แฟลชม็อบของนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยแทบทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศลามไปจนถึงโรงเรียนมัธยมหลายแห่ง กลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกพูดถึงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถูกมองเป็นการจุดความหวังให้สังคมอีกครั้ง เมื่อได้เห็นพลังของคนรุ่นใหม่ออกมาเปล่งเสียงเรียกร้องความเป็นธรรม และสะท้อนภาพอนาคตของประเทศที่พวกเขาปรารถนา
หากถอยออกมามองในภาพใหญ่อาจมองได้ว่าการออกมาเคลื่อนไหวของนักศึกษาไทยครั้งนี้นับเป็นส่วนหนึ่งคลื่นการประท้วงที่เราได้เห็นเกิดขึ้นหลายประเทศทั่วโลกซึ่งปะทุขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้วไม่ว่าจะเป็นในฮ่องกง อินเดีย ชิลี โบลิเวีย สเปน รัสเซีย แอลจีเรีย ซูดาน อิรัก อิหร่าน และเลบานอน เมื่อประชาชนโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาแสดงความไม่พอใจต่อปัญหาเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ ระบบการเมืองและการใช้อำนาจของชนชั้นนำ
แม้แต่ละประเทศจะมีชนวนเหตุและความซับซ้อนของปัญหาภายในแตกต่างกันไป หากสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือคลื่นการประท้วงที่เกิดขึ้นในหลายที่มีลักษณะร่วมกันบางอย่าง นั่นคือม็อบสามารถจุดติดและเดินหน้าได้แม้ไร้ผู้นำ
เทคโนโลยีเปลี่ยน การประท้วงเปลี่ยน
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีถูกมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวทางสังคมที่ไร้ผู้นำ เมื่อพลเมืองโลกกว่า 4,000 ล้านคน สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook มีผู้ใช้งานเกือบ 2,500 ล้านบัญชี ขณะที่ Twitter มีผู้ใช้งานราวๆ 330 ล้านบัญชี ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนอย่างรวดเร็วบนแพลตฟอร์มเหล่านี้ ไม่แปลกถ้าคนทั่วโลกจะมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น โซเชียลมีเดียถูกใช้เป็นเครื่องมือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ไปจนถึงการระดมคน ประสานงานการประท้วงในโลกออฟไลน์ และยังทำให้ความเคลื่อนไหวในที่หนึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจของอีกที่
ฮ่องกงเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนว่า “ม็อบไร้ผู้นำ” เกิดขึ้นได้และสร้างแรงกระเพื่อมมหาศาล โดยการประท้วงในฮ่องกงเริ่มขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2562 จากการต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ แม้ผู้บริหารสูงสุดของเกาะฮ่องกงจะยอมถอนร่างกฎหมายนี้ออกจากสภาเมื่อเดือนกันยายน ปี2562 แต่ก็ดูจะสายไปเมื่อข้อเรียกร้องของการชุมนุมประท้วงได้ขยายไปเป็นการเรียกร้องสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป (Universal Suffrage) และสอบสวนการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ซึ่งการเคลื่อนไหวของม็อบฮ่องกงมีการใช้แอพแชทที่มีความปลอดภัยสูงเช่น Telegram เป็นเครื่องมือในการอัพเดทความเคลื่อนไหวการประท้วงและเตือนภัยผู้ชุมนุม ทั้งยังมีกรุ๊ปของทนายและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์คอยให้คำแนะนำผู้ประท้วงในแนวหน้า รวมถึงให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมที่อยู่ในแชทโหวตตัดสินใจแบบเรียลไทม์ว่าจะเคลื่อนไหวขั้นต่อไปอย่างไร
นอกจากฮ่องกง ลักษณะของการประท้วงที่ไร้ผู้นำยังเกิดขึ้นในเลบานอนที่การประท้วงเริ่มขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว หลังรัฐบาลมีแผนเก็บภาษีการใช้ WhatsApp ก่อนขยายไปเป็นการเรียกร้องปฏิรูประบบการเมืองและมีรัฐบาลที่ไม่ข้องเกี่ยวกับศาสนา ไปจนถึงในชิลีที่ความไม่พอใจจากการขึ้นค่ารถโดยสารสาธารณะทำให้คนออกมาประท้วงบนท้องถนน หรือในอิรักที่คนออกมาประท้วงความล้มเหลวของรัฐบาลจัดหาบริการพื้นฐาน สร้างงาน และแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ซึ่งม็อบที่เกิดขึ้นในที่เหล่านี้ล้วนจุดติดผ่านโซเชียลมีเดียทั้งสิ้น
