ไม่พบผลการค้นหา
บทสัมภาษณ์กับ 'ตัวจริง' ที่คุ้นชินกับพัฒน์พงศ์มานับสิบปี - เรื่องราวที่มากกว่า 'เซ็กส์' แต่เป็นประวัติศาสตร์ 100 ปีในศตวรรษที่ 20 พร้อมประเด็นดั้งเดิม 'ค้าประเวณี' ผิดกฎหมาย

การย่างเข้าสู่ถนนโคมแดงชื่อเสียงระดับโลกอย่าง 'ซอยพัฒน์พงศ์' ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ให้ความรู้สึกแปลกประหลาดและแตกต่างจากจินตภาพในสมองที่มีมาตลอดหลายสิบปีกับภาพจำที่สังคมเป็นผู้ปลูกฝังให้ 'คนข้างนอก'

'ไมเคิล เมสซ์เนอร์' ชายชาวออสเตรีย แต่งกายสบายๆ ด้วยเสื้อยืดและกางเกงยีนส์รอต้อนรับเมื่อทีมวอยซ์เดินทางไปถึงในช่วงบ่ายวันธรรมดาที่ผู้คนยิ่งกว่าบางตา พร้อมสรรพข้อมูลนับทศวรรษที่เขาเตรียมมาถ่ายทอดให้เราเข้าใจว่า 'พัฒน์พงศ์' ที่แท้จริงเป็นอย่างไร 

พัฒน์พงศ์
  • 'ไมเคิล เมสซ์เนอร์' เจ้าของธุรกิจและพิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์

"ธุรกิจแบบเราไม่มีอยู่จริง"

ณ วันที่พิพิธภัณฑ์ก่อร่างสร้างตัว ภาพแสดงกำลังถูกแขวนขึ้นฝาผนัง ชายต่างชาติผู้อาศัยในไทยนับสิบปีให้บังเอิญไปเจอกับสมุดโน็ตของตัวเองที่เขียนว่า 'พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์' และมันลงวันที่ในปี 2549 

เขาอธิบายว่าจุดเริ่มต้นของการใหญ่นี้ย้อนกลับไปเมื่อ 13-14 ปีที่แล้ว ก่อนทยอยสะสมชิ้นงาน สัมภาษณ์ผู้คนที่เกี่ยวข้องไปจนถึงการค้นคว้าประวัติศาสตร์จากแฟ้มข้อมูลและหนังสือพิมพ์ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (หอศิลปแห่งชาติ) พร้อมได้ฤกษ์ดีเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปลายปี 2562 แบบไม่รู้ตัวว่าในอนาคตอันใกล้สิ่งใดจะมาเยือน 

"เราใช้เวลา 14 ปีในการเตรียมพร้อม และ 4 เดือนให้หลังวันเปิดตัว โควิด-19 ก็มาถึง"

พิพิธภัณฑ์เอกชนไม่ได้เป็นธุรกิจที่มีความซับซ้อนในการดำเนินกิจการแต่อย่างใด เริ่มจากการลงทุนเพื่อสร้างงานแสดง ก่อนขายบัตรเพื่อเก็บค่าเข้าชม และเวียนแบบนี้ไปเรื่อยๆ ผิดกันกับธุรกิจบันเทิงบนถนนเส้นนี้ที่ไมเคิลใช้คำว่า "ผู้คนทำเหมือนย่านนี้ไม่มีอยู่จริง"

"เราไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐเพราะธุรกิจแบบเราไม่มีอยู่จริง มันแทบจะให้ความรู้สึกว่าธุรกิจแบบเราไม่ควรจะมีอยู่ด้วยซ้ำไป" 

พัฒน์พงศ์ - รอยเตอร์ส

เจ้าของกิจการบาร์และพิพิธภัณฑ์ชาวออสเตรียผู้นี้ระบุว่า เขารู้สึกว่าสาธารณชนไม่ได้สนใจว่าผู้ประกอบการจำนวนมากกำลังล้มตาย เพราะเอาเข้าจริงแล้วผู้คนอาจจะไม่ได้ชอบใจกับธุรกิจประเภทนี้ตั้งแต่ก่อนหน้า "อย่างน้อยที่สุด นั่นคือสิ่งที่พวกเราได้อ่านตลอดเวลาเวลาพูดถึงนโยบายจากรัฐ" 

ระหว่างการปิดตายธุรกิจชั่วคราวราว 2 เดือนที่ปราศจากความช่วยเหลือแรงงานและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบันเทิง-ขายบริการ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า นอกจากการทำให้ผู้หญิงหรือผู้ให้บริการทุกเพศเป็นอาชญากรเพียงเพราะพวกเขาเลือกมีเซ็กส์แล้วคิดเงินไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล สิ่งนี้ต่างหากยังทำให้แรงงานเหล่านี้ถูกลิดรอนสิทธิที่พึงมี 

ค้าประเวณีในไทยไม่เคยเป็นเรื่องผิดกฎหมายจวบจน 'จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์' ลงนามสนองพระบรมราชโองการใน พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 ซึ่งใช้เรื่อยมาจนมาเปลี่ยนอีกครั้งในปี 2539

แม้กฎหมายฉบับใหม่จะให้ความเป็นธรรมกับผู้ให้บริการเมื่อโดนกระทำความรุนแรงมากขึ้น แต่แรงงานยังคงถูกจัดอยู่ในสถานะ 'อาชญากร' อย่างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่ากฎหมายปราบปรามเหล่านี้ไม่เคยทำให้ 'อาชีพดั้งเดิม' นี้หมดไป  

"การค้าประเวณีต้องถูกกฎหมายได้แล้ว ถ้าเปิดตาดูดีๆ คุณจะเห็นอย่างรวดเร็วว่าสังคมไทยไม่ได้มอบโอกาสที่ 'ดีพอ' ให้กับทุกคน คนจำนวนมากจึงต้องไขว่คว้าหาโอกาสจากสิ่งที่พวกเขามี อาจหมายถึงร่ายกายของพวกเขา มันก็เท่านั้น"

พัฒน์พงศ์ - รอยเตอร์ส

"บางทีพวกเขาเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นพี่ชายเป็นน้องสาว เป็นนักร้อง เป็นจิตกร เป็นนักฝันแล้วก็มาเป็นแรงงานทางเพศด้วย พวกเขาเป็นมากกว่าแค่คนขายบริการ การต้องมีตราบาปเพราะขายบริการไม่ยุติธรรม พวกเขามีหน้าที่การงาน แล้วถ้าการขายบริการคืองานนั้น ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรต้องไปตัดสิน"

การยกเลิกโทษทางอาญาจะทำให้แรงงานทางเพศเหล่านี้เข้าถึงความปลอดภัยและสวัสดิการมากขึ้น ทั้งยังทำให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากตัวเข้าของบาร์/ผู้ใช้บริการ ไปยังพนักงานให้บริการ 

ไมเคิลเสริมว่า หากจะมองในมิติผลประโยชน์ของคนไทย ปัจจุบันเจ้าของบาร์ที่ประกอบธุรกิจเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นชาวต่างชาติ การคืนอำนาจให้พนักงานบริการเสมือนเป็นการคืนอำนาจให้คนไทยเช่นกัน 

"สิ่งที่เป็นอยู่มันไม่ใช่เรื่องที่สังคมศตวรรษที่ 21 เขาทำกันแล้ว นี่ผมไม่ได้เป็นพวกหัวสมัยใหม่ด้วยนะ ในทางวัฒนธรรมผมแทบจะเป็นอนุรักษนิยมด้วยซ้ำ"


เซ็กส์-เหล้า-ยาปลาปิ้ง 

'พัฒน์พงศ์คือเซ็กส์' กล่าวแบบนั้นไม่ผิดแต่พัฒน์พงศ์ไม่ได้มีเพียงแค่เซ็กส์และการถ่ายทอดประวัติศาสตร์เหล่านี้คือ 'แพสชัน' สำคัญที่ไมเคิลใช้ในการดำเนินงานนับทศวรรษของเขา 

พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์มีหน้าที่หลักของตัวเองในการถ่ายทอดเรื่องราว 100 ปี ในศตวรรษที่ 20 ของถนนโคมแดงสายนี้ให้ผู้มาเยี่ยมเยือน โดยตัวถนนดังกล่าวหล่อหลอมขึ้นมาในช่วงที่ไทยก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ไปพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นบริษัทสยามซีเมนต์ กรุ๊ป 

พัฒน์พงศ์

ปัจจัยทั้งสองข้างต้นมีความเชื่อมโยงกับต้นตระกูล 'พัฒน์พงศ์พาณิช' ผู้มีส่วนสำคัญในการทำให้บริษัทสยามซีเมนต์ประสบความสำเร็จจนได้รับยศให้ขึ้นเป็น 'หลวง' พร้อมด้วยชื่อใหม่อย่าง 'พัฒน์พงศ์พาณิช' จากพระบทสมเด็จพระปกเกล้าเข้าอยู่หัว รัลกาลที่ 7 

ภายหลังหลวงพัฒน์พงศ์พาณิชจึงส่งลูกของตนไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา จนกลายไปเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้พวกเขากลายเป็นกลุ่มผู้ต่อสู้เพื่อความเสรี ทั้งยังได้รับการฝึกจากกลุ่มซีไอเอ (หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ) 

เมื่อพวกเขากลับมายังประเทศไทยในปี 2488 ตระกูลพัฒน์พงศ์พาณิชเข้ามาซื้อที่ในบริเวณนี้ช่วงปี 2491 และมีเป้าหมายในการพัฒนาที่ดินให้ขึ้นมาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสมัยใหม่ 

ย่านพัฒน์พงศ์มีที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับการใช้งานตลอด 24 ชั่วโมงเป็นของตัวเอง ทั้งยังเชื่อมต่อกับการส่งโทรเลขจึงเป็นผลให้สามารถรองรับการมาตั้งอยู่ของสำนักข่าวที่มาเช่าไปจนถึงสายการบินที่ต้องใช้โทรเลขในการจองตั๋วและธนาคาร จนกลายเป็นศูนย์กลางการค้า 

ณ ที่แห่งนี้ นักบินซุ่มทำสงครามอยู่อย่างเงียบๆ บางคนบอกว่าพวกเขามีดีลมืดเช่นการการแอบซื้อขายยาเสพติด บาร์แห่งหนึ่งในพัฒน์พงศ์ช่วงยุค 80 กลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของการซื้อกัญชาของโลก ในทางตรงกันข้ามพัฒน์พงศ์ยังเป็นที่อยู่ของ 'DEA' ซึ่งเป็นหน่วยงานปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐฯ พวกเขาเหมือนเล่นสงครามในเงามืดกันไปมา  

พัฒน์พงศ์

เมื่อถัดเข้าสู่ปี 2526 นักร้องดังอย่างเดวิด โบวี มาเยือนพัฒน์พงศ์ระหว่างการทัวร์คอนเสิร์ต Serious Moonlight แล้วอยู่ดีๆ เขาก็ตัดสินใจที่จะถ่ายเอ็มวีเพลง Richochet ในย่านนี้ ภาพยนตร์เรื่อง เดอะ เดียร์ ฮันเตอร์ (The Deer Hunter) นำแสดงโดย โรเบิร์ต เดอ นีโร ถ่ายที่พัฒน์พงศ์เช่นเดียวกัน 

พัฒน์พงศ์

"เราสามารถย้อนรอยกลับไปยังสงครามเวียดนาม เรายังย้อนรอยกลับไปยังวิธีการที่ประเทศไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมป๊อปในการเป็นแหล่งท่องเที่ยว และท้ายสุดพัฒนามาเป็นย่านท่องเที่ยวเรื่องเพศ แล้วเราก็ยังได้เห็นร่องรอยเหล่านั้นอีกครั้งกับพัฒน์พงศ์ที่กำลังเปลี่ยนไปในปัจจุบันและรูปแบบที่ประเทศไทยกำลังพัฒนาไปสู่บางสิ่งบางอย่างที่ต่างไป" 

ไมเคิลปิดท้ายการสัมภาษณ์ครั้งนี้ด้วยการลุกขึ้นไปพาเราเดินชมงานแสดงทั้งหมดในหลากหลายรายละเอียด พร้อมบอกกับเราว่า ผู้ที่มาเยือนแหล่งข้อมูลแห่งนี้โดยเฉพาะคนไทยเองแทบไม่รับรู้ประวัติศาสตร์มากมายที่เกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้ 

"มันมีเรื่องให้เล่ามากมาย พวกเขาคาดหวังแค่ห้องแสดงงานที่เต็มไปด้วยเซ็กส์แล้วจบ แต่เรามีให้มากกว่านั้นเยอะ แต่ก็มีเซ็กส์ด้วยแน่นอน"

หลังสัมภาษณ์เสร็จและถึงเวลากลับ ตอนที่ออกจากพัฒน์พงศ์ความกลัวหรือภาพจำที่เคยสะสมมาดูเลือนลางลงไปโดยมีชุดความรู้ใหม่ๆ มาแทนที่