ไม่พบผลการค้นหา
รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 กำหนดไว้ว่า ภายหลังที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้ง สส. ผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ที่มี จำนวน สส.มากที่สุด และสมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

โดยมาตราดังกล่าวกำหนดในวรรคสามว่า "ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร"

อย่างไรก็ตามนับแต่ประเทศไทยมีระบบรัฐสภา โดยมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งนั้น รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2517 ได้กำหนดให้มีตำแหน่ง 'ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร' เป็นครั้งแรก

ซึ่งบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญในขณะนั้นกำหนดไว้ใน มาตรา 126 ว่า ภายหลังที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 184 แล้ว พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้ง สส.ผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง สส.ในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองซึ่ง สส.ในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภา เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร"

ทำให้ประเทศไทยมีตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นครั้้งแรก เมื่อปี 2518 โดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำฝ่ายค้านฯ คนแรกในสภาฯ 

ส่วนผู้นำฝ่ายค้านฯ คนล่าสุุดคนที่ 9 คือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตามประกาศแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านฯ เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2564 

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นับตั้งแต่ปี 2518 - ปัจจุบัน จำนวน 9 คน

คนที่ 1 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร คนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเป็นผู้นำฝ่ายค้านฯ เมื่อ 22 มี.ค. พ.ศ. 2518 - 12 ม.ค. พ.ศ. 2519

คนที่ 2 พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย เป็นผู้นำฝ่ายค้านฯ 24 พ.ค. พ.ศ. 2526 - 1 พ.ค. พ.ศ. 2529 

คนที่ 3 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ เป็นผู้นำฝ่ายค้านฯ เมื่อ 15 พ.ค. พ.ศ. 2535 - 16 มิ.ย. 2535  

คนที่ 4 บรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย เมื่อ 27 พ.ค. 2537- 19 พ.ค. 2538 

คนที่ 5 ชวน หลีกภัย หัวหน้าประชาธิปัตย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้นำฝ่ายค้านฯ เมื่อ 4 ส.ค. 2538 - 27 ก.ย. 2539 

คนที่ 6 บัญญัติ บรรทัดฐาน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้นำฝ่ายค้านฯ เมื่อ 23 พ.ค. 2546 - 5 ม.ค. 2548 

คนที่ 7 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้นำฝ่ายค้านฯ ครั้งแรกเมื่อ 23 เม.ย. 2548 -24 ก.พ. 2549

คนที่ 8 สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นผู้นำฝ่ายค้านฯ เมื่อ 17 ส.ค. 2562 - 26 ก.ย. 2563 

คนที่ 9 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เมื่อ 29 ธ.ค. 2564 - 20 มี.ค. 2566

ชัยธวัช 688771766621772207_n.jpg

สำหรับว่าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ คนที่ 10 นั้น จะเป็นของพรรคก้าวไกล ซึ่งมี สส.มากที่สุดในสภาฯ 150 เสียง และไม่ได้มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานหรือรองประธานสภาฯ

เพราะล่าสุดเพิ่งมีมติขับ 'ปดิพัทธ์ สันติภาดา' สส.พิษณุโลก และรองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง พ้นจากสมาชิกพรรค เพื่อเปิดทางให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลขึ้นเป็นผู้นำฝ่ายค้านฯ

โดย 'ชัยธวัช ตุลาธน' สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งได้รับเลือกจากพรรคก้าวไกล ให้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล แทน 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' สส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยในคดีถือหุ้นไอทีวี

ทั้งนี้ 'ชัยธวัช' อยู่ระหว่างรอพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้นำฝ่ายค้านฯ 

โดย 'ชัยธวัช' หรือ นามสกุลเดิม 'ชัยธวัช แซ่โค้ว' หรือ ต๋อม ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2566  

'ชัยธวัช' เกิดเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2521 ที่ ต.ทุ่งหวัง อ.เมือง จ.สงขลา จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จ.สงขลา ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และจบปริญญาตรี จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

ปี 2540 เคยร่วมกิจกรรมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และในปี 2541 ได้เป็นเลขาธิการ สนนท.

ชัยธวัช ไอติม พริษฐ์ ประชุมรัฐสภา 013_0.jpg

'ชัยธวัช' เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ร่วมกับ 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' และ 'ปิยบุตร แสงกนกกุล'  โดยมีตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบพรรค 'ชัยธวัช' เข้ามารับบทบาทตำแหน่งเลขาธิการพรรคก้าวไกล จนนำพรรคชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 ด้วยเสียง สส.ในสภาฯ 151 ที่นั่ง แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

ทันที่ที่เขาได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ประกาศเป้าหมายสำคัญทำการเมืองแบบอนาคตใหม่-ก้าวไกลต่อไป ตามยุทธศาสตร์สำคัญ 4 ด้านและภารกิจเฉพาะหน้า 2 ภารกิจสำคัญ

ยุทธศาสตร์แรก คือสร้างพรรคก้าวไกลให้เข้มแข็ง 

ยุทธศาสตร์ที่สอง คือฝ่ายค้านในสภา

ยุทธศาสตร์ที่สาม คือฝ่ายค้านเชิงรุก 

ยุทธศาสตร์ที่ 4 คือตรึงพื้นที่เก่า รุกพื้นที่ใหม่ เร่งทำงานพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกล ทำงานไม่เหมือนใคร

“ผมทราบดีว่าพวกเราเสียใจ หลายคนสิ้นหวัง เสียน้ำตาเพราะพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งแต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ นับจากนี้ต่อไป ขอให้เอาน้ำตา เอาความเสียใจไว้ข้างหลัง เราลองนึกถึงสังคมการเมืองไทยก่อนจะมีอนาคตใหม่ก้าวไกล วันนี้พวกเราช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลงมากมายขนาดไหน ไม่มีอะไรต้องเสียใจ มีแต่ต้องเดินหน้า จับมือร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้มากกว่านี้เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน ก้าวต่อไปก้าวไกลทั้งแผ่นดิน” ชัยธวัช ระบุ

ภารกิจของ 'ชัยธวัช' ในบทบาทผู้นำฝ่ายค้านฯ คนที่ 10 จึงต้องจับตาอย่างยิ่งว่าจะสามารถตรวจสอบเชิงรุกและสร้างพรรคก้าวไกลให้เข้มแข็งได้หรือไม่ ภายใต้สถานการณ์ที่ต้องตรวจสอบการทำงานรัฐบาลภายใต้การนำของ 'พรรคเพื่อไทย' ที่เคยเป็นมิตรร่วมรบในอุดมการณ์เดียวกัน