นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร. เห็นชอบหลักการการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2563 ว่า กระทรวงคมนาคมส่งแผน ซึ่งเป็นการปรับปรุงแผนฟื้นฟู ขสมก. เดิม ที่ ครม. มีมติไว้เมื่อ 25 มิ.ย.2562 ในวันนี้ และคนร. เห็นชอบในหลักการโดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการก่อนนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้งหนึ่ง
โดยในแผนฟื้นฟู ขสมก. ฉบับปรับปรุงนี้ นายศักดิ์สยาม ได้ชี้ปัญหาของ ขสมก. ซึ่งมีทั้งหมด 5 ประเด็น ได้แก่
หนึ่ง ผลประกอบการขาดทุนสะสม มาตั้งแต่ปี 2519 หรือเฉลี่ยเดือนละ 360 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากดอกเบี้ยจ่าย 233 ล้านบาท ส่งผลให้ ขสมก. มีภาระหนี้สินและดอกเบี้ยจ่ายสูง โดยตัวเลข ณ วันที่ 31 มี.ค.2563 มีหนี้สินจำนวน 123,824 ล้านบาท มีทรัพย์สิน 3,411 ล้านบาท ขณะที่มีลูกหนี้ 2,217 ล้านบาท
สอง รถโดยสารเก่า ชำรุด ทรุดโทรม มีอายุการใช้งานมากว่า 20 ปี ซึ่งอีกประมาณ 3 ปี รถเหล่านี้จะไม่มีอะไหล่ซ่อมเพราะผู้ผลิตจะเลิกผลิตอะไหล่แล้ว
สาม องค์กรมีขนาดใหญ่ มีพนักงานจำนวนมาก เป็นที่มาให้เราต้องพิจารณาแผนบุคคลเพื่อไม่ให้เป็นปัญหากับ ขสมก.
สี่ ต้นทุนการดำเนินงานสูง ซึ่งเกิดจากสภาพรถ จำนวนรถ โครงสร้างพนักงานและเนื่องจากรถโดยสารเป็นของ ขสมก. จึงมีค่าใช้จ่ายด้านบุคคล ค่าเชื้อเพลิง ค่าเหมาซ่อม และดอกเบี้ยจ่าย
ห้า ขาดคนที่มีความรู้ความชำนาญด้านไอทีและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ไม่ทันสมัย
อีกทั้ง เมื่อดูที่หนี้ของ ขสมก. ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
1) หนี้จากการออกพันธบัตร ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2552 หลายรุ่นและจะมีกำหนดอายุการครบชำระคืนรุ่นสุดท้ายในปี 2568 ทำให้วงเงินหนี้จากการออกพันธบัตรของ ขสมก. ณ ปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ 64,339 ล้านบาท
2) หนี้กับสถาบันการเงินแบบ Term Loan คือกระทรวงการคลังกู้มาให้ในฐานะรัฐวิสาหกิจ โดยกู้มาตั้งแต่ปี 2560 และจะชำระงวดสุดท้ายคือปี 2565 หนี้ส่วนนี้ในปัจจุบันมีมูลค่า 63,446 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี รวมหนี้จากทั้งสองแหล่ง ทำให้ ขสมก.มีหนี้สิ้น ณ ปัจจุบัน ทั้งสิ้น 127,786 ล้านบาท
"ด้วยภาระหนี้ก้อนนี้ ประกอบกับผลประกอบการของ ขสมก.ตั้งแต่ปี 2520 ที่ประสบภาวะขาดทุนมาตลอด คือในปี 2520 ขาดทุน 247 ล้านบาท และขาดทุนมาเรื่อยๆ เกือบทุกปี จนล่าสุดเมื่อสิ้นปี 2562 ขาดทุน 7,602 ล้านบาท และล่าสุดคือขาดทุนสะสมสูงมากถึงกว่า 9,000 ล้านบาท " นายศักดิ์สยาม กล่าว
ภาวะดังกล่าวจึงนำมาสู่การปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. โดยกระทรวงคมนาคมเสนอใน คนร. ทำแผนฟื้นฟูมีเป้าหมาย 5 ด้าน ได้แก่
1) ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยปัจจุบันการเก็บค่าโดยสารของ ขสมก. จัดเก็บต่อเที่ยวตามระยะทาง แต่หลังจากนี้ หากแผนฟื้นฟูได้รับการอนุมัติจาก ครม. จะทำบัตรโดยสารที่เรียกว่าบัตรเติมเงินแบบตั๋ววันและตั๋วเดือน โดยตั๋ววันจะมีราคา 30 บาทต่อวัน ส่วนตั๋วเดือน กรณีเป็นนักเรียนราคา 630 บาทต่อเดือน หรือ 21 บาทต่อวัน กรณีบุคคลทั่วไปราคา 720 บาทต่อเดือน หรือ 24 บาทต่อวัน ส่วนกรณีผู้สูงอายุ ถ้าเป็นตั๋ววันลดร้อยละ 50 หรือ 15 บาท และจากการวิเคราะห์ของ ขสมก. เมื่อเปรียบเทียบการคิดค่าโดยสารแบบเก่า แบบใหม่นี้จะทำให้ค่าโดยสารลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 50
"อัตราการโดยสารแบบใหม่นี้ หากพี่น้องประชาชนต้องต่อรถ 2 เที่ยวขึ้นไป ต่ำสุดคือ 30 บาท หรือหากระยะทางไกลกว่านั้นต่อ 2 เที่ยวก็ 50 บาทแล้ว แต่ระบบใหม่จะลดค่าครองชีพของประชาชนโดยใช้แค่ตั๋ววัน 30 บาท วิ่งได้ทั้งวันจะขึ้นกี่สายกี่เที่ยวได้หมด" นายศักดิ์สยาม กล่าว
2) บรรเทาปัญหาจราจรติดขัด ซึ่ง ขสมก.ทำการศึกษาร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และสถาบันการศึกษาที่ทำวิจัยเรื่องนี้ พบว่าเกิดจากการวิ่งรถ ขสมก. ทับซ้อนกับรถร่วม ซึ่งมีหลายสายมาก เป็นที่มาของปัญหาการจราจรและปัญหาต้นทุนของ ขสมก. ดังนั้นในแผนฟื้นฟูใหม่นี้ จะทำให้ไม่เกิดความทับซ้อน โดยแบ่งเส้นทางการเดินรถโดยสารออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ Liner หรือ เส้นทางหลัก มี 40 เส้นทาง, Feeder มี 15 เส้นทาง ซึ่งทำหน้าที่รับประชาชนไปเชื่อมต่อกับขนส่งมวลชนประเภทอื่นทั้งรถไฟฟ้าและเรือ, Express คือรถที่วิ่งอยู่บนทางด่วน มี 24 เส้นทาง และ Circle มี 29 เส้นทาง ทำหน้าที่เชื่อมต่อรถโดยสารทั้ง 3 ประเภทก่อนหน้าเข้าด้วยกัน ซึ่งรวมทั้ง 4 ประเภทแล้ว ขสมก.จะมีเส้นทางเดินรถโดยสารให้บริการ 108 เส้น ส่วนของเอกชนจะปฏิรูปให้เหลือ 54 เส้นทาง รวมเป็นทั้งสิ้น 162 เส้นทาง ซึ่งลดลงจากเดิม 269 เส้นทาง และน่าจะทำให้จำนวนรถที่วิ่งทับซ้อนกันลดลง
นอกจากนี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ในวันที่ 8 มิ.ย.2563 ยังเสนอให้พิจารณาเรื่องบัสเลนในถนนที่มีศักยภาพที่มี 6 ช่องจราจรขึ้นไปและมีเกาะกลางถนนที่กว้างเพียงพอจะทำจุดจอดรถโดยสาร (Bus Stop) ซึ่งหากทำได้ จะส่งผลให้รถโดยสาร ขสมก.วิ่งได้โดยไม่ต้องไปติดรอรถประเภทอื่นๆ บนถนน
