นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบหารือกับ นางสาวเมลินดา กู๊ด (Ms. Melinda Good) ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เมื่อวันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2568 โดยสรุปสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับและขอบคุณธนาคารโลกที่ได้มีส่วนในการสนับสนุนภารกิจของรัฐบาลไทยผ่านโครงการต่าง ๆ ในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาประเทศ พร้อมเน้นย้ำว่ารัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมทำงานร่วมกับธนาคารโลกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่รัฐบาลถือเป็นอีกวาระสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต
ผู้อำนวยการธนาคารโลกฯ ขอบคุณสำหรับความร่วมมือของรัฐบาลไทย ซึ่งธนาคารโลกพร้อมให้การสนับสนุน เพื่อสร้างเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเงินเพื่อความยั่งยืน ตลอดจนความร่วมมือผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ด้านการพัฒนาและข้อเสนอแนะ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทยและภูมิภาค พร้อมชื่นชมความก้าวหน้าของไทยด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมการเงินคาร์บอนต่ำ (Low carbon financial) โดยเชื่อมั่นว่าไทยมีศักยภาพและมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการลงทุน ซึ่งสามารถเป็นแนวทางให้กับประเทศอื่น ๆ ได้อีกมาก
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับธนาคารโลกใน 3 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
1) โครงการเมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon City Project: LCCP) ผู้อำนวยการธนาคารโลกฯ ชื่นชมและให้ความสนใจต่อโครงการดังกล่าว เชื่อมั่นว่าจะเป็นต้นแบบสำคัญให้แก่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคได้ โดยขณะนี้ธนาคารโลกได้ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีการจัดตั้งคณะทำงานศึกษาและพัฒนาโครงการฯ แล้ว ซึ่งธนาคารโลกยินดีสนับสนุนไทยให้ได้รับความสนใจจากผู้นำในอุตสาหกรรมการเงินคาร์บอนต่ำ และเกิดรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนระหว่างประเทศแบบสมัครใจ
2) โครงการความมั่นคงด้านน้ำ ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน เช่น การศึกษาโครงการ Flood Way และโครงสร้างขนาดใหญ่ ขณะที่ธนาคารโลกเสนอแนะถึงแผนการโยกย้ายถิ่นฐานที่ครอบคลุม มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและลดผลกระทบให้น้อยที่สุด โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงการพัฒนาโครงการให้สอดรับกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและเมือง เช่น การใช้น้ำกับชุมชม การบำบัดอุตสาหกรรมน้ำเสีย
3) การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ผู้อำนวยการธนาคารโลกฯ พร้อมให้การสนับสนุนและนำเสนอกรณีศึกษาจากต่างประเทศ โดยแนะนำกลไกทางการเงินแบบนวัตกรรมที่สามารถปรับใช้กลไกเหล่านี้ให้เข้ากับบริบทของไทยได้ ซึ่งไทยอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวและยินดีที่จะรับข้อเสนอแนะ พร้อมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นจากธนาคารโลก เพื่อนำมาพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป