ไม่พบผลการค้นหา
เดินขึ้นเขา ดูพระอาทิตย์ตก เรียนรู้ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนเล็กคนน้อยที่ 'เขาคูหา' แลนด์มาร์คแห่งใหม่ หลังฝุ่นควัน เสียงระเบิด คราบน้ำตาของชาวบ้านจางลง

หากพิมพ์ค้นหาคำว่า 'เขาคูหา' ในระบบอินเทอร์เน็ต ภาพ และข้อมูลที่ปรากฎจำนวนมากอาจเป็นคลิปแนะนำการท่องท่อง ประกอบทัศนียภาพของภูเขา หน้าผาสูงชัน หากลองอ่านข้อมูลเบื้องต้นคงพบว่า ภูเขาลูกนี้คือ ภูเขาหินปูน ตั้งอยู่ที่ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ทัศนียภาพและความสวยงามที่เห็นอยู่เบื้องหน้านั้นคือบันทึกบาดแผล ความเจ็บปวด และการต่อสู้ของชาวบ้านคนเล็กคนน้อย ที่รวมตัวทัดทานกับอำนาจรัฐและทุน ท่ามกลางเสียงระเบิดที่ดังสนั่นสั่นไหวยาวนานกว่า 10 ปี

เขาคูหา.jpg
จุดเริ่มต้นการทำลาย 'เขาคูหา'

ข้อมูลจากงานวิจัยของ เอกชัย อิสระทะ เรื่อง "สำนึกพลเมืองกับการจัดสรรทรัพยากรท้องถิ่น กรณีศึกษา เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา" ระบุว่า

ตามสภาพโดยทั่วไป 'เขาคูหา' เป็นภูเขาลูกโดด ตั้งอยู่กลางท้องทุ่งในตำบลคูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ภูเขาแห่งนี้ถูกตีค่าเป็นทรัพยกรธรรมชาติของรัฐ และถูกใช้ประโยชน์โดยการระเบิดเพื่อนำหินปูนไปแปรรูปมาตั้งแต่ปี 2500 โดยในช่วงแรกยังเป็นการดำเนินการโดยชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ เป็นการเรียนรู้กระบวนการแปรรูปหิน ส่วนใหญ่เป็นการทำหินเพื่อใช้สอย และซื้อขายกันภายในชุมชน เช่นนำไปทำหัวเสาบ้าน ทำเป็นคอสะพาน ทำถนนภายในชุมชน

ต่อมาในปี 2515 - 2538 เริ่มมีภาคเอกชนเข้ามาทำกิจการโรงโม่หิน ระเบิดหิน และย่อยหินขาย อย่างไรก็ตามการดำเนินการในช่วงเวลานี้ ยังเป็นการใช้วิธีการเก่าอยู่ คือมีการโรยตัวลงมาจากหน้าผา และฝังระเบิดเข้าไป ซึ่งทำให้สภาพความเสียหายต่อชุมชนยังไม่มากนัก แต่ก็ถือว่าส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำในชุมชน สร้างเสียงรบกวนบ้านเรือน และโรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียง

กระบวนการระเบิดหินที่เรียกได้ว่าส่งผลกระทบหนักหนาสาหัสที่สุด จนทำให้บ้านเรือนชาวบ้านแตกร้าวจากแรงระเบิด เศษหินก้อนหินกระเด็นกระดอนใส่บ้านเรือนผู้คน ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในสภาพปกตินั้นเริ่มต้นขึ้นในปี 2538 - 2553 ซึ่งถือเป็นธุรกิจอุตสหากรรมเหมืองแร่

13 มิ.ย. 2538 คณะรัฐมนตรีมีมติ เปลี่ยนแปลงการระเบิด และการย่อยหิน โดยให้ใช้เทคโนโลยีการทำหมืองหินแบบใหม่ทำแบบขั้นบันได ใช้เครื่องจักรกลทั้งระบบ พร้อมกำหนดผู้ประกอบกอจการต้องเข้าสู่การสัมปทานกับรัฐ ต้องขอประทานบัตร ในวันที่ 16 ก.ย. 2540 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบอนุมัติให้ใช้ประโยชน์ในแหล่งหิน 20 แหล่ง ใน 13 จังหวัดทั่วประเทศ เขาคูหาเป็น 1 ใน 20 แหล่งหินที่ถูกอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหากรรมได้ โดยมีการให้สัมปทานการทำเหมืองหินกับเอกชน 2 ประทานบัตร คือ บริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด (2542-2552) และอีกประทานบัตรได้ให้แก่ มนู เลขะกุล (2543-2553) ซึ่งในรายนี้ได้มีการให้เช่าช่วงกับบริษัทแคลเซียม ไทย-อินเตอร์ จำกัด

เขาคูหา.jpgเขาคูหา.jpgเขาคูหา.jpg
ผลกระทบระเบิดหิน : บ้านพัง มลพิษ เสียสุขภาพจิต ธรรมชาติเปลี่ยน

กลางเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ได้พานักข่าวหลายสำนักลงพื้นที่เขาคูหา เพื่อเรียนรู้ประเด็นการต่อสู้ของชาวบ้านกับรัฐและกลุ่มทุน เอกชัย อิสระทะ เป็นวิทยากรพิเศษ พาบรรดานักข่าวช่างภาพเดินขึ้นยอดเขาคูหา พร้อมบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ จากประสบการณ์และความทรงจำ ผลกระทบจากการระเบิดหินเป็นหนึ่งในเรื่องราวสำคัญในวันนั้น

"ปีหนึ่งผมคิดว่าพวกเขาได้รายได้ไม่น้อยกว่า ร้อยล้าน เพราะมีช่วงหนึ่งเขาฟ้องร้องแกนนำชาวบ้าน 9 คนที่ไปต่อสู้เรื่องเหมืองหิน ทำให้พวกเขาไม่สามารถดำเนินกิจการได้ประมาณ 5 เดือน ตอนนั้นเขาฟ้องพวกเรา 64 ล้าน ผมเลยคำนวณดูว่าปีหนึ่งเขาได้ไม่ต่ำกว่าร้อยล้านแน่ๆ" เอกชัย กล่าว ระหว่างพาคณะนักข่าวเดินชมความเสียหายที่เกิดขึ้นบนเขาคูหา

ในขณะที่กลุ่มทุนได้รับผลประโยชน์มหาศาล สิ่งที่ผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับภูเขาลูกนี้ ได้รับกลับมาคือ ผลกระทบที่ไม่อาจประเมินค่าได้ บ้านเรือนจำนวนไม่น้อยกว่า 326 หลังคาเรือนซึ่งอยู่ใกล้รัศมี 200 เมตร ประสบปัญหาบ้านแตกร้าวจากแรงระเบิด บ้านเรือนจำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบจากเศษหินที่กระเด็นพุ่งใส่ หินบางก้อนมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 5 กิโลกรัม

แน่นอนนอกจากเศษหินขนาดใหญ่ สิ่งที่มาพร้อมกับการระเบิด และการทำโรงโม่หิน คือมลพิษฝุ่นละออง เอกชัย ย้ำว่าช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือช่วง ปี 2548-2552 เนื่องจากเป็นช่วงที่ใกล้หมดอยุประทานบัตรจึงทำให้บริษัทเอกชนโหมทำงานทั้งวันทั้งคืน สิ่งที่ชาวบ้านได้รับคือ ปัญหาสุขภาพ เกิดโรคทางหายใจ หืดหอบ ภูมิแพ้ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคฝุ่นปอดใยหินได้ นอกจากนี้ผลกระทบภายนอก คือการทำให้บ้านเรือนสกปรกจากฝุ่นที่มาเกาะจับตามบ้านเรือน มีการวิจัยพบว่าเศษฝุ่นจากการระเบิดหิน และดำเนินการโม่หินนั้นสามารถปลิวไปได้ไกลมากถึง 3 กิโลเมตร

เสียงก็เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทนฟังเสียงหัวเจาะอัดระเบิด เสียงระเบิด เสียงการคุ้ยหิน เสียงจากการกระแทกหิน เสียงจากการลำเลียงหิน ย่อยหินโม่หิน อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันย่อมส่งผลกระทบกับสภาพจิตใจ และสิ่งนี้กลายเป็นบาดแผลทางจิตใจที่ตกทอดมาแม้การระเบิดหินจะยุติไปแล้วก็ตาม

นอกจากนี้เขาคูหายังถือเป็นแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญต่อวิถีทำกินของคนในชุมชน เมื่อมีการระเบิดหินติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ย่อมส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไป และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรอบด้วย

หากประเมินจากสายตาตลอดช่วงเวลาที่มีการระเบิดหิน เอกชัย เห็นว่า มากกว่าหนึ่งในสามคืิอ พื้นที่ของภูเขาที่หายไป และถ้ามองอย่างละเอียดบริเวณแนวหน้าผาจะพบ จุดดำๆ เหมือนหลุ่มอยู่หลายจุด เขาบอกว่า นั่นคือฝีมือของมนุษย์ มันคือหนึ่งในกระบวนการเจาะหินเพื่อนำระเบิดเข้าไปฝั่ง

เขาคูหา.jpgเขาคูหา.jpgเขาคูหา.jpg
12 ทศวรรษการต่อสู้ ชัยชนะของคนเล็กคนน้อยมีอยู่จริง

กลางเดือน เม.ย. อีกเช่นกัน สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา, มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน, สื่อเถื่อน และชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกันจัดเสวนาโต๊ะกลม 12 ปี การต่อสู้เพื่อปกป้องเขาคูหา : ชัยชนะของพลังประชาชนที่มีอยู่จริง” ที่ห้องเรียนท้องนาเขาคูหา บริเวณเชิงเขาคูหา เพื่อถอดบทเรียนการต่อสู้ของผู้คนกับอำนาจที่ยากจะคัดง้างได้

เข้าเล่นการเมืองท้องถิ่นชูนโยบายยุติการระเบิดหิน แม้ถูกอำนาจทุนกดทับ แต่ได้สร้างความเข้มแข็งให้ประชาชน

สุวรรณ อ่อนรัตน์ เป็นอดีตรองนายกเทศบาลคูหาใต้ ปัจจุบันเป็นฝ่ายปฏิคมสมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา ได้เรื่องราวการต่อสู้ว่า ก่อนหน้านี้เขาทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ จนกระทั่งตัดสินใจเดินทางกลับมาอยู่ที่บ้านเกิดในช่วงปี 2548-2549 และพบว่าสิ่งแปลกไปหลังจากไม่ได้กลับบ้านมานานคือ การได้ยินเสียงระเบิดจนกลายเป็นเรื่องปกติ ในช่วงเวลาเดียวมีพรรคพวกมาชวนเขาเล่นการเมืองท้องถิ่น เหตุที่ทำให้เขาสนใจตบปากรับคำนั่นก็เพราะ มีจุดร่วมเดียวกันคือการทวงคืนเขาคูหาจากกลุ่มทุน แต่ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งได้ไม่นาน หัวหน้าทีมที่มาชักชวนให้เล่นการเมืองซึ่งเป็นคนชูนโยบายยุติการทำเหมืองก็ถูกลอบสังหาร

อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งครั้งนั้นทีมของพวกเขาได้รับเลือกเป็นนายกเทศบาล สุวรรณ ระบุว่า เมื่อได้เข้ามาทำงานตามที่ตั้งใจแล้ว สิ่งที่เคยรับปากกับคนตายไว้ถือเป็นสิ่งที่ต้องผลักดันให้สำเร็จ เขาได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกฯ การเข้าสู่อำนาจทางการ ทำให้เขาสามารถศึกษาค้นคว้าข้อมูลต่างๆ ได้มากกว่าชาวบ้านทั่วไป สิ่งหนึ่งที่เขาเข้าไปค้นข้อมูลดูคือ รายได้จากค่าภาคหลวงแร่ หรือพูดให้เข้าใจง่ายคือ รายได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับจากการที่บริษัทเอกชนจากเข้ามาทำกิจการเหมืองแร่หินในพื้นที่นั้น เขาพบว่าเทศบาลได้รับงินในส่วนนี้เพียงปีละประมาณ 2 แสนบาทเท่านั้น แน่นอนว่าเทียบไม่ได้กับความเดือดร้อนที่ชาวบ้านได้รับ

จากนั้นเขาได้ใช้กลไกของเทศบาลจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ต่อการประกอบกิจการเหมืองแร่ และเชื่อมประสานกับเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้เรียนรู้เรื่องสิทธิชุมชน เรียนรู้เรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ของเอกชนที่นำไปสู่การประกอบกิจการเหมืองแร่ อย่างไรก็ตามภายใต้กลไกระบบราชการนั้นไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เพราะเมื่อถึงวาระที่สภาเทศบาลจะต้องลงมติใดๆ เกี่ยวกับเหมืองแร่ เขาพบว่าสมาชิกแทบทั้งหมดให้ความเห็นชอบไปในทางที่บริษัทได้ประโยชน์

"ยังมีบางคนมาชวนผมไปกินเหล้า บอกได้เงินมา 5,000 อยากจะเลี้ยงเพื่อนฝูง ผมรับไม่ได้ก็เลยลาออกมา" สุวรรณ กล่าว

ถึงอย่างนั้นก็ตามเขาเห็นว่า กลไกที่ได้เข้าไปทำงานนั้นได้ทำให้เกิดการเชื่อมประสานกันระหว่างกลุ่มประชาชน จนสามารถรวมตัวรวมกลุ่มกันอย่างแน่นหนา และในที่สุดหลังจากบริษัทหมดอายุประทานบัตรไป ก็ไม่สามารถที่จะขออนุญาตประกอบกิจการแร่ได้อีกครั้ง แต่นี่เป็นเพียงชัยชนะขั้นแรกเท่านั้น เพราะการทำเหมืองแร่อาจจะกลับมาอีกเมื่อใดก็ได้หากยังไม่สามารถถอนพื้นที่เขาคูหาออกจากการเป็น 'แหล่งหิน' ได้

สร้างศูนย์การเรียรู้ชุมชน ปลูกฝังความเข้มแข็งของประชาชนในและนอกพื้นที่

ณัฐวรรณ อิสระทะ ผู้จัดการโรงเรียนท้องนาเขาคูหา เล่าว่าได้เดินทางกลับมาที่เขาคูหาเมื่อปี 2550 พบว่าบริษัทมีการทำงานระเบิดหิน โม่หินทั้งวันทั้งคืนเนื่องจากต้องเร่งการผลิตให้ได้มากที่สุด เพราะใกล้หมดอายุประทานบัตร จากนั้นจึงมีความคิดที่จะรวมกลุ่มต่อสู้เพื่อทวงคืนสิทธิชุมชน และได้รับความช่วยเหลือจากหลายภาคส่วน จนที่สุดก็ทำให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชน จนบริษัทไม่สามารถขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองต่อไปได้อีก

แต่ด้วยความที่เห็นว่ายังมีโอกาสที่การทำเหมืองจะกลับมาได้อีก เนื่องจาก เขาคูหา ยังไม่ถูกถอดออกจากการเป็นแหล่งหินนั้น สิ่งที่จะต้องทำต่อไปเพื่อฝากไว้ให้กับคนรุ่นถัดไปคือ การส่งต่อเรื่องราวการต่อสู้ สิ่งที่คนรุ่นพวกเขาเคยพบเจอมา จึงร่วมกันก่อตั้งสมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา และซื้อที่นาบริเวณเชิงเขาคูหา ก่อตั้งเป็นโรงเรียนท้องนาเขาคูหา โดยยังคงแปลงนาสำหรับปลูกข้าวไว้ เพื่อเป็นยุทธศาตร์การต่อสู้ หากมีการขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองอีกครั้ง ก็จำเป็นต้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ แน่นอนว่า โรงเรียนท้องนาเขาคูหา จะยังเป็นหนึ่งเสียงที่คัดค้าน

เขาคูหา.jpg
จากภูเขาที่ถูกทำลาย สู่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้

ผ่านมานานหลายปีแล้ว ปัจจุบันนี้เขาคูหายังมีรอยร่องการระเบิดหินเหลืออยู่อีกมาก ธรรมชาติเมื่อถูกทำลายแล้วยากที่จะฟื้นฟูให้คืนกลับมาได้ ชาวบ้านที่อยู่โดยรอบเขาคูหา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงร่วมกับพัฒนาให้เขาคูหากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวบ้าน

นอกจากนี้ลักษณะภูมิประเทศของเขาคูหา เป็นเขาลูกโดด และสามารถเดินทางเข้าไปได้ไม่ยาก ประกอบกับพื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ฝน ผู้ที่เดินทางไปท่องเที่ยวในช่วงเช้าจึงมีโอกาสได้ชมทะเลหมอกแบบที่กว้างไกล 360 องศา นอกจากนี้ยังสามารถชมพระอาทิตย์ขึ้น และตกได้ดีอีกหนึ่งจุด ทั้งยังเป็นจุดท่องเที่ยวที่อยู่ห่างจากตัวเมืองหาดใหญ่ไม่มาก โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น

ทั้งนี้ในวันที่ 30 ก.ย. ตั้งแต่เวลา 09.00 น.- 18.00 น. ณ ห้องเรียนท้องนาเขาคูหา จะมีการจัดกิจกรรมระดมทุนงานเลี้ยงน้ำชา หาเงินเพื่อใช้คืนเงินที่หยิบยืมมาสำหรับการใช้ซื้อที่ดินสร้างศูนย์การเรียนรู้ โดยภายในงานจะได้พบปะกับชาวบ้านที่ร่วมต่อสู้จนสามารถยุติการระเบิดหินได้ นอกจากนี้ยังสามารถช่วยเหลือการระดมทุนได้ผ่านทางโอนเงินผ่านบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขารัตภูมิชื่อบัญชี "กองทุนจัดซื้อที่ดินเพื่อการปกป้องเขาคูหา" เลขบัญชี 984-8-40677-8