ม็อบไร้ผู้นำกับจุดเสี่ยงที่ต้องระวัง
บทความจากเว็บไซต์ The Atlantic เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2562 รายงานความเห็นของคาร์เน รอสส์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “The Leaderless Revolution: How Ordinary People Will Take Power and Change Politics in the 21st Century” ที่บอกว่าแม้โซเชียลมีเดียจะทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวที่เราเห็นในช่วงปี 2562 ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบจัดตั้งหรือมีผู้นำที่ออกคำสั่งแบบ top-down ดังเช่นอดีต และธรรมชาติของการประท้วงแบบไร้ผู้นำมีข้อดีตรงที่ทำให้เป็นเรื่องยากต่อรัฐบาลในการพุ่งเป้าไปที่ผู้นำม็อบ จับกุม ปราบปราม สังหารหรือใส่ร้ายป้ายสี ซึ่งทำให้ยากที่จะปราบปรามหรือกดดันผู้ประท้วง แต่การไร้ผู้นำก็ใช่ว่าจะไม่มีจุดอ่อน เพราะแน่นอนว่าย่อมมีความเสี่ยงที่จะมีคนส่วนน้อยใช้ยุทธวิธีซึ่งไม่ได้รับการรับรองจากผู้ประท้วงส่วนใหญ่ และไม่ว่าจะมีผู้นำหรือไม่ผู้ปกครองก็มักจะต้องการควบคุมการประท้วงอยู่แล้ว แต่ว่าการที่ผู้ไม่มีผู้นำการประท้วงอาจยิ่งทำให้ความตึงเครียดหรือความรุนแรงทวีขึ้นได้ เมื่อผู้ประท้วงไม่มีคนที่จัดเตรียมทิศทางว่าจะเผชิญหน้ากับผู้ปกครองอย่างไร
สอดคล้องกับบทความจากเว็บไซต์ The Financial Times ที่เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วซึ่งบอกว่า การขาดผู้นำที่ชัดเจนทำให้มีความเสี่ยงที่การประท้วงจะกลายเป็นความรุนแรงระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุม ทำให้ม็อบถอยห่างจากผู้สนับสนุนที่มีจุดยืนกลางๆ และยิ่งง่ายขึ้นสำหรับรัฐบาลที่จะอ้างเหตุผลในการปราบปราม ซึ่งนี่เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นทั้งการประท้วงของกลุ่ม “เสื้อกั๊กเหลือง” ในฝรั่งเศส การประท้วงในฮ่องกงและชิลี โดย The Financial Times ยังระบุว่าความเสี่ยงที่สุดของการปฏิวัติที่ไร้ผู้นำ คืออาจล้มเหลวได้ง่าย
โซเชียลมีเดียไม่อาจรับรองชัยชนะได้เสมอไป
ขณะที่เว็บไซต์ The Washington Post ได้เผยแพร่บทความวิเคราะห์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2562 ระบุว่า แม้โซเชียลมีเดียจะทำให้คนจำนวนมากเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลและสร้างแรงบันดาลใจให้กันและกันง่ายกว่าแต่ในอดีต เครือข่ายโซเชียลมีเดียมักทำให้คนเข้าร่วมประท้วงอย่างรวดเร็วและมีงานวิจัยที่ชี้ว่าอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียทำให้การประท้วงมีแนวโน้มเติบโตได้เร็ว แต่โซเชียลมีเดียก็ยังสามารถทำให้การเคลื่อนไหวในระยะยาวเพื่อการเปลี่ยนแปลงหยุดชะงักได้เช่นกัน
เนื่องจากโซเชียลมีเดียทำให้การรวมพลเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ปราศจากพื้นฐานของการมีปฏิสัมพันธ์หรือมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องนั้นต้องการทั้งโอกาสในการวางแผน ฝึกฝน จัดการ เตรียมการและการสรุปยุทธศาสตร์ นอกจากนี้ หลายรัฐบาลยังใช้เครื่องมือทางอินเทอร์เน็ตบ่อนทำลายความเคลื่อนไหวประท้วง โดยโซเชียลมีเดียสามารถแพร่กระจายข้อมูลเท็จ เช่นเดียวกับที่เครื่องมือและแพลตฟอร์มดิจิตอลมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกสอดแนม แทรกซึม หรือการกระทำอื่นๆที่มีความเสี่ยง
สิ่งเหล่านี้จึงสะท้อนชัดว่าเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียสามารถเป็นดาบสองคม ที่อาจไม่ได้การันตีชัยชนะของการประท้วงเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเสมอไป โดยเมื่อลองสำรวจสถานการณ์ล่าสุดของการประท้วงในหลายประเทศซึ่งถูกจุดติดผ่านโซเชียลมีเดียและออกมาเคลื่อนไหวประท้วงโดยไร้ผู้นำหรือการจัดตั้ง ก็พบว่าการประท้วงในหลายเหตุการณ์ อาจไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมดตามธงที่ตั้งไว้
ฝรั่งเศส – ม็อบ “เสื้อกั๊กเหลือง” (Yellow Vest Movement) เริ่มประท้วงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 ต่อต้านการขึ้นค่าเชื้อเพลิงและนโยบายภาษีของรัฐบาลประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง การประท้วงมีขึ้นทุกวันเสาร์นับตั้งแต่นั้นมา และขยายเป็นความไม่พอใจต่อการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่จำนวนผู้เข้าร่วมประท้วงก็ลดลงต่อเนื่องจากครั้งแรกที่มีผู้ชุมนุมมากกว่า 280,000 คน โดยเมื่อเดือนเมษายนปี 2562 รัฐบาลฝรั่งเศสให้สัญญาลดภาษี เพิ่มเงินบำนาญและปฏิรูประบบราชการ แต่ในขณะที่ความกังวลที่ทำให้เกิดการประท้วงแรกเริ่มยังคงอยู่ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การตัดบริการสาธารณะและการปฏิรูประบบบำนาญของรัฐบาลที่ไม่ได้รับความนิยมก็ทำให้ผู้ประท้วงลงถนนอีกครั้งตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ฮ่องกง – ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2562 ฮ่องกงเผชิญกับการชุมนุมประท้วงนานหลายเดือนต้นเหตุจากร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังแผ่นดินใหญ่และมีรายงานการปะทะกับเจ้าหน้าที่หลายครั้ง ทางการได้ประกาศถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกไป แต่ปฏิเสธข้อเรียกร้องหลักอีก 4 ข้อของผู้ชุมนุมที่รวมถึงสิทธิการเลือกตั้งทั่วไป อ้างอยู่เหนืออำนาจควบคุม โดยการชุมนุมในฮ่องกงยังดำเนินอยู่ ล่าสุด เมื่อวันเสาร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ผู้ประท้วงเข้าร่วมการชุมนุมรำลึกครบรอบ 6 เดือน เหตุปะทะที่สถานีรถใต้ดินพรินซ์ เอ็ดเวิร์ด และมีการเผชิญหน้ากับตำรวจ สื่ออย่าง South China Morning Post และ Reuters ประเมินว่ามีผู้เข้าร่วมการชุมนุมหลักร้อยคน
ชิลี – ชนวนมาจากความไม่พอใจหลังรัฐบาลการขึ้นค่าโดยสารรถไฟใต้ดินในกรุงซานติอาโก โดยการประท้วงเริ่มขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2562 จากเมืองหลวงของประเทศขยายไปยังเมืองอื่นๆ และมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมมีทั้งการระงับแผนขึ้นค่ารถโดยสารสาธารณะ ปฏิรูประบบการศึกษา การรักษาพยาบาลและบำนาญ ไปจนถึงเรียกร้องให้ประธานาธิบดีเซบาสเตียน พิเนรา ลาออกจากตำแหน่งและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งรัฐบาลชิลีได้ตอบสนองการประท้วงด้วยการปรับคณะรัฐมนตรี และกำหนดลงประชามติทั่วประเทศในเดือนเมษายนนี้เพื่อลงความเห็นว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ แต่การประท้วงในชิลียังคงดำเนินอยู่ ผู้ประท้วงบอกว่าจะยุติก็ต่อเมื่อทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
เลบานอน – การประท้วงในเลบานอนเริ่มขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2562 หลังรัฐบาลประกาศจะเก็บภาษีแอปพลิเคชันสนทนาทางโทรศัพท์ ในขณะที่ประเทศเผชิญทั้งวิกฤตเศรษฐกิจและการคอร์รัปชั่น ขาดแคลนน้ำและไฟฟ้า จนทำให้ประชาชนลงถนนเรียกร้องให้นายซาอัด ฮาริรี นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออก ซึ่งแม้นายฮาริรียอมลาออกจากตำแหน่งและมีรัฐบาลใหม่ แต่การประท้วงยังคำดำเนินอยู่ โดยผู้ชุมนุมบอกว่ารัฐบาลใหม่ไม่สามารถตอบสนองข้อเรียกร้องต่อปัญหาที่หยั่งรากลึกได้ ซึ่งผู้ประท้วงต้องการให้ยกเครื่อง ปฏิรูประบบการเมือง ตั้งคณะรัฐมนตรีที่เป็นอิสระ ไม่ข้องเกี่ยวกับศาสนาและยุติการคอร์รัปชันของรัฐบาล