ไม่พบผลการค้นหา
ปัญหาความไม่ลงรอยในกลุ่มประเทศผู้ค้าน้ำมัน ลากราคาน้ำมันตลาดโลกร่วงร้อยละ 30 ฉุดตลาดหุ้นไทยตกวันเดียว 108.63 จุด ดัชนีหล่นมาอยู่ที่ 1,255.94 จุด นักเศรษฐศาสตร์ 2 แบงก์วิเคราะห์ปัญหานี้ลึก-ฉุดเศรษฐกิจไทยปีนี้หืดจับ ทั้งที่ยังไม่ฟื้นจากโควิด

ตลาดหุ้นไทยร่วงลงแรงทำสถิติอีกครั้ง วันนี้ (9 มี.ค.2563) เพียงวันเดียว ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตกรูดลงถึง 108.63 จุด ลงมาอยู่ที่ระดับ 1,255.94 จุด หรือลดลงร้อยละ 7.96 มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 103,624 ล้านบาท

อีกทั้งในระหว่างวันดัชนีลดลงต่ำสุดถึง 115.26 จุด เนื่องจากปัจจัยสถานการณ์สงครามราคาน้ำมัน หลังจากประเทศผู้ค้าน้ำมัน หรือ โอเปก ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการลดปริมาณการผลิตน้ำมันได้ สถานการณ์เช่นนี้กำลังบ่งชี้อะไรถึงทิศทางเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย และน่ากังวลใจขนาดไหน 'วอยซ์ออนไลน์' ชวนฟังความเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์ 2 คน จาก 2 ธนาคาร

ราคาน้ำมันตก กระทบเงินเฟ้อปีนี้ติดลบ หวั่นไทยเข้าสู่ภาวะ 'เงินฝืด'

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) กล่าวว่า สถานการณ์ล่าสุดที่กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันทำสงครามราคากัน โดยต่างฝ่ายต่างจะไม่ยอมลดกำลังการผลิต และกำลังจะแข่งขันลดราคาน้ำมันลงมานั้น ทำให้ระดับราคาน้ำมันในเวลานี้ ตกลงมาอยู่ที่ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ / บาร์เรล ทั้งที่ระดับราคาน้ำมันที่ดีต่อเศรษฐกิจโลกควรจะอยู่ที่ 50-70 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ลดลงต่ำลงมาเช่นนี้ยิ่งจะทำให้ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันมีแนวโน้มเศรษฐกิจไม่ดี และวันนี้ก็เห็นว่า ค่าเงินของประเทศส่งออกน้ำมันลดลงถ้วนหน้า ทั้งแคนาดา เม็กซิโก รวมถึงมาเลเซียด้วย ส่วนประเทศผู้นำเข้าน้ำมันมากๆ อย่างประเทศไทย ราคาน้ำมันลดลง ก็ไม่ได้ทำให้คนใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นหรือเดินทางมากขึ้นได้ในตอนนี้ เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้การเดินทางต่างๆ น้อยลง "จะเห็นว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงมาแรงๆ อย่างนี้ นอกจากสะท้อนความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกแล้ว ยังนำไปสู่ผลกระทบต่อความมั่งคั่งของโลก ซึ่งก็เห็นว่าวันนี้ (9 มี.ค.) ราคาหุ้นตกทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่ตกแรงมากด้วย เหล่านี้สะท้อนเรื่องความมั่งคั่งของคนที่ลดลง และกระทบต่อความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายที่ลดลงด้วย" นายยรรยง กล่าว นอกจากนี้ สำหรับประเทศไทย ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง ยังต้องมีผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ อ้อย น้ำตาล ยางพารา ซึ่งราคาล้อไปกับราคาน้ำมัน คือเมื่อราคาน้ำมันลดลง ราคาสินค้าเกษตรเหล่านี้ก็จะลดลงไปด้วย

ภาคธุรกิจหารือฝ่าวิกฤตโควิด
  • ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์

อีกประเด็นที่ต้องกังวลคือ เมื่อราคาน้ำมันลดลงมากขนาดนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยปีนี้ ก็มีโอกาสลดลงไปอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 0 ซึ่งในภาวะเงินเฟ้อติดลบ การใช้จ่ายชะลอตัวชัดเจนจากไวรัสโควิด-19 และจากการศึกษาของ SCB - EIC ก็พบว่า ในตะกร้าราคาสินค้ามีสินค้าหลายรายการราคาลดลง ปัจจัยเหล่านี้ เข้าองค์ประกอบ 'ภาวะเงินฝืด' ได้ ซึ่งส่งผลกระทบให้ภาคธุรกิจชะลอการลงทุน ภาคครัวเรือนชะลอการใช้จ่าย กลายเป็นวัฎจักรที่ไม่ดี กดดันให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงได้อีก

"ภาวะเช่นนี้ จึงทำให้คาดว่า กนง. น่าจะลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มได้อีก แม้จะไม่ได้กระตุ้นความต้องการซื้อใหม่ได้ แต่ก็สามารถช่วยให้ภาวะการเงินผ่อนคลายขึ้น ช่วยการปรับโครงสร้างหนี้ของเอกชนและประชาชน รวมถึงต้องมีมาตรการภาคการคลังออกมากระตุ้นการใช้จ่ายต่างๆ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของภาคเอกชน" นายยรรยง กล่าว

วิกฤตราคาน้ำมันลดฮวบ กระทืบซ้ำเศรษฐกิจไทย

ด้านนายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ราคาน้ำมันร่วงลง​ร้อยละ 30 จากการที่ซาอุดีอาระเบียยกเลิกข้อตกลงการคุมกำลังการผลิตน้ำมันกับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และรัสเซีย​ โดยจะขยายกำลังการผลิตเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด​ (Market share) ซึ่งซาอุฯ​ เตรียมเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมไปถึงลดราคาน้ำมันดิบลงหลังจากที่การเจรจาของกลุ่มโอเปก ประสบความล้มเหลวในการขยายข้อตกลงกับรัสเซีย 

ส่งผลให้สำนักวิจัยฯ มองว่า

หนึ่ง: ซาอุดีฯ ไม่อยากเห็นสหรัฐฯ​ เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่​ ตามมาด้วยรัสเซีย​ ขณะที่ตัวเองเป็นเบอร์สาม​ เลยไม่สนราคาที่ลงเพราะต้นทุนต่ำกว่าพวก​ เรียกว่าลดราคาได้เต็มที่แย่งฐานลูกค้ามาก่อน​ (ปัจจุบันซาอุดีฯ จำกัดการผลิตไม่เกิน 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน) 

สอง: สหรัฐฯ ​ได้รับผลกระทบแน่​ เพราะเป็นผู้ผลิต​ เมื่อราคาลงต่ำกว่าต้นทุน​ บริษัทน้ำมันจะขาดทุน​ ปิดกิจการ​ เลิกจ้าง​ รอดูว่าผลลบจะแรงเหมือนช่วงที่ซาอุฯ ทำตอนปลายปี​ 2515-2516​ หรือไม่​ แต่เศรษฐกิจที่ชะลอ​ เฟดอาจลดดอกเบี้ยในการประชุมรอบวันที่​ 17-18 มี.ค. นี้อีกร้อยละ 0.5

สาม: เศรษฐกิจโลกผันผวนต่อเนื่อง​หลังไวรัสโควิดกดดันภาพรวม​ ซึ่งนอกจากอุปสงค์จะลดลงจนกระทบการส่งออกแล้ว​ สินค้าส่งออกของไทยยังมีกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน​ เช่น​ เคมี​ ปิโตรเลียม​ ยาง​ และสินค้าเกษตรต่างๆ​ ซึ่งจะมีผลให้การส่งออกปีนี้ติดลบหนักได้​ ขณะที่การนำเข้าจะกลับติดลบหนักกว่าการส่งออก​ เพราะไทยเป็นผู้นำเข้าสุทธิน้ำมัน​ มากกว่าร้อยละ​ 10 ของการนำเข้า​ ซึ่งเมื่อราคาน้ำมันลง​ การนำเข้าโดยรวมก็จะลดลงด้วย​ อีกทั้งเอกชนจะชะลอการลงทุน​ มีผลให้การนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบหดตัวตาม​ โดยสรุป​ การส่งออกสุทธิ ​(ส่งออกหักนำเข้า)​ จะเติบโตได้​ ทำให้จีดีพี​ไทยไม่ทรุดแรง

สี่ : กลุ่มอุตสาหกรรมที่เสี่ยง​จากราคาน้ำมันที่ลดลง ได้แก่​ กลุ่มสำรวจน้ำมัน​ กลุ่มเคมีปิโตรเลียม​ กลุ่มยาง​ ข้าว​ สินค้าเกษตร​ ปั๊มน้ำมัน​ และกลุ่มอื่นๆ ที่อาจขาดทุนสต๊อกน้ำมันและราคาสินค้าหรือรายได้เคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน

ห้า : กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลง ได้แก่​ กลุ่มที่ได้กำไรจากต้นทุนที่ต่ำลง​ เช่น ขนส่ง​ สายการบิน​ การบริโภคกลุ่มท่องเที่ยว​ แต่น่าเสียดายที่กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิดเสียก่อน​ จนอาจไม่สามารถชดเชยได้

อมรเทพ จาวะลา ซีไอเอ็มบี
  • อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

ด้วยเหตุนี้ นักเศรษฐศาสตร์อาจต้องออกมาปรับประมาณการเศรษฐกิจ​กันอีกรอบ​ และจีดีพีไทยมีโอกาสโตได้ต่ำกว่าร้อยละ​ 0.5 ในช่วงครึ่งปีแรก​ จากไวรัสโควิด-19​ แต่เมื่อราคาน้ำมันลงหนักเช่นนี้​ เศรษฐกิจไทยอาจดูแย่ลง​ ซบเซาลง​ สินเชื่อโตช้าลง​ แต่จะเกิดการเติบโตทางเทคนิค​ (technical growth) จากการส่งออกสุทธิที่เติบโตหลังการนำเข้าหดตัวแรงกว่าการส่งออกที่ทรุด​ ซึ่งน่าจะพอพยุงจีดีพี ให้ขยายตัวได้บ้าง​ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเงินเฟ้อต่ำ​ กำลังซื้อหดหาย​ ก็มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ยได้ในรอบการประชุมวันที่​ 25 มี.ค.นี้​ สู่ระดับ​ร้อยละ 0.75 ต่อปี​ ด้านค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าเพียงระยะสั้นจากความกังวลของนักลงทุนต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ​ แต่ไม่นานจะพลิกมาแข็งค่าเทียบสกุลอื่น รวมทั้งดอลลาร์สหรัฐฯ จากการนำเข้าที่หดตัวแรง​ มีโอกาสเห็นเงินบาทลงต่ำกว่าระดับ​ 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือนนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :