คอย ควง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชา ให้สัมภาษณ์กับ Khmer Times สื่อภาษาอังกฤษของกัมพูชา เมื่อ 10 มิ.ย. โดยระบุว่า ทางการกัมพูชาได้รับคำร้องจากรัฐบาลไทยให้สอบสวนข้อเท็จจริงกรณี 'วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์' นักกิจกรรมชาวไทยถูกกลุ่มชายติดอาวุธลักพาตัวไปจากกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา
เว็บไซต์ขแมร์ไทม์สรายงานเพิ่มเติมว่า สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญได้ยื่นหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา เพื่อขอคำยืนยันว่าข้อมูลเรื่องการลักพาตัว 'วันเฉลิม' ในกัมพูชาเป็นเรื่องจริงหรือไม่และถูกนำตัวไปยังที่ใด โดยจดหมายดังกล่าวลงวันที่ 5 มิ.ย. แต่กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาได้รับเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา
คอย ควง ระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศได้นำหนังสือดังกล่าวไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงมหาดไทยของกัมพูชา พร้อมทั้งระบุเพิ่มเติมว่า สำนักงานตำรวจกัมพูชารับเรื่องว่าจะดำเนินการสอบสวนคดีวันเฉลิม และจะเปิดเผยข้อเท็จจริงในภายหลัง
ส่วน 'เขียว โสเพียก' โฆษกกระทรวงมหาดไทยของกัมพูชา เปิดเผยผลสอบสวนเบื้องต้นที่เกี่ยวกับ 'วันเฉลิม' โดยระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา พบประวัติวันเฉลิมเดินทางเข้าออกประเทศกัมพูชาอยู่เป็นระยะ ก่อนจะยื่นขอวีซ่าพำนักอาศัยในกัมพูชาเมื่อปี 2558 และทางการกัมพูชาก็อนุมัติวีซ่าดังกล่าวให้
จนกระทั่งวีซ่าพำนักอาศัยในกัมพูชาของ 'วันเฉลิม' หมดอายุลงในวันที่ 31 ธ.ค.2557 กลับไม่พบประวัติว่าเขามายื่นเรื่องต่อวีซ่ากับทางการกัมพูชาแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่จึงไม่ทราบว่าวันเฉลิมไปอยู่ที่ไหน หากยังอยู่ในกัมพูชาก็แสดงว่าเป็นการอยู่เกินกำหนดวีซ่า และเป็นการพำนักอาศัยอย่างผิดกฎหมาย ทางการกัมพูชาสามารถจับกุมหรือส่งตัวกลับไทยได้
อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงมหาดไทยของกัมพูชายืนยันว่า รัฐบาลกัมพูชาไม่เคยได้รับคำร้องจากรัฐบาลไทย เพื่อขอให้จับกุม หรือส่งตัว 'วันเฉลิม' กลับประเทศ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะตรวจสอบบันทึกจากกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ พร้อมทั้งเปิดรับเบาะแสและข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้เห็นเหตุการณ์เพิ่มเติมด้วย
ขณะเดียวกัน สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลกัมพูชาปฏิเสธว่าไม่ทราบเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ 'วันเฉลิม' เป็นเหตุให้ชาวไทยจำนวนหนึ่งรวมตัวประท้วงและยื่นหนังสือถึงตัวแทนรัฐบาลกัมพูชาที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา
จากกรณีดังกล่าวทำให้โฆษกสำนักงานตำรวจกัมพูชาออกมาเผยผ่านสื่อว่า ทางการจะรับเรื่องดังกล่าวและดำเนินการสอบสวนว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นเรื่องจริงหรือไม่
นอกจากนี้ รอยเตอร์สยังรายงานประวัติของ 'วันเฉลิม' เพิ่มเติม โดยระบุว่า เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมืองชาวไทยที่ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อปี 2557
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา เคยนำเสนอข้อมูลช่วงเดือน มิ.ย. 2558 อ้างเอกสารของหน่วยงานความมั่นคงซึ่งติดตามผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 มีชื่อวันเฉลิมเป็น 1 ใน 14 ผู้ต้องหาที่หลบหนีอยู่ใน สปป.ลาว แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าวันเฉลิมได้ถูกออกหมายจับในคดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่
ส่วนปี 2561 ทางการไทยออกหมายจับกุม 'วันเฉลิม' ในฐานะผู้ต้องหาในคดีการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ สืบเนื่องเพจเฟซบุ๊กหนึ่งนำข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวของวันเฉลิมไปเผยแพร่ต่อ และมีเนื้อหาวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลทหาร ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งภายหลังสื่อหลายสำนักในไทยรายงานว่า 'วันเฉลิม' เป็นหนึ่งในผู้จัดการเพจ 'กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ' และมีผู้เกี่ยวข้องอีกหลายรายถูกดำเนินคดีจากการแชร์ข้อความในเพจดังกล่าว
จนกระทั่งวันที่ 20 ม.ค. 2563 ศาลตัดสิน 'ยกฟ้อง' คดีแชร์ข้อความจากเพจ 'กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ' โดยศาลพิจารณาเห็นว่า ข้อความดังกล่าวกระทบภาพลักษณ์ คสช. เท่านั้น ไม่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศ
ครั้งสุดท้ายที่มีผู้พบเห็น 'วันเฉลิม' คือวันที่ 4 มิ.ย.2563 ขณะเขากำลังซื้ออาหารอยู่หน้าที่พักในกรุงพนมเปญ เมืองหลวงกัมพูชา ช่วงเย็นประมาณ 17.54 น. แต่ชายกลุ่มหนึ่งพร้อมอาวุธปืนได้บังคับนำตัววันเฉลิมขึ้นรถสีดำหายไปต่อหน้าคนจำนวนไม่น้อยในที่เกิดเหตุ และผู้ที่กำลังคุยโทรศัพท์กับวันเฉลิมขณะนั้น ได้ยินเสียงเขาร้องตะโกนว่า 'หายใจไม่ออก' ก่อนที่สายจะตัดไป และไม่สามารถติดต่อได้อีก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: