ไม่พบผลการค้นหา
คุยกับผู้เขียนหนังสือการเมืองไทยอีกเล่มที่สามารถช่วยเราย้อนกลับไปทำความเข้าใจเรื่องราว และผลที่เกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหาร 2490 จุดพลิกผันครั้งสำคัญ กำเนิดอำนาจนิยมของกองทัพไทย และต้นแบบของการรัฐประหารอีกหลายครั้งนับจากนั้นเป็นต้นมา

การเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงปัจจุบันประเทศไทยมีการทำรัฐประหารไปแล้วทั้งหมด 13 ครั้ง และหากย้อนกลับไปมองในช่วงประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็จะพบว่า การรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 นำโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ นับเป็นจุดพลิกผันครั้งสำคัญที่ทำให้พลังของฝ่ายอนุรักษนิยมหวนกลับมา และเป็นจุดกำเนิดอำนาจนิยมของกองทัพไทย ตลอดจนมีสถานะเป็นต้นแบบของการรัฐประหารอีกหลายครั้งนับจากนั้นเป็นต้นมา

เนื่องในโอกาสครบรอบ 72 ปี รัฐประหาร 2490 'วอยซ์ ออนไลน์' ติดต่อไปยัง 'สุชิน ตันติกุล' ผู้เขียนหนังสือ "จุดกำเนิดอำนาจนิยมกองทัพ รัฐประหาร พ.ศ.2490" ซึ่งเป็นหนังสือที่ปรับปรุงจากงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรี เผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี 2515 และได้รับการนำกลับมาตีพิมพ์อีกครั้งเมื่อเดือน ธันวาคม 2557 หลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่นาน

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แผนกรัฐศาสตร์ศึกษา ที่เปิดได้เพียง 3 รุ่นก็ถูกยุบไป (นักศึกษาที่จบหลักสูตรนี้ อาทิ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล) โดยสุชิน เป็นนักศึกษาในรุ่นแรก ปัจจุบันเขาอายุ 70 ปี เรามีโอกาสได้เดินทางไปนั่งสนทนากับเขาถึง จ.นครราชสีมา เพื่อพูดคุยกับเขาในฐานะผู้ประพันธ์หนังสือเล่มดังกล่าว

เขาเล่าว่า การทำวิทยานิพนธ์เล่มนี้เป็นเรื่องที่ยากลำบาก เพราะเขียนในช่วงที่รัฐบาลทหาร ขณะนั้น คือจอมพลถนอม กิตติขจร กำลังปกครองประเทศ

นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กล่าวได้ว่า 'คณะราษฎร' คณะผู้ก่อการได้เป็นผู้กุมอำนาจทางการเมืองตลอดมา

แต่ สุชิน กล่าวว่า คณะราษฎร ยังไม่ได้มีใครกุมอำนาจไว้เพียงผู้เดียว กลุ่มที่กุมอำนาจของคณะราษฎรมีอำนาจคานกันอยู่ 3 ฝ่าย คือ ทหารบก ทหารเรือ และฝ่ายพลเรือน แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร 2490 ขึ้น ทำให้ 'ทหารบก' กุมอำนาจในการปกครองประเทศไว้แต่ฝ่ายเดียว

อ.สุชิน


ข้ออ้างของการรัฐประหาร 2490 - ข้าวแพง - ทหารถูกหมิ่นเกียรติ - ร.8 สวรรคต

สุชิน กล่าวถึงข้ออ้างของคณะรัฐประหาร 2490 ที่คณะรัฐประหารได้หยิบยกมาอ้างให้เป็นสาเหตุในก่อการยึดอำนาจจากรัฐบาลพล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (ดำรงตำแหน่งต่อจากรัฐบาลนายปรีดี พยมยงค์ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2489 – 8 พ.ย.2490) สามารถสรุปได้หลักๆ 3 เรื่องคือ 

หนึ่ง ความไม่พอใจของฝ่ายทหารบก หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 กล่าวคือ ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการจัดส่งทหารไทยไปยังภาคเหนือ ทำการสู้รบยึดครองเมืองเชียงตุง เมืองพาน และได้เรียกดินแดนที่เข้ายึดครองนี้ว่า สหรัฐไทยเดิม ซึ่งเคยอยู่ในการครอบครองของอังกฤษ

แต่หลังจากญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม รัฐบาลไทยได้ประกาศสันติภาพเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 และซึ่งมีผลให้การประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตรเป็นโมฆะ และรัฐบาลได้สั่งการให้ทหารที่ไปรบถอนตัวออกจากสหรัฐไทยเดิม แต่การขนย้ายทหารกลับเป็นไปอย่างไม่ราบรื่น ทำให้ทหารบกที่ถูกส่งไปรบนั้นเกิดความไม่พอใจ นายทหารจำนวนมากต้องเดินทางกลับเอง ด้วยสภาวะจิตใจที่อยู่ในสงครามย่อมมีความรู้สึกตึงเครียด เมื่อสงครามสิ้นสุดลงแล้ว ต่างก็คิดว่าจะได้รับการต้อนรับที่ดี แต่กลับไม่ได้เป็นอย่างที่คิด นายทหารบางคนเมื่อกลับมาถึงก็พบว่ามีคำสั่งให้ปลดออกประจำการไปแล้ว เป็นความรู้สึกว่า กำลังถูกรัฐบาลตัดหางปล่อยวัด

สอง กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคการเมืองฝ่ายค้านคือ พรรคประชาธิปัตย์ได้ถือเป็นสาเหตุโจมตีทั้งในสภาและนอกสภา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีมือมืดไปตะโกนในโรงหนังว่าผู้นำรัฐบาลนายปรีดี เป็นนายกรัฐมนตรีมีส่วนเกี่ยวข้องในกรณีสวรรคต ส่วนภายในสภาฯ พรรคประชาธิปัตย์ได้นำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลโดยชี้ว่ารัฐบาล ไม่สามารถค้นหาข้อเท็จจริงและชี้แจงให้ประชาชนได้ทราบว่า รัชกาลที่ 8 สวรรคตด้วยเหตุใด รวมถึงการใส่ความว่านายปรีดี ได้สั่งให้คนไปฆ่าในหลวง 

สาม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาพไม่มั่นคง เกิดภาวะเงินเฟ้อ ค่าเงินตกต่ำ สินค้ามีราคาแพง ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมถึงภาวะขาดแคลน "ข้าว" ซึ่งเกิดจากการที่ประเทศไทยผลิตข้าวได้ลดลงในช่วงสงคราม และข้าวได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ

เมื่อประเทศไทยได้ทำสัญญา "ความตกลงสมบูรณ์แบบ" กับประเทศอังกฤษ ในสมัย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำให้ประเทศไทยต้องส่งข้าวให้อังกฤษ 1 ล้าน 5 แสนตัน โดยไม่คิดมูลค่า (ต่อมา ในสมัยรัฐบาลนายปรีดี ได้มีการแก้ไขข้อตกลงจากการส่งข้าวโดยไม่คิดมูลค่า มาเป็นการขายข้าวให้อังกฤษ ราคาตันละ 12 ปอนด์ 14 ชิลลิง ภายในเวลา 12 เดือน)

ในหนังสือของสุชิน ระบุว่า ขณะนั้น จอมพลผิน ชุนหะวัณ ผู้เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร วิจารณ์การขาดแคลนข้าวบริโภคว่า "เมืองเราเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวแท้ๆ แต่ต้องเข้าคิวซื้อข้าวกิน และข้าวที่ได้มานั้นก็มีคุณภาพเลวที่สุด"

CLIP Tonight Thailand : 1 สัปดาห์ หมุดคณะราษฎรหายไร้ร่องรอย?

( หมุดคณะราษฎร ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นหมุดหมายของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเปรียบดั่งมรดกคณะราษฎร )


จุดเปลี่ยนสำคัญ จุดเริ่มต้นอำนาจนิยม ลบอำนาจคณะราษฎร

เมื่อพูดถึงการครองอำนาจที่ยาวนานของทหาร บางคนจดจำระบอบนี้ว่าระบอบ สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส อาจเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นโดยการรัฐประหารในปี 2500 ที่ทำให้ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ครองอำนาจเรื่อยมา หากแต่นักวิชาการส่วนหนึ่ง รวมถึงสุชิน มองว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของอำนาจนิยมกองทัพ และการลบอุดมการณ์ของคณะราษฎรที่มุ่งหมายจะเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย อยู่ที่ รัฐประหาร 2490

ทั้งนี้ สุชิน วิเคราะห์ไว้ในหนังสือว่า "อำนาจทางการเมืองของคณะราษฎร ได้สะดุดหยุดลงด้วยการรัฐประหาร 2490 อำนาจทางการเมืองตกมาอยู่แก่คณะรัฐประหาร หากแต่มอบหมายให้ จอมพล ป.เป็นผู้ประสาน ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในคณะรัฐประหารแทนที่จะเป็นผู้สั่งการ"

"กล่าวได้ว่า รัฐประหาร 2490 เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงการถ่ายทอดอำนาจทางการเมืองจากคณะราษฎร มาสู่คณะรัฐประหารซึ่งก็คือ กลุ่มทหารบก"

สุชิน กล่าวว่า การรัฐประหาร 2490 เป็นการใช้อำนาจนิยมอย่างแท้จริง หมายความว่า ใครจะก่อการจลาจลปฏิวัติ หรือ กบฏ จะทำการปราบด้วยอาวุธอย่างจริงจัง คือใช้กำลังอาวุธในการปกครองประเทศ

นอกจากนี้ เขายังมองว่า คณะรัฐประหาร 2490 เมื่อยึดอำนาจได้แล้ว อาจจะไม่ได้ประกาศนโยบายเป็นแนวทาง ในการปกครองอย่างจริงจัง ไม่มีแนวทาวที่แน่ชัดในการปกครองประเทศ แต่คณะราษฎรเมื่อยึดอำนาจ 2475 ได้แล้วก็ประกาศเจตนารมณ์อย่างแน่ชัดที่จะปกครองประเทศในแบบรัฐธรรมนูญ แบบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และได้ประกาศแนวทางเอกราชทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ หรือเค้าโครงเศรษฐกิจ กล่าวคือ มีแนวทางการบริหารประเทศ แต่คณะรัฐประหาร 2490 ซึ่งเป็นทหารบกทั้งหมด ไม่มีแนวทางในการพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง

สุชิน ตั้งข้อสังเกตว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ ผู้นำในการรัฐประหาร 2490 ไม่มีทหารผู้นำในคณะนี้เคยไปเรียนต่างประเทศ เพราะฉะนั้นความคิดที่ก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศ จึงไม่ได้ประกาศนโยบายอย่างจริงจัง มีเพียงการรักษาอำนาจเรื่อยๆ แต่ไม่มีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ จึงเรียกว่าเป็นผู้รักษาอำนาจไว้ เป็นกลุ่ม "อนุรักษนิยม"

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สนธิ Hkg312742.jpg


รัฐประหาร19กย49.jpg

(รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ โค่นรัฐบาลรักษาการนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร)


รัฐประหาร 2490 คือโมเดลในการยึดอำนาจของทหาร

การรัฐประหารในประเทศไทยนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองมีมากถึง 13 ครั้ง

แต่ สุชิน มองว่า คณะรัฐประหาร 2490 เมื่อยึดได้แล้วสามารถครองอำนาจ จาก ปี 2490 ถึง 14 ตุลาคม 2516 กินเวลา 26 ปี ซึ่งนับเป็นการครองอำนาจอย่างยาวนาน ทำให้บุคคลหรือคณะทหารที่จะมายึดอำนาจช่วงหลังๆ ต่างดูแบบของคณะรัฐประหาร 2490 เป็นต้นแบบของการยึดอำนาจ

"รัฐประหาร 2490 เปรียบเหมือนตัวพ่อ เป็นโมเดล รูปแบบ ในการยึดอำนาจ...คณะที่จะยึดอำนาจต่อๆมา จึงได้อาศัยรูปแบบของคณะรัฐประหาร 2490 เป็นหลักในการที่จะยึดอำนาจต่อมา...อย่างที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ หลัง 2490 เมื่อมีคณะไหน บุคคลไหน คณะไหนไม่พอใจรัฐบาลก็จะใช้กำลังในการรัฐประหาร"

สุชิน มองว่า การรัฐประหาร 2490 ส่งผลสะเทือน ทำให้แนวความคิดในการปกครองประเทศ เป็นแบบอำนาจนิยม เช่น นักการเมืองทำไม่ดี แทนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในระบบรัฐสภาตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ มีการเลือกตั้งใหม่ หรือมีการทำประชามติ เปลี่ยนแปลงโดยสันติวิธี แต่ทำให้คนนึกถึง "พระเอกขี่ม้าขาว" คณะรัฐประหาร 2490 ทำให้คนนึกถึงว่า ต้องมีคนมีอำนาจเบ็ดเสร็จ มาแก้ไขสถานการณ์บ้านเมือง มันถึงจะเรียบร้อย ไม่ใช้การเลือกตั้งเป็นวิถีทางแก้ไขสถานการณ์บ้านเมือง ซึ่งถือเป็นมรดกตกทอดของอำนาจนิยม

ผิน รัฐประหาร 2490  2269755574010_n.jpg

(พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ผู้นำคณะรัฐประหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2490 - ภาพจาก เฟซบุ๊ก ห้องวิจัยประวัติศาสตร์ )

 

ชี้ความผิดพลาดของคณะราษฎร ไว้ใจหลวงอดุลเดชจำรัสเกินไป

หากการรัฐประหาร 2490 เป็นการลบล้างอำนาจคณะราษฎร แล้วข้อผิดพลาดของคณะราษฎรอยู่ตรงไหน?

ข้อแรก สุชิน มองว่า คณะราษฎรซึ่งมอบให้หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่คาดคิดว่าจะมีการยึดอำนาจอย่างจริงจัง ได้ประมาทเกินไปว่า หลวงอดุลเดชจำรัส หนึ่งในคณะราษฎร ซึ่งขึ้นชื่อในการดุเด็ดขาด (หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 หลวงอดุลเดชจรัส ยังได้ร่วมกับนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง ก่อตั้งพรรคสหชีพขึ้น มีแนวทางสนับสนุนนายปรีดี โดยหลวงอดุลเดชจรัส เป็นหัวหน้าพรรค) จะสามารถห้ามปรามไม่ให้ทหารรุ่นหลังๆ ก่อการรัฐประหารได้ และสมาชิกคณะราษฎรอีกฝ่ายที่มีกำลังพอจะคานอำนาจทหารบกได้ ก็คือทหารเรือ แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงทหารเรือได้วางตัวเป็นกลาง ไม่ได้แสดงท่าทีว่าหนุนรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ กองทัพเรือไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ เพราะฉะนั้น กองทัพบกเมื่อรวมกันได้ จึงไม่ต้องเกรงใจฝ่ายอำนาจอื่น

ข้อสอง สุชิน กล่าวถึง ข้อสังเกตของพล.อ.เนตร เขมะโยธิน (เป็นหัวหน้าคณะนายทหาร กบฏเสนาธิการ ที่วางแผนเข้ายึดอำนาจการปกครอง เมื่อปี 2491 แต่ถูกรัฐบาลจอมพล ป. ในขณะนั้น ทราบแผนการล่วงหน้าและทำการจับกุมผู้คิดก่อการได้) ชี้ว่า นายปรีดี อิงอำนาจของทหารเรืออยู่เสมอ ไม่ได้อิงอำนาจของทหารบก

ทั้งนี้ ในหนังสือของ สุชิน กล่าวถึงข้อสังเกตของ พล.อ.เนตร เขมะโยธิน ว่า นายปรีดี ขาดการสนับสนุนจาก กองทัพ และให้ข้อคิดว่า

"ประเทศไทยนั้นไม่ว่ายุคสมัยใด ผู้ทรงอำนาจเป็นต้องกุมอำนาจทหารไว้ในมือเพราะทหารเป็นผู้ถืออาวุธ ถ้าคุมทหารไม่ได้ก็ปกครองบ้านเมืองไม่ได้"

อย่างไรก็ดี สุชิน กล่าวว่า คำพูดของ พล.อ.เนตร พูดไว้เมื่อหลายปีมาแล้ว ในปัจจุบันที่โลกมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก รวมถึงปัจจัยภายนอกประเทศ อย่างเช่น สงครามการค้า เป็นสิ่งที่ทำให้กองทัพต้องนึกถึงเวลาจะทำการรัฐประหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายประเทศอาจจะไม่ยอมรับ และไทยอาจถูกแทรกแซงได้

สุชิน รัฐประหาร 2490 699150593_9217854897959993344_n.jpg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง