วันนี้ (20 ธันวาคม 2568) พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดงาน FutureTech 2025 : ก้าวเข้าสู่อนาคตทางการเงิน (Shaping Thailand’s Technologic Horizon and Resolving Emerging Disputes) สร้างอนาคตดิจิทัลของไทยและแก้ไขข้อขัดแย้งที่เกิดจากเทคโนโลยี โดยมี นายสกลกรย์ สระกวี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และกรรมการ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด นายสุริยพงศ์ ทับทิมแท้ ผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC) นายชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินแทคแห่งประเทศไทย คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ SCBX NEXT TECH สยามพารากอน ชั้น 4 กรุงเทพมหานคร
โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวใจความตอนหนึ่งว่า ฟินเทค หรือ Financial Technology คือ การนำเทคโนโลยีมาพัฒนาและปรับปรุงบริการทางการเงินให้สะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงได้มากขึ้น ความก้าวหน้าของฟินเทคในประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด จะเห็นได้จากระบบการชำระเงินดิจิทัลซึ่งคนไทยเป็นหนึ่งในผู้ใช้งานมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากสถิติล่าสุดในเดือนตุลาคม 2567 พบว่า การชำระเงินดิจิทัลต่อคนต่อปีเพิ่มขึ้นเป็น 635 ครั้ง จากเดิม 312 ครั้ง ในปี 2564 และมีจํานวนบัญชีธนาคารบนมือถือและอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจากเดิม 123.2 ล้านบัญชีเป็น 144.3 ล้านบัญชี สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความทั่วถึงของฟินเทค ตลอดจนการเติบโตอย่างรวดเร็วของการใช้งานฟินเทคในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเงินที่ครั้งสำคัญในภาคการเงินและเทคโนโลยีของไทย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้พร้อมสำหรับการเติบโตนี้ จึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายที่ตามมา โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ การควบคุมการเงินที่ไม่เป็นระเบียบ และผลกระทบจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในภาคการเงิน ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่อาจนำไปสู่ข้อพิพาทได้
ในฐานะกระทรวงยุติธรรม อนุญาโตตุลาการเป็นเครื่องมือสำคัญในการระงับข้อพิพาทด้านฟินเทค ด้วยเหตุผลสำคัญหลายประการ
ประการที่1 ด้านความเชี่ยวชาญ เนื่องจากข้อพิพาทด้านฟินเทคมักมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเฉพาะทาง เช่น Blockchain หรือ Smart Contracts อนุญาโตตุลาการช่วยให้เราสามารถเลือกผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาเป็นผู้ชี้ขาดได้
ประการที่2 ด้านความรวดเร็ว อนุญาโตตุลาการใช้เวลาน้อยกว่าศาลปกติในการตัดสินข้อพิพาท ซึ่งสอดคล้องกับธรรมชาติของธุรกิจฟินเทคที่ต้องการความรวดเร็ว
ประการที่3 ด้านความยืดหยุ่น คู่กรณีสามารถกำหนดกระบวนการพิจารณา รวมถึงสถานที่และภาษาที่ใช้ในการอนุญาโตตุลาการได้ตามความเหมาะสม
ประการที่4 ด้านการรักษาความลับ ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีหรือกระบวนการทางการเงินที่อ่อนไหวสามารถได้รับการปกปิดในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ และที่สำคัญที่สุด ในบริบทระหว่างประเทศ การอนุญาโตตุลาการยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในยุคที่ธุรกรรมดิจิทัลไร้พรมแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยยังไม่มีกระบวนการในการบังคับคดีข้ามพรมแดน หรือ Cross Border Enforcement
การสัมมนาในวันนี้จะเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินของไทย ควบคู่ไปกับการสร้างกลไกระงับข้อพิพาทที่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเติบโตของฟินเทคในระยะยาว การใช้กระบวนการระงับข้อพิพาทอนุญาโตตุลาการหรือการประนอมข้อพิพาทที่สถาบันอนุญาโตตุลาการ จะเป็นช่องทางสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของฟินเทคในประเทศไทย และสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่คู่พิพาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