3) ลดมลภาวะและส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย โดยจะกำหนดว่าต่อจากนี้ไป รถโดยสารของ ขสมก. จะใช้รถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นรถที่ใช้ระบบไฟฟ้า (EV) หรือ รถที่เป็น NGV เท่านั้น อีกทั้งเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย รถจะต้องมีการประกอบในประเทศไทย มีสัดส่วนของมูลค่าที่ผลิตได้ภายในประเทศไทย (Local Content) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และต้องออกแบบสำหรับกลุ่มบุคคลพิเศษ (Universal Design) เพื่อให้บริการสำหรับประชาชนทุกคน รวมถึงรถ ขสมก. ทุกคันต้องติดตั้งอุปกรณ์บนหลังคารถเพื่อทำความสะอาดอากาศจากปัญหามลพิษและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)
4) แก้ปัญหาการขาดทุนของ ขสมก. อย่างยั่งยืน เนื่องจากตามแผนฟื้นฟู ขสมก. ที่ ครม.เคยมีมติอนุมัติเมื่อ 25 มิ.ย.2562 EBITDA หรือกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย, ภาษี, ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ของ ขสมก. จะเป็นบวกภายใน 3 ปี แต่แผนฟื้นฟูที่ปรับปรุงใหม่นี้จะใช้เวลา 7 ปี เนื่องจากเปลี่ยนวิธีคิดอัตราค่าโดยสารเป็นตั๋ววันกับตั๋วเดือนและวิธีการจัดหารถโดยสารที่เปลี่ยนเป็น "เช่าจ้างวิ่งตามระยะทาง" จากแผนเดิมจัดหารถด้วยการซื้อหรือเช่า แล้วรถตกเป็นทรัพย์สินของ ขสมก. ซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินงานและเหมาซ่อม ทำให้เกิดการขาดทุนสะสมได้
"เหตุที่ปฏิรูปแล้วใช้ระยะเวลามากกว่าแผนฟื้นฟูเดิม เพราะแผนเดิมเก็บค่าโดยสารแบบเก่า คือเก็บตามระยะทาง 10,15 25 บาท แต่แผนใหม่จะเก็บค่าโดยสารต่อวันคือ 30 บาทจะขึ้นกี่เที่ยวกี่สายก็ได้ ซึ่งรายได้ของ ขสมก. จะลดลง แต่ในอีกด้านหนึ่ง จากการศึกษา ขสมก.จะไม่ได้ซื้อ แต่จะใช้วิธีเช่าจ้างวิ่งตามระยะทาง โดยให้เอกชนร่วมประมูลว่าจะเสนอราคาเช่าจ้างวิ่งตามระยะทางกิโลเมตรละเท่าไร รายใดเสนอราคาต่ำที่สุด ก็จะได้เป็นผู้รับสัญญาดำเนินการ ซึ่งสัญญามีระยะเวลาทั้งสิ้น 7 ปีต่อหนึ่งวนรอบ และจะมีการเปิดประมูลใหม่ทุก 7 ปี ซึ่งจะทำให้ ขสมก. ทำ EBITDA เป็นบวกใน 7 ปี หรือไม่ขาดทุนอีกต่อไป" นายศักดิ์สยาม กล่าว
5) ไม่เป็นภาระภาครัฐ โดยจะลดอัตรากำลังคน ซึ่งปัจจุบันรถโดยสาร ขสมก. 1 คัน ใช้กำลังคน 4.65 คน แต่ตามแผนฟื้นฟูฉบับปรับปรุง รถ 1 คัน ใช้คน 2.75 คน ซึ่งวิธีการคือ ส่วนหนึ่งทำ early retirement (เกษียณก่อนเวลา) ตามแนวทางที่ ครม.เคยอนุมัติไว้เมื่อปี 2562 ซึ่งปัจจุบันพนักงาน ขสมก. มีทั้งหมด 13,963 คน ตามแผนฟื้นฟูฉบับปรับปรุงจะลดให้เหลือ 8,267 คน หรือร้อยละ 40 โดยจะให้มีพนักงานเกษียณอายุก่อนกำหนด 5,301 คน ใช้งบประมาณ 4,560 ล้านบาท และจะจ้างพนักงานขับรถรวมถึงพนักงานสำนักงานเป็นแบบเอาต์ซอร์ส แทนพนักงานประจำที่เกษียณอายุในแต่ละปี
"งบประมาณส่วนนี้จะขอให้รัฐบาลสนับสนุนเงินที่เรียกว่า PSO โดยตามแผนฟื้นฟูฉบับปรับปรุงจะทำให้หลังปี 2603 ขสมก.จะไม่มีพนักงานขับรถที่เป็นพนักงาน ขสมก. เพราะจะไม่มีการบรรจุเพิ่ม" นายศักดิ์สยาม กล่าว
นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า ตามแผนฟื้นฟูฉบับปรับปรุงนี้ได้เสนอขอ PSO (Public Service Obligation) หรือเงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ จากรัฐเป็นเวลา 7 ปี (2565-2671) เป็นเงินทั้งสิ้น 9,674 ล้านบาท สำหรับรถโดยสารปรับอากาศ เพื่อนำมาจ่ายเป็นเงินเดือนผลประโยชน์พนักงาน 8,083 ล้านบาท ค่าเชื้อเพลิงและค่าซ่อมรถ NGV 498 คัน จำนวนเงิน 1,280 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค จำนวนเงิน 311 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีแผนปรับปรุงแผนพัฒนาพื้นที่เชิงธุรกิจ โดยจะนำที่ดินตรงอู่บางเขน เนื้อที่กว่า 11 ไร่ และอู่มีนบุรี เนื้อที่กว่า 10 ไร่ มาให้เอกชนร่วมพัฒนา ซึ่งตามแผนฟื้นฟูฉบับเดิมตามมติ 25 มิ.ย.2563 คาดว่าจะมีรายได้จากส่วนนี้ปีละ 40 ล้านบาท แต่เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ปัจจุบัน จึงจะให้ขสมก. ไปทำการศึกษาและส่งแผนการพัฒนาพื้นที่เชิงธุรกิจมาอีกครั้ง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีรถไฟฟ้าไปถึงหลายสายแล้วและน่าจะเพิ่มมูลค่าได้
รวมทั้งประสานกับนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส จะร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อติดตามการบริการของรถโดยสาร คำนวณจำนวนผู้โดยสารเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้ว่า รถคันดังกล่าวมีจำนวนที่นั่งเพียงพอหรือไม่ หรือจำนวนรถโดยสารที่วิ่งอยู่นั้นเพียงพอต่อการให้บริการประชาชนหรือไม่ ซึ่งตามข้อมูลที่พบคือก่อนมีโควิด-19 มีประชาชนใช้บริการรถโดยสาร ขสมก. เฉลี่ยวันละ 2 ล้านคน
"โครงการนี้จะมีรถมาเปลี่ยนให้ประชาชนได้ใช้รถที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และราคาถูกลง ให้แล้วเสร็จตลอดทุกเส้นทางภายในเดือน ก.ย.2565 และต่อไปนี้ รถ ขสมก. ที่จะมาวิ่ง จะไม่มีแบ่งเป็นรถร้อนหรือรถเย็นแล้ว เพราะจะมีแต่รถเย็นอย่างเดียว ไม่ว่าท่านจะมีความเหลื่อมล้ำใดๆ ก็ตาม ต่อจากนี้ขึ้นรถ ขสมก. จะไม่มีความเหลื่อมล้ำ รวมถึงเราได้ออกแบบสำหรับบุคคลพิเศษ คือ universal design ไว้ด้วย" นายศักดิ์สยาม กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :