ไม่พบผลการค้นหา
ชิมช้อปใช้เฟส 3 บุคคลทั่วไปลงทะเบียนครบแล้ว 1.5 ล้านราย ส่วนผู้สูงวัยยังมีเพียง 9 หมื่นกว่าราย จากทั้งหมด 5 แสนราย สั่งสาขา 'กรุงไทย' อำนวยความสะดวกผู้สูงอายุเข้าถึงสิทธิโครงการ

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า มาตรการชิมช้อปใช้ เฟส 3 ที่เปิดให้ลงทะเบียนสำหรับประชาชนทั่วไปเมื่อวันที่ 14 – 16 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา มีผู้ลงทะเบียนครบ 1.5 ล้านรายแล้ว และเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2562 ที่เป็นการเปิดลงทะเบียนรอบพิเศษสำหรับผู้มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 90,175 ราย 

โดยผู้สูงอายุที่สนใจเข้าร่วมมาตรการยังสามารถลงทะเบียนได้ต่อเนื่องทุกวันตั้งแต่เวลา 8.00 - 18.00 น. ซึ่งกระทรวงการคลังจะประเมินความเหมาะสมในการยุติการลงทะเบียนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าผู้สูงอายุที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ครบทุกคน และสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถลงทะเบียนด้วยตนเองได้ ทางธนาคารกรุงไทยมีบริการอำนวยความสะดวกช่วยลงทะเบียน โดยสามารถติดต่อได้ที่สาขาของธนาคารกรุงไทยที่อยู่ใกล้บ้าน

สำหรับการใช้จ่ายของประชาชนตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.-17 พ.ย. 2562 (ทั้ง 3 เฟส) พบว่า เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังคาดหมายไว้ กล่าวคือ มีผู้เริ่มใช้สิทธิ์จำนวน 11,738,468 ราย มีการใช้จ่ายรวม 13,117 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่ายจาก g-Wallet ช่อง 1 จำนวน 11,569 ล้านบาท สำหรับ g-Wallet ช่อง 2 มีผู้เริ่มใช้สิทธิ์จำนวน 117,859 ราย มียอดการใช้จ่ายรวม 1,548 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละประมาณ 13,134 บาท โดยเพิ่มขึ้นวันละกว่า 100 ล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตาม มาตรการชิมช้อปใช้ เฟส 3 ได้มีการปรับปรุงเงื่อนไข การใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่อง 2 ให้สะดวกมากขึ้น โดยสามารถใช้จ่ายได้ทุกจังหวัดรวมทั้งจังหวัดตามทะเบียนบ้าน และขยายระยะเวลาสิ้นสุดมาตรการไปจนถึงวันที่ 31 ม.ค. 2563 ซึ่งรวมถึงผู้ได้รับสิทธิ์เดิมด้วย และการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่อง 2 จะได้รับเงินคืน โดยไม่ต้องรอจนถึงสิ้นสุดโครงการ กล่าวคือ ตั้งแต่เริ่มมาตรการจนถึงสิ้นเดือน พ.ย. 2562 จะได้รับเงินชดเชยในเดือนธ.ค. 2562 สำหรับการใช้จ่ายในเดือน ธ.ค. 2562 และม.ค. 2563 จะได้รับเงินชดเชยในเดือนม.ค. 2563 และก.พ. 2563 ตามลำดับ 

ทั้งนี้ ร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมมาตรการสามารถสมัครได้ที่กรมบัญชีกลางและสำนักงานคลังจังหวัดทั่วประเทศจนถึงวันที่ 15 ม.ค. 2563

สั่ง 'กรุงไทย' อำนวยความสะดวกผู้สูงวัยร่วมโครงการ หวังบรรลุเป้าหมาย 5 แสนราย

นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้มีการลงทะเบียนชิมช้อปใช้เฟส 3 สำหรับผู้สูงอายุ (60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) โดยมีการจำกัดสิทธิ์ที่ 500,000 คน ซึ่งได้เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการลงทะเบียน ทำให้ลงทะเบียนไม่สำเร็จ ดังนั้นจึงได้ประสานไปยังธนาคารกรุงไทย เพื่อให้สั่งการไปยังสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ จัดเจ้าหน้าที่ไว้คอยอำนวยความสะดวกและแนะนำขั้นตอนการลงทะเบียนแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งมั่นใจว่าหลังจากนี้ปัญหาดังกล่าวจะหมดไป   

การกันสิทธิ์ไว้ให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นอีกหนึ่งกลุ่มผู้บริโภคที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและกระจายเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานรากได้เป็นอย่างดี ข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ไทยได้เริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และกำลังเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 เม็ดเงินที่หมุนเวียนในตลาดสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุปัจจุบันน่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 900,000 ล้านบาทต่อปี ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเฉลี่ยของผู้สูงอายุราว 9,000–10,000 บาทต่อเดือน สินค้าและบริการที่รองรับกลุ่มผู้สูงวัยมีหลากหลายและเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าด้านการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ สถานบริการผู้สูงวัย ธุรกิจบริการรถเช่า ธุรกิจทัวร์ รวมถึงกลุ่ม Delivery เป็นต้น 

อีกทั้งจากพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของผู้สูงอายุคนไทยพบว่า มีการใช้จ่ายเพื่ออาหาร การออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านในโอกาสพิเศษ ใช้เงินเพื่อการผ่อนคลาย และเพื่อการท่องเที่ยวในสัดส่วนที่สูง

ทั้งนี้อยากให้ผู้สูงอายุลงทะเบียนเข้ารับสิทธิ์ในโครงการชิมช้อปใช้ เฟส 3 ครบ 500,000 คน เพื่อท่องเที่ยวร่วมกันกับบุตรหลาน ซึ่งหากผู้สูงอายุใช้เงินเพื่อการท่องเที่ยว 10,000 บาทต่อคน คาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศและกระจายลงสู่เศรษฐกิจฐานรากราว 5,000 ล้านบาท

สำหรับตัวเลขการลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย. ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. ยังเหลือสิทธิ์ จำนวน 409,825 สิทธิ์ ทั้งนี้โครงการชิมช้อปใช้ เฟส 3 จะไม่แจกเงิน 1,000 บาท ในประเป๋าที่ 1 (G-wellet 1) แต่จะเน้นให้ประชาชนใช้จ่ายเงินตัวเองผ่านกระเป๋า 2 (G-wellet 2) เพื่อรับสิทธิ์เงินคืน (Cash back) ร้อยละ 15 เมื่อใช้จ่ายเงินไม่เกิน 30,000 บาท (เงินคืนไม่เกิน 4,500 บาท) และรับสิทธิ์เงินคืน (Cash back) ร้อยละ 20 เมื่อใช้จ่ายเงินมากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท (เงินคืนไม่เกิน 4,000 บาท) รวมเงินคืนสูงสุดไม่เกิน 8,500 บาท โดยสามารถนำเงินไปใช้จ่ายได้ทุกจังหวัด รวมทั้งจังหวัดตามทะเบียนบ้าน จนถึง 31 ม.ค. 2563 พร้อมรับ 1 สิทธิ์ทุกการใช้จ่าย 1,000 บาท เพื่อลุ้นจับรางวัลทองคำทุกสัปดาห์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :