ไม่พบผลการค้นหา
นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีและเครือข่ายด้านการแพทย์เรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายกเลิกกฎหมายลงโทษผู้หญิงที่ทำแท้ง โดยระบุว่า เป็นกฎที่เอาเปรียบผู้หญิง

ตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและเครือข่ายแพทย์พยาบาล และทีมสหวิชาชีพอาสา RSA ยื่นหนังสือที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายกเลิกบทบัญญัติมาตรา 301 และ 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวข้องกับการลงโทษผู้หญิงที่ไปทำแท้งและบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการยุติการตั้งครรภ์

เครือข่ายที่ร่วมกันยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญอธิบายว่า กม.เอาผิดผู้หญิงและแพทย์ที่ทำแท้ง ขัดกับรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และการมีสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของตัวเอง จึงทำให้มาตรา 301 และ 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญามีผลใช้บังคับมิได้

นอกจากนี้ 'กลุ่มทำทาง' ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมที่เกิดจากการรวมตัวของผู้หญิงที่เคยผ่านประสบการณ์การทำแท้งได้จัดให้มีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ขึ้นภายในบริเวณโถงชั้นล่างหน้าศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสื่อถึงความรู้สึกของผู้หญิงที่เคยทำแท้งจากการที่ประเทศไทยยังคงมีกฎหมายที่ทำร้ายผู้หญิง และเพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 301

กุลกานต์ จินตกานนท์ สมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มทำทางซึ่งเข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ กล่าวว่า เธอมาเป็นตัวแทนของผู้หญิงอีกหลายคนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายที่ออกมานานกว่า 60 ปีแล้ว อีกทั้งยังเป็นกฎหมายที่เอาเปรียบผู้หญิง มีบทลงโทษรุนแรงเกินไป ทำให้ให้คนที่ทำแท้งรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่ไม่ดี ทำผิดอย่างไม่น่าให้อภัย ไม่มีที่จะยืนในสังคม ทั้งที่การตัดสินใจนี้เป็นเรื่องชีวิตและเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง


"ผู้หญิงหลายคนที่มีประสบการณ์ทำแท้ง หลายคนเสียชีวิต เพราะเข้าไม่ถึงการทำแท้งที่ปลอดภัย หลายคนถูกตีตรายังถูกมองอย่างไม่มีคุณค่า ยังรู้สึกผิดอยู่ อยากให้คนมองเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กและไม่ใช่แต่ผู้หญิงเท่านั้นที่ควรรู้ แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะต้องรู้" กุลกานต์กล่าว


สถิติเกี่ยวกับการทำแท้ง

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าระหว่างปี 2553-2557 ทั่วโลกมีการทำแท้งทั้งที่ปลอดภัยและไม่ปลอดภัยเฉลี่ยปีละ 56 ล้านครั้ง โดยส่วนใหญ่แล้ว 1 ใน 4 ของการตั้งครรภ์มักจบลงด้วยการทำแท้ง เฉลี่ยแล้วการทำแท้ง 25 ล้านครั้งเป็นการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย และส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนา

ประเทศที่ยังคงมีกฎหมายที่ลงโทษผู้หญิงที่ทำแท้ง เช่น ประเทศไทย ไม่ได้ทำให้จำนวนผู้หญิงที่ทำแท้งน้อยลงแต่อย่างใด จากสถิติจำนวนผู้ป่วยแท้ง ภาวะแทรกซ้อนและตาย พ.ศ. 2548-2558 ที่ใช้สิทธิบัตรทองของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยแท้งจำนวน 313,375 คน มีผู้ป่วยด้วยภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งจำนวน 93,182 คน และมีผู้เสียชีวิตจากการทำแท้ง 203 คน

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานของเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม กล่าวว่า ตัวเลขนี้ยังเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก

ขณะที่ประเทศไทยยังไม่เคยมีการจัดเก็บข้อมูลเรื่องการบาดเจ็บและเสียชีวิตของผู้หญิงที่ท้องแล้วไปทำแท้งอย่างเป็นระบบ ข้อมูลจากการสำรวจล่าสุดของกรมอนามัย คือข้อมูลที่ย้อนกลับไปเมื่อปี 2542 ซึ่งพบว่า ประเทศไทยมีผู้หญิงที่เสียชีวิตจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย มากกว่าผู้หญิงที่เสียชีวิตจากการคลอดถึง 10 เท่า โดยอัตราตายจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย อยู่ที่ 300 คนต่อ 100,000 คน

ขณะที่อัตราตายจากการคลอดอยู่ที่ 30 คนต่อ 100,000 คน ส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษาภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้ง (เฉลี่ย 21,024 บาทต่อคน) ก็สูงกว่า ค่าใช้จ่ายในการทำแท้ง (เฉลี่ย 2,654 บาทต่อครั้ง) ถึงเกือบ 10 เท่าเช่นกัน รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ซึ่งศึกษาวิจัยในประเด็นนี้มาอย่างยาวนาน คาดว่าแต่ละปีมีผู้หญิงไทยที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมและเลือกที่จะทำแท้งด้วยช่องทางและวิธีการต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่าปีละ 200,000 คน

ต้าน กฎหมายห้ามทำแท้ง

อุปสรรคในการเข้าถึงการทำแท้งปลอดภัย

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงไทยเข้าไม่ถึงการทำแท้งอย่างปลอดภัย นอกจากการไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำแท้งอย่างปลอดภัย และสถานบริการสุขภาพของรัฐและเอกชนที่ให้บริการทำแท้งอย่างปลอดภัยโดยแพทย์แล้ว กฎหมายไทยก็ยังระบุว่า ผู้หญิงที่ทำแท้งและผู้ที่ทำแท้งให้ผู้หญิงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301-305 ด้วย

มาตรา 301 ระบุว่า “หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และมาตรา 305 ระบุว่า “ถ้าการกระทำผิดในมาตรา 301 และ 302 ( ทำให้ผู้อื่นแท้ง ) เป็นการกระทำของนายแพทย์และจำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือหญิงมีครรภ์เนื่องจากความผิดอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276, 277 และมาตรา 282 - 284 ผู้กระทำไม่มีความผิด” ซึ่งปัญหาของมาตรานี้คือ ไม่คุ้มครองบุคลากรอื่น ๆ ที่ให้บริการการทำแท้งอย่างปลอดภัยร่วมกับแพทย์

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมามีแพทย์ในเครือข่ายแพทย์พยาบาล และทีมสหวิชาชีพอาสา RSA ที่ให้บริการ ทำแท้งอย่างถูกต้องตามกฎหมาย(ตามมาตรา 305) ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 302 รวมทั้งผู้หญิงที่เข้ารับบริการ ถูกตั้งข้อหาว่ามีความผิดตามมาตรา 301 ด้วย

ขั้นตอนสู่การยกเลิกกฎหมายห้ามทำแท้ง

ในวันที่ 8 มีนาคม 2561 เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและเครือข่ายแพทย์ พยาบาล และทีมสหวิชาชีพอาสา RSA ได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาระงับการใช้กฎหมายมาตรา 301 และมาตรา 305 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ล้าหลัง ไม่เข้ากับสภาพสังคมปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาดำเนินการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่า มาตรา 301 และมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญามีข้อความอันเป็นการละเมิดสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองไว้

ในเวลาต่อมาสำนักผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีจดหมายแจ้งผลการวินิจฉัยว่า แม้กฎหมายดังกล่าวจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ แต่ไม่ถือเป็นปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หากต้องการให้ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขผู้ร้องควรยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง วันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมจึงได้ยื่นหนังสือให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้ง

ต้าน กฎหมายห้ามทำแท้ง

ที่มา : เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม