายไม่ได้ รวมถึงเบี้ยผู้สูงอายุ เพราะไม่มีเงิน ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ระมัดระวังว่าไม่มีงบประมาณ ประชาชนไม่มีรายได้เพียงพอจัดเก็บภาษี

ดังนั้นต้องบริหารงบประมาณให้รัดกุมที่สุด แต่การจัดสรรงบประมาณส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายประจำมากที่สุด และควรเอาเงินนอกงบประมาณ 4.8 ล้านล้านบาทมาใช้ จะได้จัดเก็บภาษีน้อยลง ลดภาระประชาชน หากรัฐบาลไม่ตัดรายจ่าย ก็ต้องรีดภาษีประชาชน พร้อมสรุปว่าการใช้จ่ายงบประมาณไม่ได้มีประสิทธิภาพเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง เชื่อว่าไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้า

วัฒนา เมืองสุข กรรมาธิการจากสัดส่วนฝ่ายค้าน อภิปรายเสนอตัดงบประมาณร้อยละ 10 โดยชี้ว่ารายจ่ายประจำสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญถึง 2.2 เท่า หากเทียบกับรายจ่ายเพื่อการลงทุนที่สูงขึ้น 1.8 เท่า เท่านั้น ขณะที่การจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า อย่างน้อย 3 แสนล้านบาทแน่นอน ขณะเดียวกันปี 2564 ยังไม่เห็นสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัว อย่างการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าประมาณการ

จึงเห็นควรปรับลดงบประมาณเพื่อให้รัฐบาลปรับลดรายจ่ายประจำ โดยเฉพาะกองทัพไทยที่มีทหารมากกว่าประเทศที่เจริญแล้ว 3 ประเทศรวมกัน และเพื่อรักษากรอบความยั่งยืนและวินัยการเงินการคลัง

ส่อก่อหนี้สาธารณะอยู่ที่ 60.1 %

สภา_๒๐๐๙๑๖.jpg

ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายเสนอตัดงบประมาณ 8 % นื่องจากการจัดเก็บรายได้คาดการณ์ 2.67 ล้านล้านบาท จะต่ำกว่าคาดการณ์ ท้องถิ่นเก็บภาษีที่ดินไม่ได้ตามเป้า และกรรมาธิการบางคนระบุว่าอาจขาดดุลถึง 3 แสนล้านบาท รวมถึงการจัดสรรงบประมาณไม่ตอบโจทย์ประเทศ โดยเฉพาะปัญหาโควิด-19 กรรมาธิการเสียงข้างมาก สำนักงบประมาณและรัฐบาล าดความใส่ใจการตอบสนองการแก้ไขปัญหาประเทศ

สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสารงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (ประธานวิปรัฐบาล) อภิปรายว่า วันนี้ไม่เห็นการปรับลดที่สอดคล้องต่อความจำเป็น เชื่อว่าหากยังเป็นเช่นนี้ในอนาคตรัฐบาลก็จะมาขอให้สภาแก้กฏหมายขยายเพดานเงินกู้อีกแน่นอน จึงอยากให้มีตัดงบบางส่วนที่เป็นไขมันไปใช้ในส่วนที่จำเป็น เช่น โครงการเพิ่มประสิทธิภาพถนน 4 โครงการในจังหวัดมหาสารคาม วงเงิน 190 ล้านบาท ซึ่งยังไม่พร้อม แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่าอนุมัติงบประมาณให้หรือไม่ ทำให้เห็นว่าโครงการต่างๆที่พร้อมและประชาชนแบมือขอไม่อนุมัติงบให้ แต่กลับไปให้ในสิ่งที่ยังไม่พร้อม  

สุทิน กล่าวอีกว่า งบประมาณที่โดนตัดในชั้นกมธ. ทำไมถึงโยนกลับคลัง ความจริงเมื่อตัดงบแล้วก็ต้องนำไปใช้กับส่วนอื่นๆให้เกิดประโยชน์ อย่างเช่น โครงการบัตร 30 บาทรักษาทุกโรคให้ครอบคลุมถึงโรคไต หรือจะเพิ่มเงินให้กับกลุ่มบำเหน็บบำนาญข้าราชการและกลุ่มบำเหน็บบำนาญผู้สูงอายุ ซึ่งที่ผ่านมาตนโดนบิดเบือนว่าจะตัดเงินของคนกลุ่มนี้จนถูกทัวร์ลง แต่ความจริงตนมีแต่จะเพิ่มให้  

เกียรติ สิทธิอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายเสนอตัดงบประมาณ 10 % โดยชี้ว่ารายงานของคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ยังมีภาพเป็นบวกจนมีผลกระทบต่อการประเมินรายรับและสภาพหนี้โดยรวมของประเทศไทย ทั้งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจติดลบถึง 8.1 ๔ เก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายแน่นอน

โดยคณะกรรมาธิการยอมรับว่าจะเก็บรายได้ 2.37 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายแรกที่ระบุว่า 2.7 ล้านล้านบาท ขณะที่สถาบันพระปกเกล้าวิเคราะห์ว่า หากจัดสรรงบประมาณตามนี้ ปี 2564 จะมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ 60.1 % เกินเพดานหนี้สาธารณะ และปี 2571 หนี้จะสูงถึง 77 % ซึ่งต้องแก้ไขกฎหมายการจัดสรรงบประมาณ ส่วนเงินนอกงบประมาณ 4.8 ล้านล้านบาท 9 ประเภท คืนเข้าคลังเพียง 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องชี้แจงว่าสามารถนำมาใช้ในภาวะวิกฤตอย่างไรได้บ้าง

 "รังสิมา"จี้ จัดการตัวเขมือบเปิดห้องเชือดตบทรัพย์ขรก. แนะ ยกเลิกอนุกมธ. 

รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ในกมธ.งบประมาณแต่ละปี จะมีอยู่2ประเภท คือ นักการเมืองอาชีพ กับอาชีพนักการเมือง ซึ่งที่ผ่านมาจะมีอาชีพนักการเมืองเข้าไปเป็นกมธ.งบประมาณ และเกิดปัญหาอย่างที่ตนเคยอภิปรายว่าให้ระวังให้ดีมีตัวเขมือบ เข้าไปเขมือบงบต่างๆ ไปตบทรัพย์ เปิดห้องเชือด ไปเชือดคนที่จะเข้าไปพิจารณางบก่อน มันทำให้สภาฯเสื่อมเสีย ที่ผ่านมามีปัญหาเป็นคดีกันเเล้ว ดังนั้น จึงอยากฝากว่าต้องเอาจริงเอาจัง ให้ประธานสภาฯเชือดไก่ให้ลิงดู คนที่มีอาชีพนักการเมืองถ้าตบทรัพย์เช่นนี้ตนไม่เห็นด้วย 

ตอนนี้มีข้าราชการที่กล้าสู้กับนักการเมืองที่ไม่โปร่งใส ก็ขอชื่นชม แต่ไม่อยากให้ข้าราชการตั้งงบประมาณสูงเกินความจำเป็น และปีต่อๆไป ไม่ต้องตั้งอนุกมธ.แล้ว เลิกไปเลย ประธานสภาฯควรให้เลิก ตั้งอนุกมธ.มาทำไมถึง 8 คณะ เสียงบประมาณ เสียเวลา เช่น พอตัดงบไปแล้ว3-4หมื่นล้านบาท แต่พอไปกมธ.ห้องใหญ่ขอคืนหมด จึงอยากฝากว่า ปีต่อๆไปคณะกมธ.งบประมาณชุดใหญ่จะพิจารณาตัดงบจุดไหนก็ตัดไปเลย ไม่ต้องมาเรียกคืนทีหลัง แล้วให้พวกหากิน มาหากินแต่ละห้องกมธ. ตนไม่เห็นด้วยและจะต่อสู้ตลอดไปหากมีเหตุการณ์แบบนี้อีก และอยากให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)เอาจริงเอาจังกับคนที่เข้ามามีผลประโยชน์กับกมธ.งบประมาณทุกๆปีด้วย 

เวลา 15.30 น. สมาชิกอภิปรายมาตรา 4 เป็นที่เรียบร้อย ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯคนที่สอง ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้ให้ลงมติมาตรา 4 ซึ่งคณะ กมธ.แก้ไขวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 64 เป็น 3.28 ล้านล้านบาท ปรากฏที่ประชุมเห็นด้วยกับการแก้ไข 264 ต่อ 140 งดออกเสียง 18 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง