บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เผยแพร่บทวิเคราะห์เรื่อง 'สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเพิ่ม...ท่ามกลางโจทย์เฉพาะหน้าในการเยียวยาครัวเรือน ฝ่าวิกฤตโควิด-19' โดยเปิดเผยว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 1/2563 แม้จะลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า และไม่ได้เร่งตัวขึ้นเหมือนหลายไตรมาสที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูง
โดยจากข้อมูลล่าสุดยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทย (ณ ไตรมาส 1/2563) อยู่ที่ 13.479 ล้านล้านบาท ซึ่งยังเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนช่วงปลายปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 13.483 ล้านล้านบาท เนื่องจากครัวเรือน-กลุ่มลูกหนี้รายย่อยยังคงมีการชำระคืนหนี้ตามปัจจัยฤดูกาล ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลทำให้หนี้คงค้างกับบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงมากตามการทรุดตัวครั้งใหญ่ของตลาดหุ้น เช่นเดียวกับสินเชื่อในกลุ่มที่ไม่มีหลักประกัน ทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ที่หดตัวลงมากตามทิศทางการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนที่เป็นไปอย่างระมัดระวัง
อย่างไรก็ดี หนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง และยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะยังคงเห็นการก่อหนี้ก้อนใหญ่ ทั้งเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและเช่าซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นตามแคมเปญที่ผู้ประกอบการผลักดันออกมาเพื่อประคองตลาด สวนทางสัญญาณอ่อนแอของกำลังซื้อภาคครัวเรือนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายๆ ส่วน
ขณะที่การก่อหนี้เพื่อใช้ประกอบธุรกิจที่ขยับสูงขึ้นก็เป็นทิศทางที่ตอกย้ำว่า ผู้ประกอบการรายเล็กๆ อาจเริ่มเผชิญปัญหาการขาดสภาพคล่องมาตั้งแต่ในช่วงไตรมาสแรกที่เศรษฐกิจชะลอตัว ก่อนหน้าที่จะมีผลกระทบจากโควิด-19 มาซ้ำเติมอีกระลอก
ประเมินหนี้ครัวเรือนไทยสิ้นปีนี้ มีโอกาสแตะร้อยละ 90 ของจีดีพี
อีกด้านหนึ่ง ก็พบว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพียังเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มสูงต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2563 เพราะเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงแรง และสถานการณ์นี้ก็เกิดขึ้นกับหลายประเทศไม่ใช่แค่ไทย โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีขยับขึ้นจากร้อยละ 79.9 ในไตรมาส 4/2562 มาที่ร้อยละ 80.1 ในไตรมาส 1/2563 ซึ่งสูงสุดในรอบ 4 ปี และน่าจะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่องอีกในไตรมาสที่เหลือของปี 2563
อย่างไรก็ตาม บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยฯ ยังคงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สถานการณ์หนี้ที่ปรับสูงขึ้น หรือทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่หลายๆ ประเทศในเอเชียกำลังเผชิญอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน (อาทิ เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ มาเลเซีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น และจีน)
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีของไทยอาจขยับสูงขึ้นไปอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 88-90 ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งนับเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 18 ปี (ข้อมูล ธปท. ย้อนหลังถึงปี 2546) เนื่องจากเศรษฐกิจที่หดตัวลงแรง
ขณะที่สัญญาณช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของสถาบันการเงิน ทั้งการลดภาระผ่อนต่อเดือนและการพักชำระหนี้ เพื่อลดภาระทางการเงินให้กับลูกหนี้ น่าจะมีผลทำให้ยอดหนี้คงค้างของครัวเรือนและลูกค้ารายย่อยไม่ปรับลดลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจ ซึ่งจากข้อมูลของธปท. ณ วันที่ 15 มิ.ย. 2563 พบว่า มีลูกหนี้รายย่อยได้รับความช่วยเหลือแล้วเป็นจำนวน 11.48 ล้านราย มูลหนี้รวม 3.8 ล้านล้านบาท
รายได้หด ความสามารถชำระคืนหนี้ลด ดันสัดส่วน NPLs ขยับสูงกว่าร้อยละ 3.23
นอกจากนี้ ในบทวิเคราะห์ดังกล่าวยังชี้ว่า จุดจับตาสำคัญจะอยู่ที่ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีต่อกระแสรายได้ และความสามารถในการชำระคืนหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกหนี้รายย่อยที่ไม่ได้มีรายได้ประจำ กลุ่มลูกหนี้บุคคลซึ่งแต่เดิมมีปัญหาฐานะทางการเงินที่ค่อนข้างเปราะบาง และกลุ่มที่ถูกปรับลดชั่วโมงการทำงาน (OT) ซึ่งย่อมจะมีผลทำให้สัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) ในพอร์ตสินเชื่อรายย่อยของระบบธนาคารพาณิชย์มีโอกาสอาจขยับสูงขึ้นกว่าระดับร้อยละ 3.23 ในไตรมาส 1/2563
ขณะที่การต่ออายุมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย และมาตรการพักหนี้ของสถาบันการเงิน จำนวนคนเข้าร่วมโครงการ และตัวแปรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง คงจะทำให้ยากที่จะประเมินตัวเลข NPLs (หนี้เสีย) ที่ชัดเจนได้ในขณะนี้ และคงทำให้ตัวเลขที่รายงานออกมา ไม่ได้สะท้อนผลกระทบต่อผลประกอบการทั้งหมดที่ธนาคารพาณิชย์กำลังเผชิญในหลายๆ ไตรมาสข้างหน้า
แนะช่วยลูกหนี้รายย่อยให้รอดพ้นวิกฤต พร้อมปรับโครงสร้างหนี้
ดังนั้นอาจต้องยอมรับว่าปัญหาเฉพาะหน้าที่เร่งด่วนในเวลานี้ของสถาบันการเงิน ทางการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะอยู่ที่การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่านมาตรการลดภาระผ่อนต่อเดือน เลื่อนการชำระหนี้ พักชำระหนี้เงินต้น/เงินต้น+ดอกเบี้ย ตลอดจนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยประคองให้ลูกหนี้สามารถก้าวข้ามภาวะวิกฤตนี้ไปก่อน ทั้งนี้หากเทียบกับสถานการณ์ในต่างประเทศจะพบว่า แนวทางช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของธปท. ที่ออกมาทั้ง 2 เฟสนั้น เป็นทิศทางที่สอดคล้องกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของทั้งสิงคโปร์และมาเลเซีย แม้ว่าระดับหนี้ครัวเรือนของทั้งสองประเทศจะไม่สูงเท่าของไทยก็ตาม
โดยมาตรการพักชำระหนี้ของสิงคโปร์พุ่งความสนใจไปที่สินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยให้ลูกค้าธนาคารพาณิชย์สามารถเลื่อนระยะเวลาการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยไปจนถึงสิ้นเดือน ธ.ค. 2563 ในขณะที่มาตรการพักชำระหนี้ของมาเลเซียเป็นการพักชำระหนี้สินเชื่อรายย่อยทุกประเภทในระบบธนาคารพาณิชย์โดยอัตโนมัติ (ยกเว้น บัตรเครดิต) ไปจนถึงสิ้นเดือน ก.ย. 2563
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้หนี้ครัวเรือนของไทยมีแนวโน้มขยับขึ้นมาอยู่ที่กรอบร้อยละ 88-90 เมื่อเทียบกับจีดีพีในปี 2563 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยจากผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบกับผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการพักชำระหนี้ ส่งผลทำให้ระดับหนี้ไม่ลดลงมากตามภาพเศรษฐกิจ
แต่โจทย์เฉพาะหน้าที่ต้องจับตาอย่างมาก มีอยู่ 2 เรื่อง คือ การเร่งผลักดันมาตรการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคลให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปก่อน และการเร่งปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยดูแลความสามารถในการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็จะส่งผลดีต่อคุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เองด้วยเช่นกัน
'กรุงศรี' คาดจีดีพีปีนี้หดตัวร้อยละ 10.3 -เสี่ยงฟื้นตัวแบบ L-Shaped
ด้านนายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผนว่า ล่าสุด 'วิจัยกรุงศรี' ได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้และมองว่าจะหดตัวร้อยละ 10.3 ซึ่งต่ำกว่าช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียในปี 2541 แต่เศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวและเติบโตที่ร้อยละ 2.9 ในปี 2564
พร้อมกับวิเคราะห์ว่า ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่พุ่งขึ้นเกิน 10 ล้านรายและยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งความเสี่ยงของการเกิดการระบาดรอบสองในหลายประเทศ อาจทำให้การบังคับใช้มาตรการห้ามเที่ยวบินระหว่างประเทศนานกว่าที่คาดไว้ และยังส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวในสัดส่วนสูง จึงเป็นหนึ่งในประเทศที่เปราะบางมากจากผลกระทบของโควิด-19
โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยในปีนี้จะลดลงถึงร้อยละ 83 แม้จะมีการเปิดประเทศด้วยการท่องเที่ยวแบบจับคู่เดินทาง (Travel Bubble Policy) แต่คาดว่า ณ กลางปี 2564 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังคงน้อยกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน (จากเดิม 3.3 ล้านคนต่อเดือน)
อีกทั้งการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและผลกระทบทางลบที่ส่งต่อไปยังภาคหลายส่วน อาจทำให้แรงงานในไทยประมาณร้อยละ 80 ได้รับผลกระทบในช่วงที่มีการระบาดหนักของโควิด-19 จากเดิมคาดไว้ที่ร้อยละ 50 และในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้คาดว่าจะยังมีแรงงานที่ได้รับผลกระทบประมาณร้อยละ 30 จากเดิมคาดไว้ที่ร้อยละ 10 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนและความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชน
"แม้ประเทศไทยจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทยอยออกมา ซึ่งคาดว่าจะหนุนให้เศรษฐกิจโตได้ราวร้อยละ 1.7 แต่นโยบายการเงินและการคลังที่ประกาศออกมาอาจจะไม่เพียงพอในการยับยั้งการถดถอยของเศรษฐกิจ และอาจไม่มากพอที่จะกระตุ้นให้การเกิดการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการลงทุนของภาคเอกชน วิจัยกรุงศรีจึงมองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในรูปแบบตัวยู (U-shaped Recovery) แต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเปลี่ยนไปเป็นการฟื้นตัวแบบตัวแอล (L-shaped Recovery) จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงและยาวนานเกินกว่าที่คาดไว้" นายสมประวิณ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :