'วิรไท สันติประภพ' ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศมาตรการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่ำต่อเนื่อง ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และปรับปรุงค่าธรรมเนียมให้เป็นธรรมมากขึ้น
การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ครั้งนี้ ธปท. มุ่งเป้าไปที่เอสเอ็มอีทั้งที่เป็นเอ็นพีแอลและไม่เป็นเอ็นพีแอล (กลุ่มลูกหนี้เอ็นพีแอล คือ เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ ค้างชำระหนี้เกิน 90 วัน)
'วิรไท' ชี้ว่า สำหรับกลุ่มแรก มาตรการปรับโครงสร้างหนี้จะเข้าไปป้องกันไม่ให้เอสเอ็มอีต้องเผชิญสภาวะเป็นลูกหนี้หนี้เสีย ด้วยการให้ธนาคารพาณิชย์เข้าไปช่วยลดดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้ และย้ำว่า การเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้นี้จะไม่จัดเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา หรือ TDR (Troubled Debt Restructuring) ไม่ส่งชื่อให้เครดิตบูโร
ขณะที่ เอสเอ็มอีที่มีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้แล้ว หลังมีการเข้าปรับโครงสร้างหนี้ หากผู้ประกอบการสามารถชำระหนี้ได้ต่อเนื่อง 3 เดือน หรือ 3 งวดติดต่อกัน ก็สามารถเลื่อนขั้นมาเป็นลูกหนี้ปกติได้ จากเกณฑ์เดิมที่ต้องใช้เวลาถึง 12 เดือน
ในส่วนของฝั่งสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธปท. อนุญาตให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถพิจารณาให้สินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียน (working capital) แก่ลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ โดยสามารถจัดสินเชื่อดังกล่าวไว้เป็นรายบัญชีหากพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้มีกระแสเงินสดรองรับการชำระหนี้ได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ
นอกจากนี้ ธปท. ยังผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์เข้าไปดูแลหนี้ของเอสเอ็มอีที่ขาดสภาพคล่องจนต้องนำบัตรเครดิตมาหมุนจ่ายหนี้ โดยให้เปลี่ยนยอดหนี้บัตรเครดิตเป็นเงินกู้ระยะสั้น (term loan) ที่มีอัตราดอกเบี้ยถูกลง โดยปัจจุบันดอกเบี้ยบัตรเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 18 /ปี
ขณะเดียวกัน ธปท. จะดำเนินการปรับปรุงประเด็นค่าธรรมเนียมให้เป็นธรรมมากขึ้น สำหรับประเด็น ค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนด (Prepayment Charge) โดยสั่งให้สถาบันการเงินต้องกำหนดช่วงที่จะไม่คิดค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนด และต้องคำนวณค่าปรับจากยอดเงินต้นคงเหลือ ไม่ใช่ยอดวงเงินกู้ทั้งก่อนเหมือนที่เคยเป็นมา ซึ่งมาตรการนี้จะได้ประโยชน์ทั้งกับสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อบุคคล
นอกจากนี้ ธปท. ก็จะเข้ามาควบคุมการคำนวนดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ โดยกำหนดให้ต้องมีช่วงระยะเวลาผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ย และต้องคำนวณจากค่างวดค้างชำระส่วนที่เป็นเงินต้น ไม่ใช่คำนวณจากยอดเงินต้นคงเหลือทั้งหมด ซึ่งมาตรการนี้นอกจากสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อส่วนบุคคจะได้ประโยชน์แล้ว ก็ยังรวมถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้วย
'วิรไท' ยังพูดถึงประเด็นเรื่องค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตและเอทีเอ็ม โดยในกรณียกเลิกบัตรให้สถาบันการเงินคืนส่วนต่างให้ลูกค้าทันทีโดยที่ลูกค้าไม่ต้องร้องขอ จากแต่เดิมที่สามารถไม่คืนส่วนต่างหรือคืนเมื่อมีการร้องขอ หรือในกรณีออกบัตรใหม่หรือรหัสทดแทน ให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมในกรณีที่มีต้นทุนสูงเท่านั้น
ท้ายที่สุด 'วิรไท' ย้ำว่า เอสเอ็มอียังเป็นภาคส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลกระทบปัจจัยอื่นๆ ของเศรษฐกิจเป็นทอดๆ เนื่องจากเอสเอ็มอีเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญของประเทศ การที่เอสเอ็มอีไม่มีศักยภาพในการทำธุรกิจก็จะส่งผลกระทบต่อแรงงาน และแรงงานก็จะมาสะท้อนผลกระทบกับกำลังซื้อของผู้บริโภค และสุดท้ายก็จะย้อนกลับมากระทบเศรษฐกิจประเทศโดยรวม
โดยมาตรการทั้งหมดนี้ มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค.2563-31 ธ.ค. 2564 ส่วนเรื่องค่าธรรมเนียมมีผลตลอดไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :