ไม่พบผลการค้นหา
ศักราชใหม่ไทย-ซาอุฯ ศอ.บต.มองเป็นโอกาสในการพัฒนาชายแดนใต้ เตรียมจัดเวทีระดมความคิดทุกภาคส่วน

ศอ.บต. เตรียมจัดเวทีระดมสมองจากทุกภาคส่วนในหัวข้อ “โอกาสและศักยภาพของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังไทย-ซาอุฯฟื้นความสัมพันธ์” ในเดือนก.พ.นี้ นำข้อมูลเสนอต่อรัฐบาลเพื่อจัดทำนโยบายและแนวทางการพัฒนาร่วมกับซาอุดิอาระเบีย

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา “นำไปสู่การเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบียอย่างสมบูรณ์ และการส่งเสริมความร่วมมือในมิติต่างๆอันจะเป็นประโยชน์ร่วมกัน”

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รายงานต่อนายกรัฐมนตรีว่า ได้กำหนดแนวทางต่อยอดโอกาสจากการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ดังกล่าว เพื่อเร่งขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อย่างเป็นรูปธรรม และผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยจะมีการจัดประชุมสัมมนา “โอกาสและศักยภาพของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังไทย-ซาอุฯฟื้นความสัมพันธ์” ประมาณกลางเดือน ก.พ.นี้ เพื่อระดมความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น-ท้องที่ ข้าราชการ แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานที่ซาอุฯ และประชาชนทุกสาขาอาชีพ กว่า 500 คนที่มีประสบการณ์ทั้งการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตในราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย

โดยศอ.บต. จะรวบรวมข้อมูลที่ได้เสนอต่อรัฐบาล เพื่อใช้ประกอบการจัดทำนโยบายและแนวทางการพัฒนาร่วมกับซาอุดิอาระเบียต่อไป และจะได้นำเสนอต่อการประชุมเอกอัครราชทูตและทูตานุทูตโลกอิสลามประจำประเทศไทยและเครือข่ายองค์กรนานาชาติด้านโลกอิสลาม ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือน มี.ค. ด้วย

นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า การจัดประชุมเอกอัครราชทูตโลกอิสลามและเครือข่ายองค์กรนานาชาติด้านโลกอิสลามดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามแผนการทำงานของศอ.บต ปี 2565 ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยฟาตอนี และสมาคม ชมรมและกลุ่มนักเรียน นักศึกษาเก่าจากโลกมุสลิม โดยจะมีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูลการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกมิติ ครอบคุลมด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข การมีส่วนร่วมของประชาชนและอื่น ๆ

“จากการเปิดศักราชใหม่ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯครั้งนี้ นำไปสู่ความร่วมมือและประโยชน์ในด้านต่างๆ อาทิ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียน การศึกษาและวิจัย ความมั่นคง การท่องเที่ยวและกีฬา และยังส่งผลบวกต่อความรู้สึกของชุมชนมุสลิมในประเทศที่มองซาอุดิอาระเบียเป็นศูนย์กลางศาสนาอิสลาม ขณะเดียวกันจะทำให้การประสานงานและการขับเคลื่อนงานพัฒนาระหว่างจังหวัดชายแดนใต้กับซาอุดีอาระเบียที่มีมาอย่างต่อเนื่อง สามารถขยายขอบเขตและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” นางสาวรัชดา กล่าว